xs
xsm
sm
md
lg

RS กับเป้าหมายที่ท้าทาย เป้า 1 หมื่นล้านต้องทำมากกว่านี้

เผยแพร่:


ส่อง! “อาร์เอส” เติบโตต่อเนื่อง ข่าวดีทยอยเข้าต่อเนื่อง ในทุกธุรกิจ หลังเดินถูกทางมุ่งธุรกิจพาณิชย์ แต่ยังต้องลุ้นสำหรับเป้า 5 พันล้านบาทในปีนี้ และต้องเพิ่มปัจจัยหนุนเพื่อไปให้ถึงเป้า 1 หมื่นล้านบาทในปี 2565

แม้ปัจจุบันราคาหุ้น บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) (RS) จะเคลื่อนไหวบริเวณ 16.00 - 17.00 บาท/หุ้น และยังอีกไกลจากจุดสูงสุดเดิมในรอบ 3 ปี ซึ่งเคยทำได้ 34.00 บาท/หุ้น แต่ต้องยอมรับว่าจากแผนธุรกิจที่เปลี่ยนรูปลักษณ์มาสู่หมวดพาณิชย์ของบริษัทนับว่า “เป็นการเดินที่ถูกทาง” หากแต่ยังจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาอีกสักพักใหญ่ เพื่อพิสูจน์ความแข็งแกร่งของธุรกิจ เพราะล่าสุด แม้ผลดำเนินงานไตรมาสแรกปีนี้จะมีรายได้ประมาณ 930 ล้านบาท แต่หากเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5 พันล้านบาทภายในสิ้นปี ถือว่าอาจต้องลุ้นกันเหนื่อย!

แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับ RS ในช่วงเวลานี้ คือข่าวดีทางธุรกิจที่ทยอยออกมาเรื่อย ๆ ของบริษัท อาทิ ล่าสุดบริษัทเตรียมลดทุนจดทะเบียน จำนวน 43.27 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 4.26% ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วทั้งหมด ซึ่งเป็นหุ้นซื้อคืนที่บริษัทไม่ได้จำหน่ายออกไปสู่ตลาด หลังพ้นระยะเวลาการจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืนแล้ว โดยการลดทุนจดทะเบียนครั้งนี้ บริษัทเชื่อว่าจะทำให้กำไรต่อหุ้น (Earnings per Share) เพิ่มขึ้นทันที ถือว่าเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งฝ่ายนักลงทุนและบริษัท ประกอบกับแนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทในปีนี้มีทิศทางดีขึ้น เติบโตขึ้นจากปีก่อนอย่างมีเสถียรภาพทั้งจากธุรกิจพาณิชย์หลายช่องทาง (MPC) และธุรกิจอื่นๆ

นอกจากนี้ RS ยังได้รับประโยชน์จากกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งมาตรา 44 (ม.44) เพื่อออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลครั้งที่ผ่านมา โดย“สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร RS เคยแสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า จะส่งผลบวกกับช่องทีวีของบริษัท (ช่อง 8 ) เป็นอย่างมาก เพราะทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายใบอนุญาต (ไลเซนส์) ทีวีดิจิทัลได้ประมาณ 600-700 ล้านบาท จากการยกเว้นค่าใบอนุญาตงวดที่ 5-6 รวมทั้งได้รับยกเว้นค่าใช้จ่ายค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัล (MUX) ตั้งแต่กลางปี 2563 จนถึงตลอดระยะเวลาการได้รับอนุญาตให้บริการทีวีดิจิทัล (ปี 2572) ซึ่งจะทำให้ช่อง 8 สามารถดำเนินธุรกิจคล่องตัวมากขึ้น เพราะจะเหลือแค่ต้นทุนการดำเนินงานและค่าคอนเทนต์เท่านั้น ซึ่งปกติการบริหารจัดการต้นทุนดังกล่าวทำได้ดีอยู่แล้ว ดังนั้นจึงถือเป็นประโยชน์ต่อช่อง 8 อย่างมีนัยสำคัญ

ไม่เพียงเท่านี้ จากมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว นอกจากจะทำให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจทีวีดิจิทัลของ RS ลดลงแล้ว บริษัทอาจจะมีการบันทึกกลับรายการทางบัญชี จากการจ่ายค่าไลเซนส์ทีวีดิจิทัลไปในงวดก่อนหน้านี้ เนื่องจาก RS ได้จ่ายล่วงหน้าไปจำนวนมาก จึงทำให้มีส่วนต่างที่จะบันทึกกลับมาเป็นกำไรทางบัญชีได้ นั่นหมายความว่าจะทำให้ปี 2562 จะมีกำไรทางบัญชีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ดังนั้น น่าจะกล่าวได้ว่าหากไม่มีปัจจัยลบอื่น ๆ เข้ามาส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทเพิ่มเติม “ปี 2562 น่าจะเป็นอีกหนึ่งปีทองของ RS” ในด้านผลประกอบการทั้งในแง่รายได้และกำไร เพราะจะเป็นปีที่ทุกธุรกิจของบริษัทมีการเติบโตที่ดี

