xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ได้มาเล่นๆ... เบื้องหลัง"Focus Arena" E-sports complex@ขอนแก่น จากเด็กหนุ่มวัย 25 ท้าทาย "เด็กสร้างเกม" ใหญ่สุดระดับอาเซียน!

เผยแพร่:


ศูนย์ข่าวขอนแก่น - โฟกัสแอดฯ ทุ่ม 40 ล้านบาท แตกไลน์ธุรกิจสร้างโฟกัส อารีน่า E-sports Complex ใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รับตลาดเกมไอทีที่เชื่อว่าโตไม่หยุดในอนาคต ย้ำไม่ทำให้เด็กติดเกมจะพัฒนาก้าวข้ามสู่เด็กสร้างเกมมืออาชีพ

“Focus Arena” ที่เพิ่งเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการไปเมื่อต้นเดือน พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา สร้างความฮือฮาให้แก่กลุ่มคนเล่นเกม ผู้ชื่นชอบการแข่งเกมในเมืองไทยไม่น้อย เพราะเป็น E-sports Complex ครบวงจรแห่งแรกในไทยและเป็นศูนย์แข่ง E-Sport ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างบนพื้นที่ 1 ไร่เศษริม ถ.มิตรภาพเขตเทศบาลเมืองขอนแก่น ด้วยงบลงทุนร่วม 40 ล้านบาท

“ทันทีที่ผมบอกว่าอยากทำธุรกิจ E-Sport บริการสถานที่จัดแข่งเกม คุณพ่อคุณแม่ถามกลับทันทีเลยว่ามันจะทำให้เด็กๆ ติดเกมกันมากขึ้นหรือเปล่า ผมรู้ทันทีเลยว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แล้วสำหรับธุรกิจอีสปอร์ตของผม” รณกร กิตติสุวรรณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทโฟกัสอารีน่า จำกัด ย้อนความให้ “ผู้จัดการออนไลน์” ฟังถึงจุดเริ่มต้นของโครงการลงทุน E-Sport Complex แห่งแรกของเมืองไทยที่ตั้งอยู่ในภาคอีสาน

รณกรณ์ เด็กหนุ่มวัย 25 ปี คนนี้ เป็นบุตรชายของอภิชา กิตติสุวรรณ์ (เฮียเล็ก) และ นางวดี ทวีแสงสกุลไท (ซ้อหยูย) เจ้าของบริษัทโฟกัสแอดเวอร์ไทซิ่ง เบอร์ 1 ผู้ให้บริการสื่อโฆษณาครบวงจรในเมืองหมอแคน และภาคอีสานตอนบน โดยเฉพาะป้ายไฟ LED Smart BOX หรือ Video Wall

หลังเรียนจบด้านนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในปี 2560 รณกรณ์ตั้งใจกลับมาช่วยธุรกิจสื่อโฆษณาของครอบครัว แต่มองว่าคุณพ่อดูแลกิจการได้ดีอยู่แล้ว เขาอยากทำธุรกิจเกี่ยวกับเกม เชื่อว่าตัวเองน่าจะทำได้ดี เพราะส่วนตัวเป็นคนที่ชอบเล่นเกมมาตั้งแต่เด็ก กระทั่งเข้ามหาวิทยาลัยก็ชอบคลุกอยู่ในร้านเกม จัดอยู่ในข่ายเด็กติดเกมส์ก็ว่าได้ และหากมีแข่งเกมที่ไหนต้องมีเขาเป็นหนึ่งในผู้แข่งขัน เกมที่เขาชอบเล่นชอบแข่ง คือ Counter strike และ Global offensive

เมื่อได้บทสรุปในสิ่งที่ตัวเองอยากทำเป็นธุรกิจ E-sport เขาได้นำไปหารือกับครอบครัว ตอนแรกทั้งคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่เข้าใจว่าอีสปอร์ตมันคืออะไร เป็นอาชีพทำรายได้เลี้ยงตัวได้ด้วยหรือ ในภาพจำของ “เฮียเล็ก และซ้อหยูย” ณ ขณะนั้นเห็นแต่บรรยากาศร้านเกมที่เด็กหัวเกรียนนั่งจ้องหน้าคอมพ์แบบเอาเป็นเอาตาย กลัวว่าจะทำให้เด็กเยาวชนติดเกมส์เพิ่มขึ้น รณกรณ์เองก็พยายามอธิบายให้เข้าใจเห็นภาพใหม่ของธุรกิจอีสปอร์ตมากที่สุด

ทั้งยังได้พาคุณพ่อคุณแม่ไปศึกษาสอบถามข้อมูลจากนักจัดแข่งเกมรุ่นพี่ที่เขาคุ้นเคยที่กรุงเทพฯ เพิ่มเติม เขาบอกว่า โดยเฉพาะคุณพ่อใช้เวลาเกือบปีในการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจอีสปอร์ต ในที่สุดทั้งคุณพ่อคุณแม่ก็เซย์เยส ยอมลงทุนสร้าง “Focus Arena” ให้ลูกชายได้ทำในสิ่งชอบ และถือเป็นการแตกไลน์ธุรกิจใหม่ของครอบครัวในรอบเกือบ 30 ปี

