xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ไหวบอกไหว!?สงครามการค้าทรัมป์ทำศก.จ่อถดถอย

เผยแพร่:

มวยคู่เอก “ทรัมป์-สี” ในสงครามการค้าที่มีเศรษฐกิจโลกเป็นเดิมพัน
แม้ทรัมป์และเหล่าลิ่วล้อดาหน้าการันตีนโยบายการค้าดุดันถึงพริกถึงขิงกำลังทำให้จีนง่อยเปลี้ย ขณะที่อเมริกาจะแกร่งกล้าขึ้นไปอีก แต่บรรดากูรูกลับเห็นตรงข้ามว่า นโยบายดังกล่าวกำลังเหวี่ยงกลับมากระแทกแสกหน้าเศรษฐกิจอเมริกาอย่างจัง และความผิดพลาดนี้อาจทำให้ทรัมป์กลายเป็นกระต่ายในนิทานอีสปที่ปล่อยให้เต่าอย่างสี จิ้นผิงย่องเข้าเส้นชัยตัดหน้าในตอนจบ

ท่ามกลางหลักฐานที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าเศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัว ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตกอยู่ในสถานการณ์รักพี่เสียดายน้องที่ต้องเลือกระหว่างการเดินหน้าเผด็จศึกในสงครามการค้ากับจีนตามที่คุยไว้ กับการพยายามทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสู่ศึกเลือกตั้งปลายปีหน้า

อาการเลือกไม่ได้ดังกล่าวอาจเป็นที่มาที่ทำให้ทรัมป์พยายามยืนยันว่า การขึ้นภาษีศุลกากรสินค้าจีนกำลังทำให้พญามังกรเจ็บหนัก โดยเมื่อวันพฤหัสฯ (15) ผู้นำสหรัฐฯ อ้างว่า ยิ่งสงครามการค้ายืดเยื้อเท่าไหร่ จีนยิ่งอ่อนระทวย ขณะที่อเมริกาแข็งแกร่งขึ้น ก่อนจะทวิตตามมาว่า ภัยคุกคามความมั่งคั่งของสหรัฐฯ หลักๆ มีแค่ธนาคารกลาง (เฟด) ที่ลดดอกเบี้ยแบบเสียไม่ได้เท่านั้น

แต่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนลงความเห็นว่า มาตรการภาษีศุลกากรกำลังสร้างความเสียหายโดยที่คณะบริหารทรัมป์ไม่รับรู้หรือไม่ยอมรับ
มาร์ก แซนดี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของมูดี้ส์ อนาลิติกส์ บอกว่า คำอวดอ้างของทรัมป์ผิดถนัด เพราะสงครามการค้าเริ่มส่งผลต่อภาคการผลิต ขนส่ง และจัดจำหน่ายของอเมริกา เป้าหมายต่อไปคือตลาดแรงงาน และถ้าทรัมป์ยังขืนขึ้นภาษีสินค้าจีนล็อตใหม่ตามที่ขู่ไว้ว่า จะเริ่มต้นเดือนหน้า ธุรกิจและผู้บริโภคอเมริกันจะมีต้นทุนเพิ่มอีก 100,000 ล้านดอลลาร์

ช่วงเวลากว่าปีมานี้ วอชิงตันและปักกิ่งสาดมาตรการภาษีตอบโต้กันครอบคลุมสินค้าหลายแสนล้านดอลลาร์ สร้างความปั่นป่วนในตลาดการเงินและเพิ่มความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก

ฟิล เลวี นักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทขนส่งสินค้า เฟล็กซ์ฟอร์ต เตือนว่า ทรัมป์กำลังเล่นเกมอันตรายด้วยการดึงดันทำสงครามการค้าซึ่งอาจสร้างภาระและบีบให้เฟดต้องลดดอกเบี้ยเพื่อปกป้องเศรษฐกิจของประเทศ

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ในคณะบริหารยังคงหลับหูหลับตาคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอเมริกาปีนี้จะโตแซงหน้าปีที่แล้ว สวนทางกับนักวิเคราะห์เอกชนที่บางรายฟันธงว่า มีโอกาสมากขึ้นที่อเมริกาจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า

