xs
xsm
sm
md
lg

จะเกิดอะไรขึ้น? เมื่อ Facebook รุกใช้เงินดิจิทัล “Libra”

เผยแพร่:


การเงินโลก-ธุรกิจกำลังจะถูกท้าทายอย่างหนัก หลังเฟซบุ๊กประกาศจะครองโลกการเงินด้วยสกุลดิจิทัล “ลิบรา” ที่ใช้ง่าย-และ คล่อง ลดต้นทุนด้านการเงิน และไม่มีค่าธรรมเนียม ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน ที่จะเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจเข้ามาอีกมหาศาล พร้อมได้ใช้กลางปีหน้า จะเกิดอะไรต่อจากนี้?

1.
เล่าลือมานาน ในที่สุดก็มาแล้ว...

นับเป็นก้าวที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในโลกสกุลดิจิทัล และ เทคโนโลยีบล็อกเชน เมื่อ เฟซบุ๊ก (Facebook) ประกาศยืนยัน เปิดตัวโครงการ “ลิบรา (Libra)” สกุลเงินดิจิทัล พร้อมใช้อย่างเป็นทางการในปีหน้า (2020)

การเลือกชื่อ Libra นั้นมีหลายเหตุผล นอกจากความหมายที่เป็นหน่วยวัดน้ำหนักโรมันที่เกี่ยวข้องกับเหรียญแล้ว ชื่อนี้ยังมาจากเครื่องหมายทางโหราศาสตร์รูปตาชั่งที่แสดงถึงความสมดุล และอีกส่วนหนึ่งมาจากคำภาษาฝรั่งเศส "libre" ซึ่งหมายถึงอิสรภาพ รวมกันเป็นเงินที่ผู้ถือจะได้รับความยุติธรรมและอิสระ ตามแนวคิดหลักของโครงการนี้

เชื่อว่าผู้ใช้ Facebook จำนวน 2 พันล้านคนทั่วโลกจะใช้สกุลเงินใหม่เพื่อซื้อสิ่งของหรือส่งเงินไปต่างประเทศเป็นประจำ

Facebook ไปเกี่ยวกับ ลิบรา ได้อย่างไร?

คำตอบคือ เฟซบุ๊กเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรชื่อสมาคมลิบรา ”Libra Association” องค์กรใหม่นี้ตั้งอยู่ในเจนีวา หน้าที่หลักคือการดูแลสกุลเงิน Libra

หมายความว่า แม้จะได้รับการสนับสนุนจากความเชี่ยวชาญของ Facebook แต่การใช้จ่ายเงินสกุลลิบราจะถูกควบคุมดูแลโดยพันธมิตรอีก 28 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีองค์กรใหญ่ด้านบริการชำระเงินเช่น “วีซ่า” (Visa) และมาสเตอร์การ์ด (Mastercard) รวมถึงบริษัทอินเทอร์เน็ตชื่อดังอย่างอีเบย์ (eBay), สปอติฟาย (Spotify) และอูเบอร์(Uber)

สมาคม Libra ต้องการเพิ่มจำนวนพันธมิตรให้ถึงระดับ 100 องค์กร ก่อนที่สกุลเงินดิจิทัล Libra จะเปิดตัว โดยในเอกสารยืนยันว่าพันธมิตรแต่ละรายจะมีอำนาจการโหวตเท่ากัน แม้ว่า Facebook อาจจะรักษาบทบาทความเป็นผู้นำในสกุลเงิน Libra

2.
ลิบรา ดีอย่างไร?
ดันเต้ ดิสพาร์เต้ (Dante Disparte) หัวหน้าฝ่ายนโยบายและการสื่อสาร สมาคม Libra Association เชื่อว่า แรงผลักดันให้เงินสกุล Libra แพร่หลายคือ การเป็นสกุลเงินและโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินระดับโลกที่ง่าย ซึ่งให้อำนาจแก่ผู้คนหลายพันล้านคน จุดหลักของโครงการคือการนำสกุลเงินดิจิทัลเวอร์ชันใช้ง่าย มาสู่สมาร์ทโฟนทั่วโลก ซึ่งจะช่วยให้ผู้คนสามารถโอนเงิน สร้างเครดิต และชำระค่าใช้จ่ายได้ง่ายแบบไม่มีค่าธรรมเนียมราคาสูง