รณกรณ์เปิดเผยว่า อาณาจักร Focus Arena แห่งนี้คือศูนย์กลางทุกด้านของ E-Sport ทั้งสถานที่แข่งขันเกม สถานที่ฝึกอบรม พัฒนาทักษะการเล่นเกม พบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของคนในแวดวงอีสปอร์ต เป็น E- sport complex แห่งเดียวในประเทศไทย อยากให้พี่น้องชาวขอนแก่นรวมถึงชาวอีสานได้ภาคภูมิใจและมั่นใจได้ว่าโฟกัส อารีน่า จะไม่ทำให้เด็กติดเกมเพิ่ม แต่จะเน้นพัฒนาทักษะการเล่นเกมเพื่อการแข่งขันเชิงกีฬามากกว่า

การลงทุนสร้าง Focus Arena ได้จังหวะสอดรับกับ E-sport ถูกบรรจุให้เป็นกีฬาอีกประเภทหนึ่งที่จัดแข่งชิงเหรียญได้อย่างเป็นทางการในเอเชียนเกมส์ ค.ศ. 2022 และได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 60 ให้เป็นชนิดกีฬา ที่จดทะเบียนจัดตั้งเป็นสมาคมกีฬาในประเทศไทยได้ และได้รับการลงนามอนุมัติอย่างเป็นทางการจาก รมต.กระทรวงการท่องเที่ยวฯ วันที่ 17 ต.ค. 60 ทำให้ไทยสามารถส่งนักกีฬาเข้าแข่งขัน E-sport ในนามทีมชาติไทยได้อย่างถูกต้อง

ภายใน Focus Arena ประกอบด้วย ห้องซ้อมเกม ห้องแข่งขันเกม อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ต์ วีไอพีเลานจ์ ห้องโปรดักชันรูม สเตเดียมจัดแข่ง E-Sport จุคนได้ 108 ที่นั่ง มีคอมพิวเตอร์รองรับการแข่งขัน 12 เครื่อง สามารถส่งสัญญาณภาพไปยังจอ LED ข้างนอกได้ทุกมุม และห้องนี้ยังปรับให้เป็นห้องประชุมสัมมนาขนาดย่อมๆ ได้อีกด้วย

ถือเป็น Arena ขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใช้จัดแข่งเกมระดับสากลได้ แม้แต่ออแกไนเซอร์การจัดแข่ง E-Sport ชื่อดังระดับโลกจากสวีเดนอย่าง Dream Hack และ Mineski จากฟิลิปปินส์ได้เดินทางมาเยี่ยมชมสถานที่เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

รณกรณ์บอกอย่างมั่นใจว่า ธุรกิจ E-sports ในเมืองไทยมีแนวโน้มจะเติบโตได้อีกมาก แม้สถานการณ์ปัจจุบันกระแสความนิยมกีฬา อี-สปอร์ต ยังไม่หวือหวามาก การขยายตัวเชิงธุรกิจจะเป็นไปอย่างช้าๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่มีทัศนคติต่อการเล่นเกมต่างๆ ของบุตรหลานไปในทางลบ กลัวลูกติดเกมแล้วก้าวร้าวเสียการเรียน ซึ่งข้อจำกัดนี้ต้องใช้เวลา Educate พอสมควร

“ตอนนี้แม้เกมจะเป็นกีฬาประเภทหนึ่ง แต่ยังไม่ฮอตฮิตเท่าฟุตบอล บ้านไหนมีลูกชายก็อยากให้ฝึกเตะบอลให้เก่งๆ สโมสรไหนจัดเวิร์กชอป พากันไปสมัครจนล้น ยิ่งลูกผ่านคัดเลือกเป็นเด็กปั้นกับสโมสรดังในไทยลีก ยิ่งดีใจกันยกใหญ่เพราะอนาคตเผื่อจะได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพง่ายขึ้น ซึ่งวันหนึ่งข้างหน้าผมก็อยากให้กระแสอีสปอร์ตเป็นแบบนั้นเหมือนกัน”

ในห้วงที่รอให้ธุรกิจแข่งเกมในเมืองไทยหรือภูมิภาคนี้บูมมากพอที่โฟกัสอารีน่าจะเป็นสนามให้บรรดาออแกไนซ์แวะเวียนมาเช่าใช้เป็นสถานที่จัดแข่งอีสปอร์ต รณกรณ์บอกว่าเขาคงต้องหารายได้ทางอื่นไปพลางก่อน โดยเปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ให้เช่าเครื่องเล่นเกมเป็นรายชั่วโมง เป็นคอมมูนิตี้ใหม่ให้กับกลุ่มคนที่จะได้ฝึกทักษะ E-Sport ซึ่งที่นี่จะเป็นมากกว่าร้านเกม อุปกรณ์ไอทีชั้นเยี่ยม

