xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแผล...U Drink I Drive สตาร์ทอัพ ที่กำลัง “ดาวน์” เพราะปัญหาภายใน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


จากงานโปรเจคต์ที่จัดทำขึ้นเพื่อประกอบการจบการศึกษาในชั้นปริญญาโทของ “สิรโสมย์ บริสุทธิ์สุวรรณ์” ต่อยอดไปสู่แอปพลิเคชั่นน้องใหม่ในชื่อ U Drink I Drive ที่แม้ว่าระยะแรกๆ ผลตอบรับจะไม่สู้ดีเท่าไรนัก ส่งผลให้สมาชิกผู้ร่วมลงทุนก่อตั้งในยุคต้นบางคน ตัดสินใจวางมือ พร้อมกับเทขายหุ้นให้ผู้สนใจรายใหม่ได้เข้ามาเทค

จนกระทั่งล่าสุด เมื่อปี 2561 จำนวนผู้ถือหุ้นใน U Drink I Drive มีด้วยกันทั้งหมด 3 คน คือ น.ส.สิรโสมย์ บริสุทธิ์สุวรรณ์, น.ส.อภินรา ศรีกาญจนา และ นายจิรายุ พิริยะเมธา ขณะที่ผลประกอบการเริ่มดีขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งถูกจับตามองในฐานะ “สตาร์ทอัพ ดาวรุ่ง” ที่มีอนาคตไกล มูลค่าในตลาดของ U Drink I Drive ที่ประเมินกัน สูงถึงร้อยๆ ล้านบาท ถึงขนาดเคยมีคนมาขอซื้อในราคา 250-300 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ในขณะที่ธุรกิจกำลังไปได้สวย ปรากฏว่า สมาชิก 2 ใน 3 คือ “อภิรนา” กับ “จิรายุ” ซึ่งถือหุ้นรวมกันแล้วเยอะกว่า “สิรโสมย์” ที่สัดส่วน 60 ต่อ 40 มีความพยายามที่จะขายแอปพลิเคชั่นนี้ออกไปในราคาเพียง 3 ล้านบาท! โดยบริษัทที่ทั้งคู่จะขายให้นั้น คือ “บริษัท เอเชียพลัส แอสซิสแต้นซ์ จำกัด” ซึ่งมีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับ “บริษัท เอเชียประกันภัย 1950” ซึ่งมี “อภินรา” และ “พ่อ” ของอภินรา เป็นทั้งกรรมการและผู้ถือหุ้นอยู่ เมื่อรู้สึกว่า เรื่องราวนี้ไม่ชอบมาพากล และมีเงื่อนงำน่าสงสัย “สิรโสมย์” จึงดำเนินการฟ้องร้อง กระทั่งล่าสุด “ศาลแพ่งกรุงเทพใต้” มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามมิให้ดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น จนกว่าจะมีคำพิพากษาออกมา คำถามก็คือ...มันเกิดอะไรขึ้นจริงๆ กับสตาร์ทอัพ ที่กำลังรุ่งรายนี้? Ibusiness สรุปไทม์ไลน์ความเป็นมา ผ่านการสนทนากับ “สิรโสมย์ บริสุทธิ์สุวรรณ์” ผู้ปั้นโปรเจคต์มากับมือ และยินดีเปิดใจเล่าแบบหมดเปลือกทุกรายละเอียด...

สรุปไทม์ไลน์เรื่องราว
บริษัท ยูดริ้งค์ ไอไดรฟ์ จำกัด

มีนาคม 2556
สิรโสมย์ บริสุทธิ์สุวรรณ์ ทำโปรเจคต์ปริญญาโท ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเรื่องเกี่ยวกับการให้บริการส่งพนักงานขับรถ ไปขับรถให้กับลูกค้าที่ออกมาดื่ม เพื่อให้กลับบ้านอย่างปลอดภัย มีจุดประสงค์เพื่อที่จะช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนของประเทศไทยที่เกิดจากปัญหาการดื่มแล้วขับ ซึ่งประเทศไทยมีอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นอันดับที่ 2 ของโลก และเกือบ 40% เกิดจากปัญหาการดื่มแล้วขับ

