xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจขี้เกียจ ขุมทรัพย์ใหม่คนทำการค้า

เผยแพร่:






Lazy Economy หรือเศรษฐกิจขี้เกียจ เป็นเทรนด์เศรษฐกิจใหม่ที่ถูกขับเคลื่อนโดยความต้องการของคนในยุคใหม่ ที่ต้องการความสะดวกสบาย เพื่อมาช่วยลดภาระที่ไม่ต้องทำงานเล็กๆ น้อย จะได้มีเวลาทำงานที่สำคัญมากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ ได้เกิดขึ้นในหลายภาคส่วนของชีวิตของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคอาหาร การทำครัว อุปกรณ์ช่วยทำความสะอาด ตลอดจนอุปกรณ์ไอที ที่มีความสะดวกสบายในการใช้มากขึ้น


การเกิดเศรษฐกิจขี้เกียจ เป็นแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน และกำลังขยายวงกว้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการความรวดเร็ว ต้องการประหยัดเวลา ต้องการความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต และมองหาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ จึงทำให้เกิดใมเดลธุรกิจในรูปแบบใหม่ ที่ตอบสนองความต้องการที่เกิดขึ้น และหากมองอีกมุม ก็พบว่า "เป็นโอกาสใหม่ ในการทำธุรกิจ ที่จะสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำได้เลยทีเดียว"

ที่มาของเศรษฐกิจขี้เกียจ เริ่มเป็นที่รู้จักในปี 2561 จากการรายงานการใช้จ่ายเงินของคนรุ่นใหม่ชาวจีนที่จ่ายเงินไปกับเครื่องอำนวยความสะดวกสบายต่างๆ ของเว็บไซต์เถาเป่า แพลตฟอร์มอีเคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน โดยพบว่า ชาวจีนที่เกิดในช่วงหลังจากปี 2538 จ่ายเงินถึง 1.6 หมื่นล้านหยวนไปกับอุปกรณ์สำหรับคนขี้เกียจเพิ่มขึ้นกว่า 70% โดยอุปกรณ์ที่ถูกผลิตมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ขี้เกียจนั้น มีมากมายหลายอย่าง ตั้งแต่อาหาร เครื่องมือเครื่องใช้ อุปกรณ์ดิจิทัล ไปจนถึงอุปกรณ์ทีเพิ่มความสะดวกสบายอย่างถึงขีดสุดสำหรับคนขี้เกียจจริงๆ













จากการเกิดขึ้นของเศรษฐกิจขี้เกียจนี้ น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้มอบหมายให้ทีมนักวิชาการของ สนค. ไปทำการศึกษาวิเคราะห์ดูว่าอะไรเป็นสาเหตุของการเกิดขึ้นของเศรษฐกิจขี้เกียจ และไทยจะใช้โอกาสจากการเกิดขึ้นของเศรษฐกิจขี้เกียจนี้มาพัฒนาหรือสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับไทยได้อย่างไร

จากผลการศึกษาของ สนค. ที่ทำการศึกษาข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ของจีน พบว่า ความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคที่ขี้เกียจ ทำให้สินค้าและบริการในจีนต้องปรับตัวเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น เพราะหากธุรกิจสามารถวิเคราะห์ผู้บริโภคได้ และผลิตสินค้าและบริการได้ตรงตามความต้องการ จะทำให้ธุรกิจมีผลการดำเนินการที่ดีขึ้นในยุคของเศรษฐกิจขี้เกียจ ที่กำลังจะเป็นขุมทรัพย์แหล่งใหม่ที่กำลังเติบโต

ทั้งนี้ หากมองในด้านธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหาร พบว่า มีผู้บริโภคที่ขี้เกียจทำอาหารอยู่ 2 ประเภทหลัก คือ ผู้ที่ต้องการประหยัดเวลาทำอาหารที่ต้องใช้พลังงานและเวลามากๆ รับประทานเอง เนื่องจากให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพของอาหาร รสชาติที่สดใหม่ และมีประโยชน์ต่อร่างกาย และผู้บริโภคที่ไม่มีเวลาทำอาหารและต้องการความสะดวกสบายในการเข้าถึงอาหารที่อร่อย มีคุณภาพ และคุณค่าทางอาหารครบถ้วน