นอกจากนี้ Libra ยังสร้างขึ้นจากเทคโนโลยีโอเพนซอร์ส ซึ่งหมายความว่าบริษัทหรือบุคคลใดก็สามารถสร้างธุรกิจที่เข้ากับกรอบการทำงานของเงิน Libra ได้เสรี ตัวอย่างเช่น ผู้บริโภคสามารถซื้อเงิน Libra โดยใช้เงินดอลลาร์แล้วเก็บไว้ในกระเป๋าเงินดิจิทัล เงิน Libra นี้สามารถถูกส่งไปยังสมาชิกในครอบครัวผ่านแอปพลิเคชันสื่อสารอย่างว็อตสแอป (WhatsApp) หรือจะใช้จ่ายบิลในต่างประเทศได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนหรือค่าเงินแข็งค่า

หลายฝ่ายมั่นใจว่าการทดลองเพื่อคิดหาการชำระเงินดิจิทัลรูปแบบใหม่นั้นจะเกิดขึ้นได้จริงและยั่งยืน บนประโยชน์ของ Blockchain ที่กระจายอำนาจให้คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในเครือข่ายมีส่วนร่วมในการบันทึกข้อมูลที่มาของเงินแบบสาธารณะ ทำให้เกิดธุรกรรมที่ปลอดภัยโดยที่ไม่มีใครมีอำนาจเหนือเงินนั้นแบบเบ็ดเสร็จ

**Libra ต่างกับ bitcoin
แม้จะเป็นสกุลเงินดิจิทัลเหมือน bitcoin และคอยน์อื่นๆ แต่ Libra มีความแตกต่างที่สำคัญคือการถูกดูแลโดยหน่วยงานกลาง และมูลค่าของมันจะผูกติดอยู่กับสินทรัพย์อื่น

เบื้องต้นนักวิเคราะห์มองว่า สกุลเงินที่มีความผันผวนต่ำสามารถสร้างความมั่นคงทางการเงินสำหรับประชาชน ขณะเดียวกันก็เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับประชาชนที่ไม่ต้องการใช้สกุลเงินที่อยู่ในภาวะเงินเฟ้อรุนแรงระดับวิกฤต ทำให้ Libra ถูกมองว่ามีอนาคตสดใส

3.
ความสะดวกและงาย ตือ จุดขายของ ลิบรา ส่งเงินเร็วเหมือนส่งข้อความ

เพื่อให้บริการส่งเงิน Libra ที่จะแจ้งเกิดในปีหน้า Facebook ใช้วิธีแจ้งเกิดแอปพลิเคชันชื่อ “คาลิบรา” (Calibra) หน้าที่หลักคือการเป็นกระเป๋าเงินดิจิทัลที่จะช่วยให้ผู้คนสามารถส่งเงิน Libra ด้วยค่าธรรมเนียมราคาต่ำมากถึงฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย โดยเควิน วีล (Kevin Weil) รองประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ Calibra กล่าวว่าบริษัทต้องการให้การส่งเงินเป็นเรื่องง่ายเหมือนกับการส่งข้อความ

Calibra จะรวมอยู่ในบริการ WhatsApp และ Messenger ของ Facebook ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายที่มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) วางแผนให้ WhatsApp และ Messenger เป็นหัวใจสำคัญของอนาคต Facebook ซึ่ง Mark ก็พยายามเปลี่ยนแปลงให้สาวกใช้เวลากับโพสต์ฟีดข่าวสาธารณะน้อยลง มาเน้นการส่งข้อความส่วนตัวมากขึ้น

ผู้บริหาร Calibra บอกว่า ขณะนี้ต้นทุนเฉลี่ยในการส่งเงินไปทั่วโลกอยู่ที่ 7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากลดต้นทุนการทำธุรกรรมลงได้ ราคาค่าใช้บริการออนไลน์ เช่น การเรียกรถผ่าน Uber ก็อาจต่ำลงด้วย

เบื้องต้น เป้าหมายใหญ่ของบริษัทคือการผลักดันให้ Libra เป็นที่ยอมรับ หากประสบความสำเร็จก็จะมีโอกาสอื่น ในการให้บริการทางการเงินแก่ผู้ที่อยู่ในแพลตฟอร์มธุรกิจของ Facebook และเพื่อให้เป็นไปอย่างคาดหวัง มีรายงานว่า ขณะนี้ Facebook เสนอให้พนักงานที่ทำงานกับโครงการ Libra รับเงินเดือนเป็นสกุลเงิน Libra แล้ว