สิงหาคม 2556
บริษัท ยูดริ้งค์ ไอไดรฟ์ จำกัด ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อสานต่อจากไอเดียทางธุรกิจ โปรเจคต์ ป.โท ของ “สิรโสมย์” โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งทั้งหมด คือ
1.น.ส.สิรโสมย์ บริสุทธิ์สุวรรณ์
2.น.ส.ณิชมน วิริยะลัมภะ
3.น.ส.สวรัตน์ ชาตริยานุโยค
4.นายอัครเดช ประกิตสุวรรณ
5.บริษัท ลิมูซีน เอ๊กซ์เพรสกรุ๊ป จำกัด

มกราคม 2559
หลังจากเปิดกิจการในช่วงแรกๆ ผลตอบรับที่ไม่ดีนัก ไม่มีคนใช้บริการมากเท่าที่ควร บริษัทขาดทุนติดต่อกันทุกเดือน น.ส.ณิชมน ได้ตัดสินใจกลับไปดูแลธุรกิจที่บ้าน น.ส.สวรัตน์ ต้องเดินทางไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ ทั้งสองจึงได้เสนอขายหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นรายอื่น ขณะนั้น บริษัทต้องการประกันภัยให้กับลูกค้า นางสาวอภินรา ศรีกาญจนา จึงได้เสนอตนเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วน 10% เป็นจำวนเงินลงทุน 300,000 บาท

พฤศจิกายน 2560
บริษัท ลิมูซีน เอ๊กซ์เพรสกรุ๊ป จำกัด ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “นายจิรายุ พิริยะเมธา”

มีนาคม 2561
นายอัครเดช ผู้ถือหุ้นสัดส่วน 20% ตัดสินใจกลับไปดูแลกิจการที่บ้าน ด้านนางสาวอภินรา จึงต้องการซื้อหุ้นเพิ่มอีก เพื่อตนเองจะได้มีกำลังใจในการทำงาน ซึ่งทางบริษัท ยูดริ้งค์ ไอไดรฟ์ จำกัด ได้มีข้อตกลงกับนางสาวอภินราว่า สามารถซื้อหุ้นอีก 10% และอีก 10% จะต้องเตรียมไว้เพื่อให้พนักงานของบริษัทในอนาคต หลังการระดมทุนเพื่อรักษาพนักงานที่มีความสามารถ และเป็นปัจจัยความสำเร็จของบริษัท ให้เติบโตไปพร้อมกับบริษัท
โดยข้อตกลง คือ นางสาวอภินรา จะเป็นผู้ถือหุ้นแทนพนักงานทั้งหมดก่อน บริษัทจึงได้ร่างสัญญาไว้และมีอีเมล์เป็นหลักฐานว่า นางสาวอภินรา รับทราบถึงหุ้น 10% นี้ และผู้ถือหุ้นทั้งหมดรับทราบและตกลงร่วมกัน แต่นางสาวอภินรา ยังไม่ยอมลงนาม โดยให้เหตุผลว่า ไม่รีบร้อยในเรื่องการเงินที่ตนเอาไปซื้อหุ้นให้พนักงาน อยากให้บริษัทนำเงินนี้ไปบริหารกิจการก่อน จึงไม่ยอมลงนามในเอกสาร

มกราคม 2562
ได้มีการประชุมหุ้นส่วนทั้งหมดในปัจจุบัน คือ
1.น.ส.สิรโสมย์ บริสุทธิ์สุวรรณ์ ถือหุ้น 40%
2.น.ส.อภินรา ศรีกาญจนา ถือหุ้น 20% และถือหุ้นแทนพนักงานอีก 10%
3.นายจิรายุ พิริยะเมธา ถือหุ้น 30%
ในเรื่องแผน ที่จะขยายกิจการผ่านการระดมทุน และจะนำเงินที่ได้จากนักลงทุนมาพัฒนาแปรรูปแบบของธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น และถึงเวลาต้องหาผู้บริหารมืออาชีพมาจัดระบบองค์กรให้เป็นสากลเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของบริษัท
“ในขณะที่เริ่มหานักลงทุน มีนักลงทุนติดต่อเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยให้มูลค่าของบริษัทประมาณ 250 ล้านบาท แต่ดิฉันเชื่อว่า หลังจากทำการประเมินมูลค่าบริษัท น่าจะได้ถึง 300 ล้านบาท ดิฉันในฐานะ CEO ที่บริหารงานมาเกือบ 6 ปี ต้องเข้าไปพบนักลงทุน เพื่ออธิบายถึงธุรกิจและการเติบโต โดยจำเป็นต้องบินไปต่างประเทศบ่อยมาก ตามแผนการขยายไปในเอเชียภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ จึงได้ตัดสินใจลาออก และดำเนินการคัดเลือก CEO มืออาชีพมาบริหารแทนตนเอง ตามที่ได้ตกลงกันไว้ โดยที่ดิฉันยังเป็นกรรมการบริหารผู้มีอำนาจลงนามและผู้ถือหุ้นใหญ่ 40% เหมือนเดิม