ขณะเดียวกัน ตัวเขาเองก็จะเป็นออแกไนเซอร์จัดแข่งเกมส์ หรืออีสปอร์ตอย่างสม่ำเสมอเช่นกัน อาจจะเดือนละครั้งหรือ 2-3 เดือนครั้ง เกมแข่งที่ฮิตฮอตก็มี ROV, LL, Counter strik, Dota 2 โดยหาสปอนเซอร์เข้ามาซัปพอร์ตค่าใช้จ่ายและเงินรางวัลให้แก่ผู้เข้าแข่งขัน และก็เชื่อว่านับจากนี้ไปออแกไนเซอร์จัดแข่งเกมระดับแนวหน้าของประเทศก็น่าจะมาใช้โฟกัสอารีน่าเป็นสถานที่จัดแข่งแทนที่จะไปเช่าคอนเวนชันฮอลล์ ตามโรงแรม หรือห้างสรรพสินค้าใหญ่ ที่นี่เรามีครบทุกอย่าง

ทั้งห้อง Training Room & Hostel เป็นห้องซ้อมของนักกีฬา สำหรับ Boot camp, Coaching Room เป็นห้องเรียนรู้ ฝึกอบรมทักษะการเล่นเกม สามารถรองรับได้สูงสุด 30 คน, Production Room สำหรับควบคุมการถ่ายทอดสด และห้องนักพากย์ และยังมี Co working Space บริการสำหรับกลุ่มคนที่อยากนั่งทำงานหรือติวหนังสือ อ่านหนังสือนอกบ้าน มีอาหารและเครื่องดื่มบริการในราคาเป็นกันเอง

นอกจากนี้ Focus Arena ได้ลงนามความร่วมมือในโครงการสหกิจศึกษากับสถาบันการศึกษาหลายแห่ง เพื่อศึกษาพัฒนาสื่อการเรียนการสอนด้านกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-sports ร่วมกันในอนาคต ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยเทคโนโลราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น และวิทยาลัยอาชีวศึกษาขอนแก่น

โดยเฉพาะความร่วมมือกับสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่นนั้นจะเน้นการนำโนว์ฮาวมาพัฒนาการเขียนโปรแกรมเกม เพื่อปั้นนักเขียนเกมชาวไทยให้เป็นโปรแกมเมอร์ด้านเกมอย่างมืออาชีพสามารถขายความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างภาคภูมิในตลาดโลก

“เราโชคดีที่ได้รับการสนับสนุนงบจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือเดปป้า หลายล้านบาทมาลงทุนสร้างห้องโคชชิ่ง โดยมีแผนร่วมกันที่จะเปิดคอร์สสอนการเขียนเกมส์ให้กับผู้ที่สนใจ เผื่อจะได้นำความรู้ไปต่อยอดพัฒนาเป็นนักเขียนเกมมืออาชีพ คาดว่าจะเปิดสอนได้ราว 6-8 คอร์สต่อปี” รณกรณ์บอกอย่างมีความหวังและยังได้เล่าอีกว่า

ในห้วงแรกก่อนตัดสินใจขอให้ทางคุณพ่อคุณแม่ลงทุนสร้างโฟกัส อารีน่า ตนได้หารือขอคำปรึกษาแนะนำจากผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่าน และที่จำได้แม่นคือการได้แง่คิดดีๆ จากคุณอาสุรเดช (สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย) ท่านบอกว่าจะลงทุนทำอะไรก็ตาม ต้องถามตัวเองก่อนว่ารักในสิ่งที่จะทำนั้นมากน้อยแค่ไหน ถ้าทำในสิ่งที่เราชอบก็จะทำได้ดี และที่สำคัญลงทุนทำแล้วต้องเกิดประโยชน์กับชาวขอนแก่นด้วย เพราะคนขอนแก่นให้เรามามากแล้ว

“ผมจึงตระหนักเสมอว่า โฟกัส อารีน่า จะไม่ทำให้เด็กขอนแก่นติดเกมเยอะขึ้น แต่จะขอมีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะการเล่นเกมของคนที่รักในเกมส์ได้มีโอกาสก้าวไปสู่การสร้างสรรค์เกมส์ใหม่ๆ คือเป็นเด็กสร้างเกม ไม่ใช่เด็กติดเกม” เอ็มดีหนุ่มไฟแรงแห่งอาณาจักรเกมส์น้องใหม่กล่าวทิ้งท้ายกับทีมงานผู้จัดการออนไลน์
รณกรณ์ กิตติสุวรรณ์ เอ็มดีหนุ่มไฟแรง บ.โฟกัสอารีน่า จำกัด



กำลังโหลดความคิดเห็น