xs
xsm
sm
md
lg

แนะสตาร์ทอัพญี่ปุ่นฝันใหญ่ใจถึง กู้ชื่อผู้นำเทคโนโลยีไร้เทียมทาน

เผยแพร่:


“วอล์กแมน” หนึ่งในตำนานความสำเร็จของญี่ปุ่น
วัฒนธรรมการทำงานแบบมนุษย์เงินเดือนที่ไม่สนับสนุนให้คนลาออกจากงาน ซ้ำให้ความสำคัญกับการหลีกเลี่ยงความล้มเหลวมากกว่าการตามหาความสำเร็จ บวกกับระบบการเงินที่รังเกียจความเสี่ยง กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม แนะสตาร์ทอัพญี่ปุ่นต้องมีความทะเยอทะยานระดับโลก หากต้องการกู้ชื่อประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้นำเทคโนโลยีระดับไร้เทียมทาน

หุ่นยนต์ที่หาเครื่องซักผ้าเจอทั้งที่ย้ายที่แล้วอาจเป็นความหวังในการฟื้นสถานะของญี่ปุ่น

ไดสึเกะ โอกาโนฮาระ ผู้ร่วมก่อตั้งพรีเฟอร์ เน็ตเวิร์กส์ บอกว่า ซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ของบริษัทช่วยให้หุ่นยนต์สามารถโต้ตอบกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ

เทคโนโลยีนี้คือที่มาความภาคภูมิใจของบริษัทในโตเกียวแห่งนี้ที่มีมูลค่าเกือบ 2,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหาได้น้อยมากในบรรดาสตาร์ทอัพญี่ปุ่น
ปัจจุบัน ญี่ปุ่นมียูนิคอร์น หรือสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าอย่างน้อย 1,000 ล้านดอลลาร์ แค่ 3 แห่ง ขณะที่จีนมีถึง 206 แห่ง และอเมริกา 203 แห่ง ทั้งนี้ จากรายงานฮูรุน โกลบัล ยูนิคอร์น ลิสต์ 2019 ที่ฮูรุน รีพอร์ต กลุ่มกิจการสิ่งพิมพ์ในเซี่ยงไฮ้ เผยแพร่เมื่อปลายเดือนตุลาคม

โชคชะตาของญี่ปุ่นพลิกผันสุดขีด จากที่เคยเป็นผู้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีที่สร้างเครื่องคิดเลขพกพา โซนี่วอล์กแมน และไฟ LED ให้โลก

การศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำ แม็กคินซีย์ พบว่า ญี่ปุ่นนำโด่งในสนามไฮเทคจนถึงราวๆ ปี 2000 ที่รายได้ของบริษัทอย่างโซนี่และโตชิบาตกต่ำกว่าผู้เล่นหน้าใหม่อย่างแอปเปิลและซัมซุง

เคนจิ โนนากะ หุ้นส่วนอาวุโสของแม็กคินซีย์แจงว่า บริษัทญี่ปุ่นโด่งดังเป็นที่รู้จักทั่วโลกในช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990 จากการผลิตสินค้าไฮเทคเพื่อผู้บริโภคที่มีขนาดบางและเบาลง แต่หลังจากนั้นผลิตภัณฑ์ที่มีวิศวกรรมซับซ้อนกลับเป็นที่ต้องการน้อยลง ขณะที่เทคโนโลยีเพื่อผู้บริโภคที่มุ่งเน้นซอฟต์แวร์มีความสำคัญมากขึ้น

โนนากะเสริมว่า บริษัทที่จะประสบความสำเร็จได้คือบริษัทที่ใกล้ชิดและรับรู้ความต้องการของลูกค้า ซึ่งเรื่องนี้ญี่ปุ่นห่างชั้นอเมริกาและจีนมาก

ยิ่งไปกว่านั้น สตาร์ทอัพอย่างกูเกิล, เน็ตฟลิกซ์, เฟซบุ๊ก และแอมะซอน ซึ่งเป็นของอเมริกาทั้งหมด ยังเป็นผู้สร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

ตรงข้ามกับในญี่ปุ่นที่ชุมชนสตาร์ทอัพแคบมาก เพราะทุกคนล้วนอยากทำงานกับบริษัทใหญ่ๆ มากกว่า

ผู้เชี่ยวชาญยังโทษว่า สาเหตุที่ทำให้ความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของญี่ปุ่นเปลี้ยลงคือ วัฒนธรรมการทำงานแบบมนุษย์เงินเดือนที่ไม่สนับสนุนให้คนลาออกจากงาน บวกกับระบบการเงินที่หลีกเลี่ยงความเสี่ยงซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม โดยบริษัทต่างๆ มักพึ่งพิงแบงก์ในการระดมทุนมากกว่าตลาดตราสารหนี้

แนวทางการลงทุนที่แตกต่างมีความสำคัญอย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่น ในอเมริกาและจีนมี Angel investor มากมายที่เต็มใจลงทุนกับคนและบริษัทที่กล้ารับความเสี่ยงขนาดใหญ่และมีแนวโน้มล้มเหลว

เซอิจิโร ทาเคชิตะ คณบดีและศาสตราจารย์คณะบริหารธุรกิจและข้อมูล มหาวิทยาลัยชิสึโอกะ บอกว่า ในอเมริกานั้นเมื่อคิดจะสร้างนวัตกรรมใหม่สามารถดึงดูดทั้งเม็ดเงินและบุคลากรได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว ตรงข้ามกับในญี่ปุ่นที่วัฒนธรรมการทำงานให้ความสำคัญกับการหลีกเลี่ยงความล้มเหลวมากกว่าการตามหาความสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าญี่ปุ่นไม่ได้สร้างผลงานนวัตกรรมเลยทีเดียว ทาเคชิตะบอกว่า ประเทศนี้มีไอเดียมากมาย เพียงแต่ไม่หวือหวาเท่าซิลลิคอนแวลลีย์หรือเซินเจิ้น

ญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องการนำผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วมาปรับปรุงเพื่อให้สามารถผลิตออกมาทีละมากๆ ได้ง่ายขึ้น และยังเป็นผู้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีในแง่สิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาต่อหัว ทั้งนี้ อ้างอิงจากรายงานขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกในปีที่ผ่านมา (จีนและอเมริกามีอันดับสูงกว่าในแง่จำนวนการยื่นขอสิทธิบัตรรวม)

ทว่า ญี่ปุ่นเป็นรองด้านสภาพแวดล้อมทางการเมือง การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน และความซับซ้อนทางธุรกิจที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนนวัตกรรม โดยครองอันดับ 15 หรือลดลง 2 อันดับ ขณะที่อเมริกา สหราชอาณาจักร และอิสราเอลติดอันดับต้นๆ ส่วนที่หนึ่งเป็นของสวิตเซอร์แลนด์

อย่างไรก็ตาม โอกาโนฮาระเชื่อว่า ความหลากหลายอาจเป็นทางออกสำหรับเรื่องนี้ โดยพรีเฟอร์ เน็ตเวิร์กส์ว่าจ้างพนักงาน 270 คน ซึ่ง 10% เป็นพนักงานจากกว่า 30 ประเทศ

พรีเฟอร์ เน็ตเวิร์กส์แนะนำให้พนักงานใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารในออฟฟิศและบนสแล็ก หรือแพล็ตฟอร์มรับส่งข้อความบนคลาวด์ และว่าจ้างพนักงานแปลช่วยในการสื่อสาร เทียบกับในซิลลิคอนแวลลีย์ที่พนักงานราว 57% เป็นต่างชาติ ทั้งนี้ จากรายงานประจำปี 2017 ของบริษัทที่ปรึกษา ซิลลิคอน แวลลีย์ ลีดเดอร์ชิป กรุ๊ป และซิลลิคอน แวลลีย์ คอมมิวนิตี้ ฟาวน์เดชัน

โอกาโนฮาระบอกว่า บริษัทต้องการสร้างสภาพแวดล้อมที่ยอมรับและนำไอเดียใหม่ไปทดลองใช้ง่ายขึ้น

ด้านโนนากะจากแม็กคินซีย์แนะนำว่า สตาร์ทอัพญี่ปุ่นจำเป็นต้องมีความทะเยอทะยานระดับโลก เช่น การคิดถึงการขยายตัวเข้าสู่อเมริกาและจีนตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ

ซอฟต์แบงก์ บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่แดนปลาดิบเห็นด้วยว่า บริษัทอินเทอร์เน็ตญี่ปุ่นยังเป็นรองคู่แข่งในอเมริกาและจีนหลายขุม และจำเป็นต้องสยายปีกเข้าสู่ประเทศอื่นๆ ในเอเชียเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน

นักลงทุนทรงอิทธิพลมักช่วยให้บริษัทแจ้งเกิดได้จริง และนี่เป็นอีกอุปสรรคหนึ่งที่สตาร์ทอัพญี่ปุ่นหลายแห่งต้องเผชิญ

ตัวอย่างเช่นแม้มาซาโยชิ ซัน ผู้ก่อตั้งซอฟต์แบงก์และนักลงทุนมือฉมังดีกรีเศรษฐีพันล้าน ถือเป็นผู้สนับสนุนเทคโนโลยีรายใหญ่สุดของญี่ปุ่น แต่กองทุนวิชั่น ฟันด์ของซอฟต์แบงก์กลับไม่เลือกลงทุนในสตาร์ทอัพท้องถิ่น แต่อัดฉีดเงินเป็นพันล้านดอลลาร์ให้สตาร์ทอัพระดับโลกอย่างอูเบอร์ของอเมริกา, Chehaoduo สตาร์ทอัพรถมือสองของจีน และโอโย กลุ่มธุรกิจบริการต้อนรับของอินเดีย

การที่สตาร์ทอัพส่วนใหญ่ในแดนปลาดิบไม่ได้รับความสนใจอาจเป็นเพราะมีคุณสมบัติไม่ตรงตามเกณฑ์ที่ซันตั้งไว้ เช่น บริษัทที่อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายและเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดภายใน 2-3 ปี

อย่างไรก็ตาม สำหรับโอกาโนฮาระ เขาไม่สนใจที่ถูกซันมองข้าม โดยบอกว่า แม้สภาพแวดล้อมเทคโนโลยีของญี่ปุ่นท้าทายมาก แต่ถือว่า ยังมีโอกาสให้ค้นหามากกว่าอีกหลายประเทศ

พรีเฟอร์ เน็ตเวิร์กส์ดึงดูดความสนใจจากโตโยต้า มอเตอร์ ทั้งสองบริษัทร่วมกันวิจัยและพัฒนามาตั้งแต่ปี 2014 โดยค่ายรถเบอร์หนึ่งของญี่ปุ่นแห่งนี้ลงทุนให้ 101 ล้านดอลลาร์ตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งช่วยอัดฉีดผลงานในโครงการต่างๆ เช่น เอไอ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีรถไร้คนขับ ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ หุ่นยนต์ทั้งหมดที่มาจากเทคโนโลยีของพรีเฟอร์ เน็ตเวิร์กส์ ผลิตโดยโตโยต้า
กำลังโหลดความคิดเห็น