โดยสิ่งสำคัญที่ทำให้ RS มีความโดดเด่นหนีไม่พ้นธุรกิจพาณิชย์หลายช่องทาง (Multi-Platform Commerce : MPC) ซึ่งปัจจุบันถูกยกให้เป็นธุรกิจหลักของบริษัท โดยคาดว่าในปี 2562 จะมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจดังกล่าว 60% ส่วนธุรกิจสื่อที่ระดับ 30% และธุรกิจเพลงที่ระดับ 10% เนื่องจาก หลัง RS ปรับโมเดลธุรกิจ หันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจ MPC พบว่าธุรกิจดังกล่าวมีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดดมาก เห็นได้จากสัดส่วนรายได้ที่ขยายตัวจาก 8 % ในปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็น 40% ในปี 2560 และ 56 % ในปี 2561 จนช่วยทำให้บริษัทพลิกฟื้นจากขาดทุนสุทธิ 102 ล้านบาทในปี 2559 กลับมาปีกำไร 332 ล้านบาทในปี 2560 และเพิ่มขึ้นมาเป็น 516 ล้านบาทในปี 2561 อีกทั้งเชื่อว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้

ที่ผ่านมา หลายฝ่ายมองว่า ธุรกิจ MPC ของ RS ถือเป็นการตอบโจทย์ที่ลงตัวของบริษัท เนื่องจากสินค้าที่จำหน่ายเป็นสินค้าสุขภาพและความงาม นับเป็นกุญแจสำคัญต่อการต่อยอดธุรกิจของบริษัทได้เป็นอย่างดี เพราะธุรกิจนี้มีอัตราการกำไรขั้นสูงในระดับ 37% จากเดิมที่ RS เคยมีอัตรากำไรขั้นต้นระดับ 24% อีกทั้งบริษัท ฯ ยังใช้ช่องทางโฆษณาผ่านสื่อของตนเอง อย่าง “ช่อง 8” เข้ามาช่วยกระตุ้นยอดขาย ทำให้ไม่มีต้นทุนในด้านนี้

นอกจากนี้ สินค้าของบริษัทใช้วิธีจ้างผลิต (OEM) ยิ่งช่วยให้ RS ไม่มีต้นทุนและค่าเสื่อมของโรงงานเข้ามาบันทึก แม้จะมีการควบคุมที่เข้มงวดจาก “อย.” เข้ากดดันบ้างก็ตาม

ขณะเดียวกันในด้านธุรกิจเดิม อย่างธุรกิจสื่อ นอกจากเม็ดเงินโฆษณาที่เพิ่มเข้ามา การหันมาให้น้ำหนักกับช่องทางออนไลน์มากขึ้นของ RS ถือว่าเป็นอีกกุญแจสำคัญที่ช่วยลดต้นทุนของบริษัทได้เป็นอย่างดี เมื่อบวกกับการลดต้นทุนในธุรกิจเพลง ด้วยการลดจำนวนศิลปิน และค่าใช้จ่ายในการออกผลงาน ยิ่งทำให้ต้นทุนในการบริหารงานโดยรวมของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตามเป้าหมายรายได้ระดับ 1 หมื่นล้านบาท ในปี 2565 ถือเป็นโจทก์ที่ท้าทายอย่างมากของบริษัท เพราะหากพิจารณาจากสภาพโดยรวมของเศรษฐกิจประเทศในปี 2562 ที่กำลังเกิดขึ้นนั้น หลายฝ่ายประเมินแค่เป้าหมายรายได้ระดับ 5 พันล้านบาทในปีนี้ แม้ทำได้แต่อาจเหนื่อยไม่น้อย ดังนั้นการจะเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดของรายได้ในอีก 3 ปีข้างหน้ากว่า 100% ไม่ใช่ RS จะทำไม่ได้ เพียงแต่โอกาสที่จะเป็นเช่นนั้น จำเป็นต้องมีปัจจัยบวกใหม่ ๆ ที่มีน้ำหนัก หรือกำลังหนุนต่อผลประกอบการ และราคาหุ้นมากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบันเข้ามาช่วยเสริม ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ต่อจากนี้ และเมื่อถือเวลานั้นราคาหุ้นที่ระดับ 34.00 บาท/หุ้น สำหรับ RS อาจไม่ใช้เรื่องไกลเกินเอื้อม!
กำลังโหลดความคิดเห็น