xs
xsm
sm
md
lg

เปิดประเทศดันเดินทางเพิ่ม “สนามบิน-ระบบราง” ผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวันสูงกว่าปี 63-64

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ขนส่งทุกระบบเริ่มฟื้นหลังเปิดประเทศเต็มรูปแบบ คลายล็อกเดินทาง ดันสนามบินมีผู้โดยสารเพิ่มกว่า 10% เมื่อเทียบกับปี 63 ส่วนระบบรางผู้โดยสารสูงสุดกว่า 8.6 แสนคน/วัน รีเทิร์นเกินครึ่ง

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลได้มีมาตรการผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศอย่างเต็มรูปแบบด้วยการยกเลิกระบบ Test & Go เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2565 เป็นต้นมา ส่งผลทำให้การขนส่งทุกระบบมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น โดยระบบรางผู้โดยสารในภาพรวมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในช่วงสัปดาห์แรก วันที่ 1-7 พ.ค. 2565 ค่อยๆ เพิ่มขึ้นจาก 543,815 คน/วัน สูงสุดที่ 883,865 คน/วันเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2565  

โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีผู้โดยสารวันที่ 1 พ.ค. 2565 จำนวน 42,376 คน เพิ่มสูงสุดในวันที่ 6 พ.ค. 2565 จำนวน 43,491 คน รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ผู้โดยสารวันที่ 1 พ.ค. 2565 จำนวน 25,801
คน เพิ่มสูงสุดในวันที่ 6 พ.ค. 2565 จำนวน 41,384 คน รถไฟชานเมืองสายสีแดง ผู้โดยสารวันที่ 1 พ.ค. 2565 จำนวน 7,861 คน เพิ่มสูงสุดในวันที่  6 พ.ค. 2565 จำนวน 
11,210 คน รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วงผู้โดยสารวันที่ 1 พ.ค. 2565 จำนวน 148,409 คน เพิ่มสูงสุดในวันที่  6 พ.ค. 2565 จำนวน 274,485 คน รถไฟฟ้าบีทีเอส ผู้โดยสารวันที่ 1 พ.ค. 2565 จำนวน 319,368 คน เพิ่มสูงสุดในวันที่ 6 พ.ค. 2565 จำนวน  513,295 คน 

@โหมดทางอากาศ ผู้โดยสารเดินทางเริ่มคึกคัก เพิ่มขึ้นกว่า 10% 

สำหรับการเดินทางด้วยระบบขนส่งทางอากาศทุกสนามบินในปัจจุบันมีค่าเฉลี่ย 118,294 คน/วัน เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยปี 2563 อยู่ที่ 107,461 คน/วัน หรือเพิ่มขึ้น 10.08% เช่น ที่สนามบินสุวรรณภูมิมีผู้โดยสารเฉลี่ย 30,000-32,000 คน/วัน สนามบินดอนเมืองมีผู้โดยสารเฉลี่ย 35,000-40,000 คน/วัน สนามบินภูเก็ตมีผู้โดยสารเฉลี่ย 13,000-15,000 คน/วัน สนามบินเชียงใหม่ มีผู้โดยสารเฉลี่ย 12,000-13,000 คน/วัน สนามบินเชียงราย มีผู้โดยสารเฉลี่ย 4,000 คน/วัน สนามบินหาดใหญ่ มีผู้โดยสารเฉลี่ย 9,000 คน/วัน เป็นต้น 

ส่วนปริมาณการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคล เข้า-ออก กทม. ณ วันที่ 7 พ.ค. 2565 จำนวน 860,000 คัน/วัน ต่ำกว่าช่วงปี 2563 ประมาณ 3.01% ส่วนปริมาณรถบนทางด่วน เฉลี่ย 1,305,298 ล้านคัน/วัน ต่ำกว่าช่วงปี 2563 ประมาณ 3.48% 

ปริมาณผู้โดยสาร รถโดยสารประจำทางใน กทม. (รถ ขสมก.และรถร่วมเอกชน) ที่ 554,908 คน/วัน ต่ำกว่าช่วงปี 2563 ประมาณ 29.52%, ปริมาณผู้โดยสารรถประจำทางที่วิ่งจาก กทม.ไปต่างจังหวัด (บขส.และรถร่วมเอกชน) ที่ 41,956 คน/วัน ต่ำกว่าช่วงปี 2563 ประมาณ 30.78%

คมนาคมทางน้ำ เรือด่วนเจ้าพระยา มีผู้โดยสารเฉลี่ย 4,245 คน/วัน ขณะที่ปี 2563 มีผู้โดยสารเฉลี่ย 9,491 คน/วัน เรือคลองแสนแสบ เฉลี่ย 8,288 คน/วัน ปี 2563 มีผู้โดยสารเฉลี่ย12,176 คน/วัน เรือในภูมิภาค เฉลี่ย 92,548 คน/วัน ปี 2563 มีผู้โดยสารเฉลี่ย 77,829 คน/วัน โดยภาพรวมผู้โดยสารคมนาคมทางน้ำในปัจจุบันรวมที่ประมาณ 105,081 คน/วัน ยังต่ำกว่าก่อนโควิดระบาดประมาณ 59% 

@ผู้โดยสารรถไฟฟ้าทยอยเดินทางเพิ่มในสัปดาห์ที่ 2 

สำหรับสัปดาห์ที่ 2 ช่วงวันที่ 8-14 พ.ค. 2565 การเดินทางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 12 พ.ค.2565 (วันทำงานสุดท้ายก่อนหยุดยาว) พบว่า ปริมาณผู้โดยสารระบบขนส่งทางรางทุกระบบ ทั้งรถไฟ, รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ รถไฟชานเมืองสายสีแดง รถไฟฟ้า MRT รถไฟฟ้า BTS ในภาพรวมปรับเพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ส.ค. ที่มีปริมาณผู้โดยสารรวม 863,857คน ซึ่งกลับมาอยู่ที่ระดับ 60% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโรคโควิด-19 ที่มีผู้โดยสารในระบบรางถึง 1.22 ล้านคน/วัน  

โดย รฟท.ผู้โดยสารจำนวน 47,734 คน รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ มีผู้โดยสาร 42,388 คน รถไฟชานเมืองสายสีแดง มีผู้โดยสาร 11,937 คน รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง มีผู้โดยสาร 256,120 คน รถไฟฟ้าบีทีเอส มีผู้โดยสาร 505,675 คน  

 










กำลังโหลดความคิดเห็น