4.
เครือข่าย พันธมิตรเชื่อไปโลด
ยักษ์ใหญ่บริการสตรีมมิ่งอย่างสปอติฟาย (Spotify) ซึ่งขานรับร่วมเป็นพันธมิตรในสมาคม Libra Association เชื่อว่าเงินดิจิทัลจะช่วยกระตุ้นฐานบริการสมาชิกได้ โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าใหม่

อเล็กซ์ นอร์สตรอม (Alex Norström) หัวหน้าเจ้าหน้าที่ธุรกิจระดับพรีเมี่ยมกล่าวในบล็อกโพสต์ของบริษัทว่าที่ผ่านมา ความท้าทายสำหรับ Spotify และผู้ใช้ทั่วโลกคือการขาดระบบการชำระเงินที่เข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่อยู่ในตลาดที่ด้อยโอกาสทางการเงิน การเข้าร่วมกับสมาคม Libra จึงเป็นโอกาสของ Spotify ที่จะเข้าถึงตลาดใหม่ซึ่งสามารถชำระเงินได้รวดเร็วทั่วโลก

5.
ไม่ใช่ “ลิบรา” จะดีไปทั้งหมด
สื่อใหญ่ไฟแนนเชียลไทม์ (Financial Times) หยิบสถิติตอกหน้าเฟซบุ๊ก (Facebook) ระบุว่าคำอ้างเรื่องเงินสกุลใหม่ "ลิบรา" (Libra) จะช่วยอุตช่องว่างในกลุ่มคนที่ไม่มีบัญชีธนาคารนั้นอาจไม่เป็นความจริง เพราะสถิติทางการชี้ว่าเหตุผลหลักของการไม่มีบัญชีในคนกลุ่มนี้คือการมีเงินไม่พอที่จะรักษาบัญชี ทางแก้ปัญหานี้จึงไม่ใช่การสร้างเงินสกุลใหม่ในอินเทอร์เน็ตอย่างที่ Libra ทำ

นอกจากนี้ Libra ยังถูกมองว่าน่ากังวลเรื่องความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากสังคมไร้เงินสด ทั้งกลุ่มเป้าหมายอย่างผู้สูงวัย-คนยากไร้-ผู้ที่ไม่มีบัญชีธนาคารที่อาจตามไม่ทันในโลกการค้ายุคใหม่ และความเสี่ยงเรื่องการถูกแทรกแซงได้ง่ายจากหลายปัจจัย

**ไม่ได้ช่วยคนไร้บัญชี
เบรนเดน กรีลี (Brendan Greeley) ผู้สื่อข่าวไฟแนนเชียลไทม์สตั้งข้อสังเกตว่าแม้เทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่จะมีประโยชน์ทั้งด้านการศึกษา ความบันเทิง ธุรกิจ และล่าสุด เจ้าพ่อบริการสื่อสารอย่าง Facebook ตั้งเป้าว่า Libra จะแก้ปัญหาประชากรโลกที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน อย่างไรก็ตาม การสำรวจของสถาบันประกันเงินฝากแห่งชาติสหรัฐฯหรือ FDIC (Federal Deposit Insurance Corporation) เมื่อปี 2017 ระบุชัดว่าเหตุผลใหญ่ที่ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่มีบัญชีธนาคาร คือการไม่มีเงินมากพอที่จะรักษาบัญชี

สถิติในสหรัฐฯชี้ว่า 34% ของผู้ไม่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารให้เหตุผลว่ามีเงินไม่พอ ขณะที่ 15.6% ระบุว่าไม่ทราบ อีก 12.6% ระบุว่าไม่ไว้วางใจธนาคาร ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า Facebook กำลังจัดการกับปัญหาแบบไม่ตรงจุด เพราะปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาที่สามารถแก้ไขได้โดยการใส่บัญชีธนาคารบนอินเทอร์เน็ต การสร้างเงินสกุลใหม่จึงอาจไม่ตอบโจทย์ปัญหานี้

ที่สำคัญ การสำรวจพบว่ากลุ่มคนที่ไม่มีบัญชีธนาคาร หรือมีบัญชีธนาคารแต่ยังใช้บริการกู้รายวันแล้วยอมเสียค่าดอกเบี้ยสูงมหาโหดนั้นเริ่มลดจำนวนลง เฉพาะในสหรัฐฯ ตัวเลขนี้เริ่มลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2011 คาดว่าแนวโน้มนี้จะเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก เป็นผลที่ตามมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงหลายปี

