xs
xsm
sm
md
lg

รฟท.ดันลงทุนทางคู่เฟส 2 กว่า 2.66 แสนล้าน ผ่าน EIA แล้ว 3 สาย ลุ้น สศช.เคาะนำร่องประมูล "ขอนแก่น-หนองคาย" ปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



รฟท.จัดแผนดันลงทุนรถไฟทางคู่เฟส 2 วงเงินกว่า 2.66 แสนล้านบาท เผยออกแบบเสร็จผ่าน EIA แล้ว 3 เส้นทาง ลุ้น สศช.ไฟเขียว ชง ครม.เคาะประมูลช่วงขอนแก่น-หนองคาย นำร่องในปี 65 พร้อมจ่อชงบอร์ดรฟท.อีก 2 สาย "ปากน้ำโพ-เด่นชัย" และ"จิระ-อุบล"

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,479 กม. วงเงินรวม 266,975.99 ล้านบาทว่า เป้าหมายของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ จำนวน 7 เส้นทาง เพื่อเติมเต็มโครงข่ายรถไฟที่มีให้เป็นระบบทางคู่ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการขนส่งสินค้าผ่านระบบราง จากจำนวน 10 ล้านตัน/ปี เป็น 20 ล้านตัน/ปี และกระตุ้นให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวหันมาใช้รถไฟในการเดินทางเพิ่มขึ้นจาก 35 ล้านคน/ปี เป็น 80 ล้านคน/ปี

โดยขณะนี้มี 1 โครงการที่คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ได้อนุมัติไปแล้ว คือ รถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กม. มูลค่าโครงการ 29,748 ล้านบาท โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการ

โดยคาดว่า ครม.จะได้รับอนุมัติภายในไตรมาส 3/ 2565 จากนั้นจะดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ไตรมาส 3-4 ปี 2565 พร้อมกับจัดทำร่าง TOR ราคากลางและประกวดราคา จากนั้นเริ่มสำรวจอสังหาริมทรัพย์ และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินในปี 2566-2567 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปี 2566 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน แล้วเสร็จต้นปี 2569  

ซึ่งช่วงขอนแก่น-หนองคายถือเป็นเส้นทางในเฟส 2 ที่มีความสำคัญในลำดับแรก ตามที่ สศช.ได้ให้ รฟท.ศึกษาและจัดลำดับความสำคัญ เนื่องจากเป็นเส้นทางตามยุทธศาสตร์ที่เชื่อมต่อกับ สปป.ลาว ที่มีเส้นทางรถไฟเชื่อมไปยังประเทศจีนตอนใต้ และเปิดให้บริการแล้ว นอกจากนี้ยังมีความพร้อมที่สุด เพราะมีการออกแบบแล้ว ได้รับอนุมัติ EIA แล้ว คาดการณ์ปริมาณสินค้าในปี 2580 ที่ 12 ล้านตัน/ปี มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 18.46% 

และล่าสุด เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2565 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 2/2565 ได้มีมติเห็นชอบโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 280.5 กม. มูลค่าโครงการ 59,399.80 ล้านบาท ขั้นตอนต่อไปจะนำเสนอบอร์ด รฟท.เห็นชอบ และเสนอกระทรวงคมนาคม สศช. และครม.ตามขั้นตอน โดยเป็นเส้นทางที่มีความสำคัญในลำดับต้นๆ เนื่องจากจะเชื่อมต่อกับรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ให้สมบูรณ์อย่างไร้รอยต่อ  

จากรายงานผลการศึกษาคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารเส้นทางช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ประมาณ 1.2 หมื่นคน/วัน ส่วนการขนส่งสินค้าในพื้นที่มีสินค้าเป้าหมาย เช่น น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ปูนซีเมนต์ ข้าว มันสำปะหลัง น้ำตาล เป็นต้น โดยมีย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า 3 แห่ง ได้แก่ 1. สถานีบางกะทุ่ม 2. สถานีวังกะพี้ 3. สถานีศิลาอาสน์

ขณะที่ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. วงเงิน 36,683 ล้านบาท รายงาน EIA ได้รับความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2563 ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนสรุปข้อมูลเสนอบอร์ด รฟท.ขออนุมัติโครงการ เริ่มก่อสร้างปี 2566 คาดเปิดให้บริการปี 2571 โดยมีโครงสร้างพื้นดินและทางยกระดับ มี 35 สถานี ย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า 4 แห่ง (ที่หยุดรถบ้านตะโก สถานีบุฤาษี สถานีหนองแวง สถานีบุ่งหวาย)