“แต่หลังจากลาออกได้ไม่นาน นางสาวอภินรา ก็ขอตนเองเข้ามาเป็นกรรมการ โดยอ้างว่า ดิฉันต้องบินไปพบนักลงทุนที่ต่างประเทศบ่อยครั้ง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ ตนจะเข้ามาช่วยดำเนินการให้ ซึ่งที่ผ่านมา เป็นเพียงผู้ถือหุ้นเท่านั้น หลังจากได้เป็นกรรมการแล้ว ก็ไม่ได้หา CEO มืออาชีพมาบริหารแต่อย่างใด โดยแจ้งว่า ไม่ต้องหาแล้ว นางสาวอภินรา และนายจิรายุ มีความต้องการจะดำรงตำแหน่ง Co-CEO ร่วมกันเอง”

28 กุมภาพันธ์
นางสาวอภินรา และนายจิรายุ ได้ใช้อำนาจกรรมการ ลงนามสัญญากู้ยืมเงินจากนายจุลพยัพ ศรีกาญจนา ซึ่งเป็นบิดาของนางสาวอภินรา จำนวน 700,000 บาท พร้อมอัตราดอกเบี้ย 15% โดยอ้างว่ามีเหตุจำเป็นเพื่อนำมาหมุนในธุรกิจ โดยไม่มีการเรียกประชุมหรือการแจ้งให้ทราบแต่อย่างใด ซึ่งก่อนที่นางสาวอภินราจะเข้ามาเป็นกรรมการ บริษัทมีเงินหมุนเวียนมากกว่า 2 ล้านบาท
“ดิฉันไม่เห็นความจำเป็นของการกู้ยืมเงิน เพราะตลอดระยะเวลา 6 ปี บริษัท ยูดริ้งค์ ไอไดรฟ์ จำกัด ไม่เคยต้องกู้ยืมบุคคลภายนอกมาก่อน หากบริษัทขาดสภาพคล่อง หุ้นส่วนทุกคนก็จะนำเงินมาลงทุนเพิ่มตามสัดส่วนของตนเอง และหากต้องกู้ยืมเงินจริงๆ แล้ว ยังมีทางเลือกอื่นมากมาย”

6 มีนาคม 2562
ตั้งแต่นางสาวอภินรา ได้เสนอตนเข้ามาเป็นกรรมการและขึ้นเป็น CEO ได้ขอเสนอซื้อหุ้นของดิฉัน เพราะตนเองต้องการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่ดิฉันไม่สามารถรับข้อเสนอได้ จึงปฏิเสธข้อเสนอไป

26 มีนาคม 2562
นางสาวอภินรา และนายจิรายุ ได้เรียกประชุมกรรมการ 1/2562 เพื่อแจ้งย้อนหลังถึงหนังสือกู้ยืมเงิน 700,000 บาท ของบริษัท กับ นายจุลพยัพ ศรีกาญจนา เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 พร้อมนำเสนอ บริษัท เอเชียพลัส แอสซิสแต๊นท์ จำกัด ที่ต้องการซื้อเฉพาะทรัพย์สินทั้งหมดของบริษัท โดยไม่ใช่การระดมทุนแบบ StartUp ตามที่ได้ตกลงกันไว้
“การประชุมครั้งนี้ ดิฉันได้แจ้งในที่ประชุมว่า ต้องการขอเอกสารงบการเงินต่างๆ บัญชีรายรับ-รายจ่ายของปี 2562 ซึ่งไม่เคยได้รับมาตลอด ตั้งแต่ที่ทั้งสองคนเข้ามาบริหารงาน”