นอกจากนั้น หลังจากกลางสัปดาห์ที่แล้วที่จีนรายงานว่า ผลผลิตอุตสาหกรรมประจำเดือนกรกฎาคมทำสถิติต่ำสุดในรอบ 17 ปี ตามด้วยการเปิดเผยของเยอรมนีว่า เศรษฐกิจติดลบต่อเนื่อง 2 ไตรมาส ตลาดพันธบัตรอเมริกาออกอาการทันทีด้วยการที่ผลตอบแทนพันธบัตรคลังระยะ 10 ปีลดลงต่ำกว่าผลตอบแทนพันธบัตรคลังระยะ 2 ปี (inverted yield curve) และถือเป็นลางบ่งชี้ที่ค่อนข้างน่าเชื่อถือของภาวะถดถอย

ทว่า เจ้าหน้าที่อาวุโสในคณะบริหารกลับบอกว่า นักวิเคราะห์และนักลงทุนตื่นตูมเกินไป โดยอ้างอิงข้อมูลยอดค้าปลีกที่ออกมาเมื่อเช้าวันพฤหัสฯ ซึ่งบ่งชี้ว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงแข็งแกร่ง

ด้านทรัมป์มามุกเดิมว่า นักข่าวกุ “ข่าวปลอม” เพราะหวังให้ตนเองสอบตกในการเลือกตั้งปลายปีหน้าด้วยการละเลงภาพว่า เศรษฐกิจกำลังแย่

“แต่ปัญหาก็คือ เศรษฐกิจอเมริกาแข็งแรงเกินไปด้วยซ้ำ และเราจะชนะในด้านการค้า ทุกคนต่างรู้ว่า นั่นหมายถึงสงครามการค้ากับจีนด้วย!” ผู้นำสหรัฐฯ คุยโขมง

ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน ปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาด้านการค้าของทำเนียบขาวให้สัมภาษณ์ฟ็อกซ์ นิวส์ ย้ำว่า พื้นฐานเศรษฐกิจสหรัฐฯ แข็งแกร่งราวหินผา และเหน็บเฟดที่คงดอกเบี้ยสูงเกินไป ก่อนสำทับว่า สาเหตุที่ทรัมป์ตัดสินใจชะลอการขึ้นภาษีศุลกากรสินค้าจีนบางส่วนเพราะต้องการให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ควบคุมได้ เพื่อให้เฟดมีช่องทางลดดอกเบี้ยลงอีก

ทั้งนี้ เดือนกรกฎาคมเฟดลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบกว่าทศวรรษ ส่วนหนึ่งเพื่อรับมือความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากสงครามการค้าและภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว พร้อมส่งสัญญาณว่า อาจลดดอกเบี้ยอีกถ้าความเสี่ยงเหล่านี้ยังคงอยู่และเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ

วันพุธที่แล้ว ทรัมป์ทวิตสวดเฟดอีกยก “จีนไม่ใช่ปัญหาของเรา แม้สถานการณ์ในฮ่องกงไม่ได้ช่วยอะไรนัก แต่ปัญหาของเราคือ ก่อนหน้านี้เฟดขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงเกินไป”

ทว่า สตีเฟน โรช นักวิชาการอาวุโสของมหาวิทยาลัยเยล และอดีตประธานกรรมการมอร์แกน สแตนลีย์ เอเชีย มองว่า ณ เวลานี้ ปัญหาของอเมริกาใหญ่โตกว่าที่เฟดจะรับไหว

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่า ภัยคุกคามสำคัญของเศรษฐกิจอเมริกาคือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจภายนอก รวมทั้งความเป็นไปได้ที่สงครามการค้าของทรัมป์จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจโลกวูบหนัก พลอยฉุดการลงทุนและการขยายตัวในสหรัฐฯ ไปด้วย

