xs
xsm
sm
md
lg

สนข.ปรับแนวมอเตอร์เวย์ 21 สายใช้เขตทางเดิม ลดเวนคืน-ค่าก่อสร้างได้กว่า 1.2 แสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


สนข.ปรับแผนมอเตอร์เวย์ 21 สาย เผยมี 17 ตอนใช้แนวทางหลวงเดิมก่อสร้างช่วย ประหยัดค่าเวนคืน ลดเงินลงทุนรวมได้กว่า 1.2 แสนล้าน เตรียมนำร่อง 2 ตอน ช่วงกรุงเทพฯ-สระแก้ว และนครสวรรค์-พิษณุโลก

นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สนข.ได้เห็นชอบร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ (Draft Final Report) การศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาเส้นทางหลวงสายหลักเดิมให้สามารถรองรับการขนส่งรูปแบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เพื่อลดต้นทุนของค่าก่อสร้างและค่าเวนคืนที่ดิน โดยจากแผนแม่บทมอเตอร์เวย์ของกรมทางหลวง (ทล.) จำนวน 21 โครงการ ซึ่งแบ่งออกเป็น 52 ตอน มีระยะทางรวม 6,612 กม. วงเงินลงทุนกว่า 2.7 ล้านล้านบาท

พบว่ามีจำนวน 17 ตอนที่สามารถดำเนินการพัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์บนเส้นทางหลวงเดิม เนื่องจากมีพื้นที่เขตทางเพียงพอ ซึ่งจำนวน 17 ตอนดังกล่าว ตามแผนแม่บทเดิมมีมูลค่าลงทุนรวม 1.42 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 1.33 ล้านล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 9.7 หมื่นล้านบาท แต่หากพัฒนาไปบนทางหลวงสายเดิมมูลค่าลงทุนลดลงเป็น 1.3 ล้านล้านบาท (ลดลง 1.2 แสนล้านบาท) ค่าก่อสร้างอยู่ที่ 1.26 ล้านล้านบาท (ลดลง 6.9 หมื่นล้านบาท) ค่าเวนคืน 4.6 หมื่นล้านบาท (ประหยัด 5 หมื่นล้านบาท)

ทั้งนี้ การศึกษาความเหมาะสมจะมีการนำร่องใน 2 ตอน คือ สาย M71 ตอน 1 (กรุงเทพฯ-สระแก้ว) ระยะทางประมาณ 204 กม. และสาย M5 ตอน 3 (นครสวรรค์-พิษณุโลก) ระยะทาง 142 กม. ซึ่งหลังจากนี้จะสัมมนารับฟังความเห็น โดยนำเสนอการศึกษาในภาพรวม รูปแบบการดำเนินโครงการ และความคุ้มค่าในด้านต่างๆ ในเดือน มิ.ย.นี้ จากนั้นจะสรุปรายงานการศึกษาฉบับสมบูรณ์ (Final Report) ในเดือน ก.ค.

“แผนแม่บทมอเตอร์เวย์ 21 สายของกรมทางหลวงใช้งบลงทุนสูง ดังนั้น ต้องหาทางลดค่าก่อสร้างและค่าเวนคืน หากดำเนินการบนทางหลวงเดิมได้จะลดค่าเวนคืนและลดผลกระทบให้แก่ประชาชนที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเวนคืนที่ดินได้อีก ซึ่งหากเขตทางเพียงพอจะก่อสร้างเป็นทางระดับดิน ช่วยประหยัดค่าก่อสร้างได้มากกว่าโครงสร้างทางยกระดับ ขณะเดียวกัน ทางหลวงสายหลักเดิมยังคงใช้บริการได้ตามปกติ โดยมอเตอร์เวย์จะเป็นทางเลือกในการเดินทางเพิ่มขึ้น”
กำลังโหลดความคิดเห็น