24 เมษายน 2562
“นางสาวอภินรา และนายจิรายุ ได้เรียกประชุมผู้ถือหุ้น 1/2562 เพื่อชี้แจงและทำการรับรองงบปี 2561 ดิฉันจึงได้แจ้งในที่ประชุมว่า ต้องการขอเอกสารงบการเงินต่างๆ และการเข้าถึงรายรับ-รายจ่ายของปี 2562 ทั้งหมดที่ดิฉันได้เคยร้องขอไว้หลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่เคยได้รับเลย พร้อมทั้งดิฉันเสนอว่า มีบริษัทสนใจซื้อทรัพย์สินของบริษัทเป็นเงิน 20 ล้าน โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ เช่นเดียวกันกับบริษัท เอเชียพลัส แอสซิสแต๊นท์ จำกัด และไม่ต้องการนำทีมบริหาร คือ อภินรา จิรายุ รวมทั้งตัวดิฉัน แต่นางสาวอภินรา และนายจิรายุ ไม่ยอมรับข้อเสนอดังกล่าว โดยแจ้งว่า ถ้าต้องซื้อทรัพย์สินของบริษัท จะต้องนำตนทั้งสองคนไปบริหารต่อด้วย โดยไม่ได้สนใจดิฉันเลย”

7 พฤษภาคม 2562
นางสาวอภินรา และนายจิรายุ ได้ส่งหนังสือเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น 1/2562 โดยวาระที่ 4 ของการประชุม นางสาวอภินรา ได้นำเสนอข้อเสนอของบริษัท เอเชียพลัส แอสซิสแต๊นท์ จำกัด อีกครั้ง ที่มีการแก้ไขรายละเอียดบางข้อ และได้นำเสนอให้ทำการโหวตมติที่ประชุมทันที เนื่องจากต้องให้คำบอกกล่าวผู้ซื้อเป็นลายลักษณ์อักษร ก่อนเวลา 17.00 น. มิเช่นนั้น ข้อเสนอจะถือเป็นโมฆะ

“โดยที่ดิฉันไม่เคยเห็นข้อเสนอฉบับล่าสุดมาก่อนเข้าที่ประชุม ทั้งๆ ที่เป็นเอกสารสำคัญในการตัดสินใจของผู้ถือหุ้น โดยนางสาวอภินราอ้างว่า ต้องการแก้ไขสถานะทางการเงินของบริษัทอย่างเร่งด่วน โดยนางสาวอภินรา และนายจิรายุ เห็นด้วยกับการขายทรัพย์สินของบริษัท​ แต่ดิฉันได้คัดค้านการซื้อขายนั้นในที่ประชุม และพยายามจะนำเสนอข้อเสนอใหม่ ว่ามีบริษัทอื่นที่ต้องการซื้อทรัพย์สินของบริษัทในราคา 25 ล้านบาท​ แต่ก็ไม่มีผู้ใดสนใจ​”



“การประชุมเริ่มเวลา 14.30 น.และเสร็จสิ้นเวลา 16.40 น. ต่อมาเวลา 17.07 น. นางสาวอภินราได้ส่งอีเมล์มาให้ดิฉัน โดยแนบเช็คที่สแกนว่า เอเชียพลัส แอสซิสแต๊นท์ จำกัด สั่งจ่ายเงินจำนวน 3 ล้านบาท ให้บริษัท ยูดริ้งค์ ไอไดรฟ์ จำกัด ซึ่งออกโดยธนาคารธนชาติ สาขาราชดำริ ซึ่งทางธนาคารสาขานี้ได้ปิดทำการเวลา 15.30 น. ซึ่งเชื่อว่า เช็คฉบับนี้ได้ถูกจัดเตรียมไว้ ก่อนที่ประชุมจะมีมติในการซื้อขายเลยหรือไม่?”