ลาร์รี ซัมเมอร์ส อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ สับว่า สงครามการค้าของทรัมป์เป็นความขัดแย้งทางการค้าที่โง่เง่า แถมออกแนวซาโดมาโซคิสม์คือแฮปปี้ที่เห็นคนอื่นและตัวเองเจ็บปวด เพราะทรัมป์โจมตีจีนด้วยทุกสิ่งที่วอชิงตันมีและทำให้อเมริกาได้รับผลกระทบไปด้วย เขายังสำทับว่า เศรษฐกิจอเมริกาและโลกกำลังเผชิญความเสี่ยงที่สุดนับจากวิกฤตการเงินปี 2008

ทางด้านโกลด์แมน แซคส์ลดการคาดการณ์อัตราเติบโตแดนอินทรีไตรมาสส่งท้ายปีนี้ลงอยู่ที่ 1.8% และสำทับว่า สงครามการค้าอาจดึงเศรษฐกิจอเมริกาชะลอตัวก่อนถึงการเลือกตั้งปีหน้า

นิตยสารฟอร์บส์ชี้ว่า หนึ่งในข้อผิดพลาดร้ายแรงที่สุดของทรัมป์คือ การหลงยุคและเข้าใจไปเองว่า ระบบการค้าโลกยังคงเหมือนเมื่อทศวรรษ 1980 ซึ่งตอนนั้นเขายังเป็นแค่ขาใหญ่ในแวดวงอสังหาริมทรัพย์และมักออกทีวีโจมตีญี่ปุ่นที่กำลังรุ่งสุดๆ ว่า เป็นอาชญากร “ดูดเลือดอเมริกา”

ในช่วงทศวรรษดังกล่าว มาตรการภาษีศุลกากรอาจออกฤทธิ์น่าพอใจในระดับหนึ่ง แต่ต้องไม่ลืมว่า ตอนนั้นจีน อินเดีย อินโดนีเซีย และฐานการผลิตอื่นๆ ยังเป็นแค่ไก่กา ขณะที่ความแตกต่างด้านค่าแรงในปัจจุบันทำให้มาตรการภาษีศุลกากรไม่ได้ช่วยให้ตำแหน่งงานนับล้านไหลออกจากจีนกลับไปอเมริกา แต่มีแนวโน้มโยกย้ายไปยังเวียดนามและฟิลิปปินส์มากกว่า

นอกจากการโจมตีจีนของทรัมป์ไม่ได้ทำให้อเมริกาสร้างนวัตกรรมหรือผลผลิตมากขึ้นแล้ว การที่ประมุขทำเนียบขาวผู้นี้ข่มเหงรังแกให้เฟดลดดอกเบี้ยก็ไม่ได้ช่วยให้ธุรกิจอเมริกันมีความสามารถแข่งขันเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

ขณะเดียวกัน แม้นโยบายของทรัมป์ทำให้แผนการ “เมด อิน ไชน่า 2025 ” ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ต้องการดันจีนเป็นผู้นำทุกสิ่งตั้งแต่พลังงานหมุนเวียน เซมิคอนดักเตอร์ รถอัตโนมัติ หุ่นยนต์ไปจนถึงปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ยากลำบากขึ้น แต่ในทางกลับกัน การกดดันนี้ทำให้สีมุ่งหน้าสู่แนวทางรัฐนิยมเต็มตัวที่อาจนำไปสู่ตอนจบแบบเดียวกับนิทานอีสปเรื่องกระต่ายกับเต่า ซึ่งแน่นอนว่า กระต่ายคือทรัมป์ที่เร่งสปีดเต็มข้อด้วยมาตรการภาษีศุลกากรและการข่มขู่ต่างๆ นานาอย่างเชื่อมั่นและโอหัง ขณะที่เต่าอย่างสีละเมียดละไมวางแผนโดยมีเป้าหมายอยู่ที่ความสำเร็จของกลยุทธ์เมด อิน ไชน่า 2025 และอนาคตหลังจากนั้น

ฉากสุดท้ายของกระต่ายกับเต่า 2019 อาจจบลงที่ทรัมป์ทำให้อเมริกาพังพาบและได้แต่มองจีนคืบคลานอย่างมั่นคงผ่านหน้าสู่เส้นชัย
กำลังโหลดความคิดเห็น