xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai COMPASS ชี้จัดตั้ง NaCGA กลไลหนุน SME เข้าถึงแหล่งเงินทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ประเมินแนวคิดในการจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ หรือ NaCGA ถือเป็นความริเริ่มสำคัญในการสร้างกลไกการค้ำประกันสินเชื่อที่มุ่งเน้นการดูแลความเสี่ยงของผู้ขอกู้เฉพาะราย โดยเฉพาะ SME กลุ่มเปราะบางที่ยังคงมีปัญหาในการเข้าถึงแหล่งทุน โดยความแตกต่างสำคัญจากกลไกค้ำประกันสินเชื่อที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือ ผู้ขอกู้สามารถซื้อประกันจาก NaCGA ได้โดยตรง โดย NaCGA จะออกเอกสารการันตีให้ตามระดับความเสี่ยง จากนั้นผู้ขอกู้สามารถนำเอกสารดังกล่าวไปยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เปิดโอกาสให้ผู้ขอกู้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น และสอดคล้องกับระดับความเสี่ยง ทั้งยังลดการพึ่งพาสินเชื่อนอกระบบ ทั้งนี้ คาดว่าการจัดตั้ง NaCGA จะช่วยเพิ่มปริมาณสินเชื่อและธุรกรรมทางการเงินในระบบ ทั้งยังช่วยขยายฐานผู้ประกอบการ SME รวมถึงส่งเสริมการจ้างงาน รวมถึงการให้ความสำคัญกับระดับความเสี่ยงของผู้ขอกู้เป็นการเฉพาะรายจะช่วยลดปัญหาการเกิดหนี้เสียที่เกิดจากการขาดแคลนข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยงของผู้กู้ลงได้อีกด้วย

ทั้งนี้ หน่วยงาน NaCGA ดังกล่าวมีสถานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ โดยอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง ซึ่งจะทำให้การดำเนินการค้ำประกันมีความรวดเร็วและยืดหยุ่น มุ่งเน้นการประกันความเสี่ยงทางการเงินให้ประชาชนและผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อ ช่วยให้สถาบันการเงินมีความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อ และเพิ่มโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นโดยมีกลไกการคำนวณค่าธรรมเนียมค้ำประกันที่อิงตามระดับความเสี่ยงของลูกหนี้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2568

ด้านค่าธรรมเนียมในการค้ำประกันจะพิจารณาจากระดับความเสี่ยงของผู้กู้ (Risk-based Pricing) ทำให้ช่วยลดต้นทุนทางการเงินในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้กู้ที่มีความเสี่ยงต่ำได้ โดย NaCGA จะค้ำประกันเครดิตให้แก่ผู้กู้หรือลูกหนี้ และเมื่อได้รับการค้ำประกันแล้วผู้กู้สามารถนำเอกสารการันตี (Letter of Guarantee) จาก NaCGA ไปขอสินเชื่อโดยสามารถเลือกสถาบันการเงินที่ให้อัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขที่เหมาะสมกับบริบทของผู้กู้ ทำให้ผู้กู้มีอำนาจในการต่อรองและทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น

นอกจากนี้ การใช้เครื่องมือค้ำประกันสินเชื่อตามระดับความเสี่ยงของผู้ขอกู้โดย NaCGA ยังจะช่วยปลดล็อกให้เจ้าของธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงสามารถใช้เอกสารการันตีของ NaCGA เพื่อเข้าถึงแหล่งทุนได้ กลไกดังกล่าวจะลดการพึ่งพาเงินกู้นอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง อันจะช่วยลดภาระทางการเงิน และช่วยเสริมศักยภาพของภาคธุรกิจ SME การจัดเตรียมข้อมูลทางการเงินที่มีความน่าเชื่อถือต่อการขอกู้ ยังจะช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการรายย่อยผันตัวเองเข้าสู่ระบบ การลดสัดส่วนของภาคเศรษฐกิจนอกระบบลงในระดับมหภาคยังจะเพิ่มฐานภาษี และช่วยให้ผู้ประกอบการดังกล่าวเข้าถึงมาตรการสนับสนุนต่างๆ จากภาครัฐ ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และผลิตภาพโดยรวมของประเทศอีกด้วย

ดังนั้น Krungthai COMPASS มองว่าในเชิงเศรษฐกิจโดยภาพรวม การค้ำประกันผ่านช่องทาง NaCGA จะช่วยเพิ่มปริมาณสินเชื่อและธุรกรรมทางการเงินในระบบ ขณะที่การนำระดับความเสี่ยงของลูกค้ารายคนมาใช้ในการคำนวณภาระรายจ่ายทางการเงิน วงเงินสินเชื่อ และระยะเวลาผ่อนชำระคืนที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้กู้แต่ละราย จะช่วยผลักดันการเติบโตของภาคการเงิน การลงทุน การขยายฐานผู้ประกอบการ SME การจ้างงาน ตลอดจนหนุนให้จีดีพีของประเทศขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น อีกสิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ การให้ความสำคัญกับระดับความเสี่ยงของผู้ขอกู้เป็นการเฉพาะราย ซึ่ง NaCGA จะเข้ามามีบทบาทในการประเมินและออกเอกสารการันตี กลไกดังกล่าวจะช่วยลดปัญหาการเกิดหนี้เสียจากการขาดแคลนข้อมูลที่เพียงพอของผู้ขอกู้ได้ นอกจากนี้ การใช้กลไกการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ กับสถาบันการเงิน โดยการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อจากฝั่งผู้ให้กู้ ผู้ขอสินเชื่อ ไปสมทบกับเงินงบประมาณของภาครัฐ จะช่วยลดภาระทางการคลัง และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนรับผิดชอบและระมัดระวังมิให้เกิดความเสียหายจากการผิดนัดชำระหนี้หรือปัญหาหนี้เสียในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น