14 พฤษภาคม 2562
“ดิฉัน (นางสาวสิรโสมย์) ได้ส่งจดหมายไปยังบริษัท เพื่อขอให้กรรมการอีก 2 ท่าน คือ นางสาวอภินรา และนายจิรายุ เรียกประชุมผู้ถือหุ้นโดยด่วนที่สุด เพื่อนำข้อเสนอจากผู้ซื้อหุ้นในราคา 25 ล้านอีกครั้ง”

31 พฤษภาคม 2562
“นางสาวอภินรา และนายจิรายุ เรียกประชุมกรรมการ 2/2562 เพื่อพิจารณาสัญญาขายสินทรัพย์ให้กับบริษัท เอเชียพลัส แอสซิสแต๊นท์ จำกัด ดิฉันได้ร้องขอสัญญาซื้อขายไปล่วงหน้าหลายวัน แต่ได้รับแค่ฉบับร่างเท่านั้น ไม่ได้รับเอกสารฉบับจริง โดยเอกสารทั้งหมด เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด รวมถึง 41 หน้า และส่งให้ดิฉันก่อนการประชุมไม่ถึง 24 ชั่วโมง ทั้งๆ ที่ผู้ซื้อและผู้ขายต่างเป็นคนไทยทั้งหมด ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเป็นเอกสารภาษาอังกฤษเลย
“เอกสารมีจำนวนมาก และเวลาในการตรวจสอบน้อย ดิฉันจึงได้ส่งอีเมล์เพื่อขอเลื่อนการประชุม เนื่องด้วยเอกสารทั้งหมดเป็นเอกสารสำคัญ ดิฉันต้องใช้เวลาพิจารณาเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทและผู้ถือหุ้น แต่นางสาวอภินรา และนายจิรายุ ปฏิเสธ ดิฉันจังไม่ได้เข้าร่วมประชุม เพราะเชื่อว่า การซื้อขายครั้งนี้ คงดำเนินการแบบไม่โปร่งใสแน่นอน และได้เดินทางไปยังศาลแพ่งใต้ เพื่อยื่นฟ้องขอเพิกถอนมติที่ประชุมของวันที่ 7 พฤษภาคม 2562”

7 มิถุนายน 2562
“ดิฉันได้ส่งจดหมายเพื่อเรียกประชุมกรรมการเพื่อสอบถามเกี่ยวกับมติวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่ได้รับรายงานถึงความคืบหน้าใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่ดิฉันยังเป็นกรรมการอยู่ แต่ไม่เคยได้ร่วมปรึกษาหารือเลย ตั้งแต่นางสาวอภินราเสนอตนเข้ามาเป็นกรรมการ นางสาวอภินราแจ้งมาว่า ขอเลื่อนการประชุม เนื่องจากติดธุระ ดิฉันจึงได้เดินทางไปที่บริษัท สำนักงานสาขาทองหล่อ เพื่อพบกับนายจิรายุ ร่วมประชุม แต่เมื่อไปถึง บริษัทถูกปิดบล็อก บริษัทปิดไฟและไม่มีพนักงานอยู่ภายในเลยแม้แต่คนเดียว ทั้งๆ ที่เป็นเวลาทำงาน คือ 14.00 น.ของวันศุกร์ ซึ่งปกติ จะมีพนักงานนั่งอยู่เต็มออฟฟิศ รวมถึงทีมบริหารด้วย”

10 มิถุนายน 2562
“ทนายของดิฉันได้เดินทางไปศาลเพื่อร้องขอเอกสารจากจำเลยทั้ง 4 โดยขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกพยานเอกสารจำเลยมาใช้ในคดี เนื่องด้วยที่ผ่านมา ดิฉันได้พยายามติดต่อนางสาวอภินรา และนายจิรายุ หลายครั้ง เพื่อขอเอกสารสำคัญของบริษัท ประกอบด้วย
1.มติที่ประชุมผู้ถือหุ้น 24 เมษายน 2562
2.มติที่ประชุมผู้ถือหุ้น 7 พฤษภาคม 2562
3.มติที่ประชุมกรรมการ 31 พฤษภาคม 2562
4.งบการเงินรายรับ-รายจ่ายของบริษัทประจำเดือน พร้อม Statement
5.สัญญาซื้อขายฉบับที่ลงนาม
แต่ไม่เคยได้รับเอกสารดังกล่าวเลย ได้รับเพียงคำบ่ายเบี่ยงเท่านั้น