โดยผู้บริโภคสองกลุ่มหลักนี้ ทำให้ธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องครัว ต้องผลิตสินค้า เพื่อตอบสนองต่อความต้องการเหล่านี้ของผู้บริโภคอย่างตรงจุด ในราคาที่รับได้ ส่วนภาคธุรกิจอาหาร จำเป็นต้องพัฒนาช่องทางการสั่งและส่งอาหารให้ทันสมัย รวมทั้งการทำให้ผู้บริโภคที่ต้องทำงานนอกบ้านนั้นสามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างสะดวกสบายในแบบที่พวกเขาต้องการ

ยกตัวอย่างเช่น อาหารพร้อมส่ง (Food Delivery) จากการเติบโตอย่างรวดเร็วของการค้าขายแบบอีคอมเมิร์ซ ทำให้บริการส่งอาหารเฟื่องฟูขึ้นมาด้วยเช่นกัน เนื่องจากผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย แต่ผู้บริโภคยังคงต้องการรับประทานอาหารที่มีคุณภาพและรสชาติดี ทำให้ผู้ให้บริการส่งอาหารเริ่มให้ผู้บริโภคสามารถเลือกเมนูอาหารสดใหม่ได้ อีกทั้งยังสามารถเลือกรสชาติที่ถูกปากได้ และอาหารพร้อมทาน (Ready to eat meal) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้บริโภคเลือกซื้อเมื่อพวกเขาไปทำงาน เพื่อความสะดวกสบายและประหยัดเวลาในการหาอาหารมารับประทานหรือต้องออกไปข้างนอก โดยเฉพาะในหน้าหนาว อาหารพร้อมทานเหล่านี้ เป็นอาหารสำเร็จรูปที่เพียงแค่เติมน้ำร้อน เช่น บะหมี่ถ้วย หรือนำเข้าไมโครเวฟ เช่น อาหารกล่องชนิดต่างๆ ก็สามารถรับประทานได้ทันที หรืออาหารที่สามารถอุ่นร้อนด้วยตัวเอง


อย่างไรก็ตาม นอกจากในธุรกิจอาหารแล้ว ภาคธุรกิจเครื่องดื่ม ได้มีการปรับตัวเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในยุคเศรษฐกิจขี้เกียจเช่นเดียวกัน เช่น เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ที่ยกระดับรสชาติและคุณภาพของสินค้าให้ดีขึ้น ใช้วัตถุดิบที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย หรือการใช้บรรจุภัณฑ์ให้เหมือนกับเครื่องดื่มทำสด เช่น การใช้แก้วกระดาษแทนพลาสติก เพื่อบรรจุชา กาแฟ หรือนมสด เพื่อให้ความรู้สึกเหมือนได้ดื่มแบบสดๆ จากร้านขายเครื่องดื่ม หรือการเพิ่มส่วนประกอบเพื่อให้เครื่องดื่มมีรสชาติและรสสัมผัสที่ดีขึ้น เช่น การเติมพุดดิ้ง ลงในชานมทำให้เหมือนกินชานมจากร้านดังที่กำลังนิยมอยู่ หรือการผสมเครื่องดื่มยอดฮิตอย่าง ชา เข้ากับสมุนไพร เพื่อให้ถูกใจกลุ่มคนที่รักสุขภาพ


นอกจากนี้ ยังพบว่า เครื่องขายเครื่องดื่มอัตโนมัติ ก็มีการปรับตัว เพราะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้ผู้บริโภคที่ต้องออกไปทำธุระนอกบ้าน สามารถหาเครื่องดื่มรับประทานได้ง่ายและสะดวกขึ้น และยังมีการปรับตัวในหลายๆ ด้าน เช่น การพัฒนาเครื่องขายเครื่องดื่มอัจริยะ ที่สามารถจัดการสต็อกของผ่านระบบอินเตอร์เน็ตได้ รู้ได้ว่าสินค้าไหนที่ขายดีเพื่อจัดส่งสินค้านั้นได้อย่างทันท่วงที การใช้หน้าจอสัมผัส ทำให้กลุ่มลูกค้ารู้สึกสนุกสนานกับการใช้งาน และมีระบบที่สามารถจดจำความชอบส่วนบุคคลได้จากการใช้ระบบจดจำใบหน้า