ส่วนรถไฟทางคู่ระยะ 2 ที่เหลืออีก 4 เส้นทาง ได้แก่ 1. ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม. วงเงิน 57,992.44 ล้านบาท มีโครงสร้างระดับพื้นดิน ทางยกระดับ และอุโมงค์ มี 17 สถานี มีย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า 2 แห่ง (สถานีห้างฉัตร สถานีสารภี) ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอขออนุมัติโครงการฯพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดเริ่มก่อสร้างปี 2566 และเปิดให้บริการปี 2570

2. ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กม. วงเงิน 23,080 ล้านบาท มีโครงสร้างพื้นดินและทางยกระดับรถไฟ มี 22 สถานี และมีย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า 1 แห่ง (สถานีชุมทางบ้านทุ่งโพธิ์) ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงรายงาน EIA ตามมติคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) หลังจากนั้นจะส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาเห็นชอบ คาดเริ่มก่อสร้างปี 2566 และเปิดให้บริการปี 2570

3. ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กม. วงเงิน 56,114.26 ล้านบาท มีโครงสร้างพื้นดิน ทางยกระดับรถไฟ และอุโมงค์ มี 65 สถานี มีย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า 2 แห่ง (สถานีชุมทางทุ่งสง สถานีบางกล่ำ) ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอขออนุมัติ EIA คาดเริ่มก่อสร้างปี 2566 และเปิดให้บริการปี 2571

4. ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. วงเงิน 7,864.49 ล้านบาท มีโครงสร้างระดับพื้นดินและทางยกระดับ มี 3 สถานี มีย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า 1 แห่ง (สถานีปาดังเบซาร์) ปัจจุบันรายงาน EIA ได้รับความเห็นชอบอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอขออนุมัติโครงการฯ คาดเริ่มก่อสร้างปี 2566 เปิดให้บริการปี 2570

ส่วนโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้น ได้แก่ สายเหนือ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม. วงเงิน 72,921 ล้านบาท และสายอีสาน สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 54,684.40 ล้านบาท ซึ่งลงนามสัญญากับผู้รับจ้างแล้วนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินงานในขั้นตอนการเวนคืน ซึ่งพบว่ามีความล่าช้าอยู่บ้าง

โดยสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ก่อสร้าง 6 ปี เปิดบริการปี 2571 คาดการณ์ผู้โดยสาร 9,816 คน/วัน ปริมาณสินค้า 8.23 ตัน/ปี มีย่านกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า (CY) 4 แห่ง (สถานีแพร่ สถานีพะเยา สถานีป่าแดด สถานีเชียงราย)

ส่วนสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ก่อสร้าง 4 ปี เปิดบริการปี 2569 คาดการณ์ผู้โดยสาร 25,185 คน/วัน ปริมาณสินค้า 1,07 ตัน/ปี มีย่านกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า (CY) 3 แห่ง (สถานีภูเหล็ก สถานีสะพานมิตรภาพ 2 สถานีสะพานมิตรภาพ 3)
 
 นอกจากนี้ รฟท.มีแผนพัฒนาทางรถไฟสายใหม่ในระยะต่อไปอีก 12 เส้นทาง ระยะทาง 2,419 กม. จากเดิมที่มีระยะทาง 4,507 กม. จะเพิ่มเป็น 6,926 กม. ผ่านพื้นที่เดิม 47 จังหวัดเป็น 61 จังหวัด เช่น เส้นทางแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์, เส้นทางนครสวรรค์-บ้านไผ่, เส้นทางอุบลราชธานี-ช่องเม็ก, เส้นทางกาญจนบุรี-ชุมทางบ้านภาชี, เส้นทางกาจนบุรี-พุน้ำร้อน, เส้นทางมาบตาพุด-ระนอง-จันทบุรี-ตราด, เส้นทางชุมพร-ระนอง, เส้นทางสุราษฎร์ธานี-ดอนสัก, เส้นทางสุราษฎร์ธานี-ท่านุ่น และเส้นทางทับปุด-กระบี่

 




กำลังโหลดความคิดเห็น