13 มิถุนายน 2562
“นางสาวอภินรา และนายจิรายุ เรียกประชุมผู้ถือหุ้น 2/2562 หลังจากที่ดิฉันส่งหนังสือไปหากรรมการบริษัท ร้องขอให้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นโดยด่วน เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา เพื่อสอบถามถึงการการขายสินทรัพย์ของบริษัทและนำเสนอข้อเสนอของผู้ซื้อที่ให้ราคาสูงกว่า และเงื่อนไขที่ดีกว่า ที่ดิฉันหามาได้ในราคาสูงถึง 25 ล้านบาท แต่กลับเพิ่งเรียกประชุมในวันนี้ แต่ดิฉันไม่สามารถเข้าร่วมประชุมดังกล่าวได้ เนื่องจากการเชิญประชุม ตามที่นางสาวอภินรา และนายจิรายุ เรียกประชุมนั้น ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักของกฎหมาย คือต้องส่งจดหมายเรียกประชุมล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 7 วัน ซึ่งทำให้ดิฉันต้องเดินทางไปฟ้องศาลเพื่อขอเพิกถอนมติที่ประชุมที่ไม่ชอบดังกล่าว”

11 กรกฎาคม 2562
“ดิฉันได้เดินทางไปยังศาล เพื่อร้องขอให้ศาลเรียกจำเลยมาสอบถามถึงสาเหตุขัดข้อง ที่ไม่ยอมส่งเอกสารที่จะต้องนำมาใช้เป็นพยานในชั้นศาลได้ ศาลมีคำวินิจฉัยว่า ไม่มีความจำเป็นต้องเรียกจำเลยมาสอบถาม เนื่องจากการกระทำของจำเลยในการไม่ส่งเอกสารตามคำร้องขอศาล ย่อมมีผลแห่งการต้องปฏิบัติตามข้อบัญญัติกฎหมาย โดยระบุว่า ผู้ใดขัดขืนส่งพยานเอกสาร หรือพยานวัตถุตามเอกสารนี้ ผู้นั้นอาจถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 170 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

22 สิงหาคม 2562
“ดิฉันเดินทางไปยังศาลแพ่งกรุงเทพใต้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อร้องขอต่อศาลให้ไต่สวนฉุกเฉิน เนื่องจากมีเหตุฉุกเฉินเร่งด่วน กรณีกรรมการมิได้ต่อสัญญาเช่าบริษัท แต่ยอมให้บริษัทอื่นเข้ามาครอบครองสิทธิการเช่า และเป็นเจ้าของเงินประกันทั้งหมดของบริษัท รวมถึงอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานในออฟฟิศแทน ซึ่งการกระทำดังกล่าว ทำให้บริษัทดิฉันเสียหาย”
ศาลจึงมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว หมายเลขดำ ที่ พณ วช 14/2562 และหมายเลขแดง พณ วช 11/2562 สั่งให้จำเลยทั้ง 4 ประกอบด้วย
จำเลยที่ 1 บริษัท ยูดริ้งค์ ไอไดรฟ์ จำกัด
จำเลยที่ 2 นายจิรายุ พิริยะเมธา
จำเลยที่ 3 นางสาวอภินรา ศรีกาญจนา
จำเลยที่ 4 บริษัท เอเชียพลัส แอสซิสแต๊นท์ จำกัด
โดยศาลมีคำสั่งห้ามจำเลย ดังต่อไปนี้
1.ห้ามจำเลย จำหน่าย จ่าย โอน ทรัพย์สิ เอฟ เอฟ อี และระบบไอที
2.ห้ามจำเลย จำหน่าย จ่าย โอน ชุดข้อมูล source Code ของซอฟต์แวร์ รวมถึงยูสเซอร์เนม และบัญชีผู้ใช้ในกิจการของจำเลยที่ 1
3.ห้ามมิให้จำเลย 2 จดทะเบียนโอน ขาย ยักย้าย หรือจำหน่ายเครื่องหมายการค้า ยูดริ้งค์ ไอไดรฟ์ ของจำเลย 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 มีชื่อจดทะเบียนเป็นผู้ถือสิทธิ์ รวมทั้งให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ระงับการจดทะเบียน แก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเครื่องหมายการค้าด้วย



จิรายุ พิริยะเมธา
สิรโสมย์ บริสุทธิ์สุวรรณ์

กำลังโหลดความคิดเห็น