**สังคมปลอดเงินสดยังเสี่ยง
หาก Libra ประสบความสำเร็จ แน่นอนว่า Libra จะช่วยเร่งให้หลายประเทศกลายเป็นสังคมที่ไม่ต้องใช้เงินสดมากขึ้น แม้ว่า Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง Facebook อาจสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนี้ นักวิเคราะห์มองว่าอาจจะมีความเสี่ยงไม่น้อยกว่า 2 ส่วน

ส่วนแรกคือแม้คนยากจน ผู้สูงอายุ และผู้ที่ไม่มีบัญชีธนาคารจะถูกผลักดันเต็มที่ แต่ก็มีโอกาสที่คนกลุ่มนี้อาจไม่สามารถมีส่วนร่วมในยุคการค้าสมัยใหม่ก็ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเริ่มต้นใช้บริการออนไลน์ยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงเป็นกำแพงขวาง ทำให้ราคาของการทำธุรกรรมสกุลเงินเสมือนจริงที่อาจต่ำกว่า แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายเรื่องสมาร์ทโฟน ค่าบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งทั้งสองอย่างมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมอยู่แล้ว

ความกังวลนี้ทำให้หลายพื้นที่เมืองในสหรัฐฯอย่างฟิลาเดลเฟีย ซานฟรานซิสโก และรัฐนิวเจอร์ซีย์ ที่ผ่านกฎหมายห้ามไม่ให้มีการตั้งร้านค้าที่ไม่รับเงินสด เพื่อป้องกันความเหลื่อมล้ำที่อาจเกิดขึ้น

ส่วนที่สองคือ สังคมไร้เงินสดทำให้เศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศเสี่ยงต่อการถูกรบกวน นั่นเป็นเพราะเศรษฐกิจปลอดเงินสดขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยร่วมกันเสมอ ทั้งระบบไฟฟ้าที่ต้องเสถียร เครือข่ายการสื่อสารที่ต้องคงที่ และความปลอดภัยที่ต้องแข็งแกร่งตลอดเวลา ซึ่งหากล้มเหลวธุรกรรมดิจิทัลก็จะไม่ทำงาน

6.
ในไทยเองกำลังจับตามองปรากฎการณ์

ศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ระบุว่า
สิ่งที่จะเกิดขึ้นใหม่นี้ จะเป็น Disruptor ตัวจริงที่มีทั้ง Technology, Resources และ Money สถาบันการเงินทั่วโลกจะต้องปรับตัวให้เร็วมากยิ่งขึ้นไปอีก เพื่อจะได้ไม่ตกเทรนด์ของภาวะการแข่งขันครับ ดังนั้น ควรจับตามองให้ดี

Cryptocurrency โดยทั่วไปจะถูกสร้างขึ้นมาโดยไม่มีสินทรัพย์ อะไรมาสำรอง Backup เงินสกุลเหล่านั้นอยู่ข้างหลัง ดังนั้นที่ผ่านมาเราจะเห็นเงิน Cryptocurrency ผันผวนได้อย่างมาก ง่ายต่อการนำมาเก็งกำไร เพราะมูลค่าที่แท้จริงยังยากต่อการค้นหา

แต่คนสร้างเงินสกุล LIBRA ว่ากันว่า จะมีสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องมา อาจจะเป็นเงินสกุลต่าง ๆ Fiat Money Bank Deposits Government Securities เป็นสิ่งที่สำรอง Backup ค่าเงิน Digital นี้ให้มีความมั่นคงน่าเชื่อถือ แบบนี้ก็จะเหมือนกับสมัยก่อน ที่เงินดอลลาร์จะถูก Backup สำรองโดยมีทองคำกันเอาไว้ข้างหลังจึงทำให้ค่าเงินดอลลาร์ ได้รับความน่าเชื่อถือและเป็นที่นิยมใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน สินค้าและบริการต่าง ๆ ในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน

กล่าวโดยสรุป เฟซบุ๊กได้สร้างให้มีโครงสร้างระบบการเงินขั้นพื้นฐานที่ทุกคน ๆ ในโลกนี้สามารถเข้าถึงได้ง่ายดายทุกคนและจะเป็นระบบทางการเงินที่มีต้นทุนต่อผู้ใช้ที่ถูกที่สุด แถมยังมีความปลอดภัยสูงสุดเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง เท่าที่เทคโนโลยีวันนี้จะมีได้ เช่นใช้ Technology Blockchain มาเป็นตัวกลาง

กำลังโหลดความคิดเห็น