จากการเกิดขึ้นของเศรษฐกิจขี้เกียจนี้ สนค. มองว่า ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคนี้ ถือเป็นแรงผลักดันให้ธุรกิจต่างๆ ต้องปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และต้องให้ความสำคัญให้ถูกจุด วิเคราะห์กลุ่มผู้บริโภคให้ถูกเป้าหมาย เพราะในเทรนด์เศรษฐกิจขี้เกียจเช่นนี้ ผู้บริโภครักความสะดวกสบายและขี้เกียจมากขึ้น ธุรกิจต่างๆ จึงต้องหาสินค้าและบริการเพื่อทำให้พวกเขาใช้ชีวิตได้ง่ายมากขึ้น หากสามารถวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภคได้ชัดเจน จะทำให้เกิดความได้เปรียบทางธุรกิจ

นอกจากนี้ รูปแบบทางเศรษฐกิจใหม่ ที่มีความต้องการของผู้บริโภคเป็นตัวขับเคลื่อน ยังสามารถสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อยในแต่ละภาคส่วน รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวของกับการดำเนินชีวิตของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ในบ้าน การท่องเที่ยว การออกกำลังกาย แม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งผู้ประกอบที่เป็น SMEs หรือ Start-up เมื่อรู้ความต้องการของผู้บริโภคแล้วก็สามารถผลิตสินค้าและบริการออกมาให้ตรงกับความต้องการนี้ได้

อย่างไรก็ตาม ในการผลิตสินค้าและบริการ ไม่จำเป็นที่ต้องตอบสนองต่อความขี้เกียจของผู้คนเสมอไป แต่อาจจะผลิตขึ้นมา เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต อำนวยความสะดวกในเรื่องที่ซับซ้อนและยุ่งยาก รวมทั้งส่งเสริมสุขภาพของผู้บริโภคแทนได้ ก็จะสร้างโอกาสทางธุรกิจได้เช่นเดียวกัน

เศรษฐกิจขี้เกียจ เป็นเศรษฐกิจเทรนด์ใหม่ที่กำลงมาแรง และยังสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่อีกเป็นจำนวนมาก หากใครมองออกก่อน ปรับตัวได้ก่อน ก็จะสร้างรายได้ทางธุรกิจได้อีกมาก เพราะขุมทรัพย์จากเศรษฐกิจขี้เกียจนี้ ไม่เพียงแต่ตอบสนองมนุษย์ผู้ขี้เกียจ แต่ยังสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ที่ต้องการความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตได้ด้วย

***ฟังคำตอบจาก "รษิกา คุณาพรสุจริต" ทำไมถึงเลือกศึกษา "เศรษฐกิจขี้เกียจ"



อย่างที่ทราบกันแล้ว "เศรษฐกิจขี้เกียจ" เป็นแนวโน้มเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ในตลาดจีน แต่กำลังขยายตัวไปยังตลาดต่างๆ ทั่วโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งในไทย ลองไปฟังคำตอบจาก "นางรษิกา คุณาพรสุจริต" นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ กองนโยบายการสร้างความเข้มแข็งทางการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ผู้ที่ได้ทำการศึกษาในเรื่องนี้กัน



นางรษิกาเล่าว่า ผอ.สนค. มอบนโยบายให้ศึกษาเรื่องใหม่ๆ โดยให้ดูว่ามีเทรนด์อะไรเกิดขึ้น และสามารถมาทำเป็นบทความ หรือบทวิเคราะห์ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้บ้าง ซึ่งที่ผ่านมา ก็ทำการศึกษามาโดยตลอด จนครั้งหนึ่ง ได้ไปจีน ได้เห็นการเปลี่ยนแปลง เห็นความสะดวกสบายเกิดขึ้นมาก มีธุรกิจหลายๆ อย่างตอบโจทย์ความต้องการของคน ทำให้คนสบาย



อย่างที่เราเคยเห็น ก็เศรษฐกิจแบ่งปัน ที่มีการให้เช่ารกจักรยาน แค่โหลดแอปพลิเคชัน สแกน ตัดเงิน ก็เอาจักรยานไปขี่ได้ แล้วยังมีอะไรที่ล้ำกว่านั้นอีกมาก มีสินค้าและบริการที่ถูกผลิตออกมาเพื่ออำนวยความสะดวก สบายให้กับคน เพราะคนจีนสมัยนี้ ทำงานหนัก จึงต้องการอะไรที่จะมาช่วยสร้างความสะดวกสบาย



พอได้โจทย์ข้างต้น ก็เลยเข้าไปศึกษา ไปเจอบทความหลักจาก Mintel ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยการตลาดชั้นนำระดับโลก เขาพูดถึงเรื่อง "เศรษฐกิจขี้เกียจ หรือ Lazy Economy" ที่กำลังเกิดขึ้นในจีนปัจจุบัน ก็เกิดความสนใจที่จะศึกษาในเรื่องนี้



"จริงๆ มีการพูดเรื่องเศรษฐกิจขี้เกียจมาตั้งแต่ปี 2557 ในกลุ่มประเทศตะวันตก แต่ไม่ได้บูมมาก จนมาปี 2561 เริ่มบูมในจีน เพราะกลุ่มคนที่เกิดตั้งแต่ปี 1990 (2533) ขึ้นไป เป็นกลุ่มคนที่ทำงาน มีรายได้ มีเงิน ใช้จ่ายเงินง่าย ทั้งผ่านทางออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน บัตรเครดิต และต้องการความสะดวกสบาย จึงทำให้เกิดเศรษฐกิจขี้เกียจขึ้น"นางรษิกากล่าว



นางรษิกาเล่าต่อว่า จากที่ได้ศึกษามา สินค้าอาหารชัดเจนที่สุด เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวมากที่สุด แล้วโอกาสก็มีมากตามไปด้วย อย่างในไทย เรามีแกร็บ มีไลน์แมน ไม่ต้องออกไปทานถึงที่ร้าน สามารถสั่งอาหารมาทานที่บ้านได้ ในจีนก็เหมือนกัน สั่งอาหารสดๆ มาทานได้เลย แล้วพวกอาหารปรุงสำเร็จ ก็เติบโตสูงมาก มีการนำเทคนิคใหม่ๆ มาใช้อย่างอุ่นร้านด้วยตนเอง พวกนี้เป็นทางเลือกสำหรับคนทำงาน ที่ไม่อยากเสียเวลาทำอาหาร แต่คุณภาพของอาหารดีเหมือนกับไปทานที่ร้าน



นอกจากนี้ ผลจากที่ได้ศึกษา ทำให้พบว่า เป็นโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทย ทั้ง SMEs หรือ Start-up ที่สามารถทำธุรกิจ โดยใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจขี้เกียจได้ เพราะในไทยคนรุ่นใหม่ เด็กรุ่นใหม่ๆ ก็เริ่มที่จะนิยมสินค้าและบริการที่ช่วยอำนวยความสะดวกกันเพิ่มมากขึ้น หากผู้ประกอบการผลิตสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ได้ ก็จะสามารถเจาะกลุ่มเฉพาะที่กำลังเติบโตได้



นางรษิกา สรุปว่า สินค้าและบริการ ที่ผู้ประกอบการผลิตได้ ต้องมุ่งที่จะตอบโจทย์ความสะดวกสบายให้กับคน แต่ไม่ใช่แค่เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายเพียงอย่างเดียว สินค้าและบริการต้องดี มีคุณภาพด้วย เพราะหากทำได้เช่นนี้ ไม่ใช่แค่กลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ต้องการความสะดวกสบายเท่านั้น ที่สนใจซื้อสินค้าและบริการ แต่ยังมีกลุ่มผู้บริโภคอื่นๆ รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ ที่ต้องการซื้อสินค้าและบริการที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายเช่นเดียวกัน






กำลังโหลดความคิดเห็น