xs
xsm
sm
md
lg

ขยายเวลาสร้าง”สีชมพู”อีก 345 วัน รฟม.เคาะต่อรอบที่ 3 ชดเชยผลกระทบโควิด เลื่อนเสร็จเป็น มิ.ย.67

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



บอร์ดรฟม.ไฟเขียว ขยายเวลาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี อีก 345 วัน เป็นการขยายเวลาครั้งที่ 3 ตามสิทธิ์ ผลกระทบจาก โควิด-19 ขยับเป้าแล้วเสร็จเป็น มิ.ย.2567 จากเดิม ก.ค.2566

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดรฟม. วันที่ 18 พ.ค.2566 มีมติอนุมัติตามที่รฟม.เสนอขอขยายระยะเวลาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. ซึ่งเป็นการดำเนินงานในระยะที่ 1 ของบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทาน จากที่สิ้นสุดวันที่ 15 ก.ค.2566 ออกไปอีกประมาณ 345 วัน เป็นสิ้นสุดเดือน มิ.ย.2567

ทั้งนี้ทาง NBM ได้ใช้สิทธิ์ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอขยายระยะเวลาก่อสร้างเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยบริษัทฯ ได้เสนอขอขยายเวลาก่อสร้างประมาณ 400 วัน แต่การพิจารณาเหมาะสมที่ 345 วัน

สำหรับการขอขยายระยะเวลาก่อสร้างครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 3 โดยครั้งแรก รฟม. ได้มีการขยายระยะเวลาให้ NBM จำนวน 365 วัน ซึ่งครบกำหนด วันที่ 28 ก.ย. 2565 ต่อมา NBM ได้มีการเสนอขอขยายระยะเวลาครั้งที่ 2 ได้รับอนุมัติจำนวน 290 วัน ครบกำหนดวันที่ 15 ก.ค.2566 โดยการเสนอขอขยายระยะเวลาก่อสร้างทั้ง 2 ครั้ง มาจากปัญหาการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างล่าช้า เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งสถานีรถไฟฟ้า 2 แห่ง ได้แก่ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) และสถานีนพรัตน์ (PK26)

นอกจากนี้มีปัญหาจากการดำเนินงานโครงการฯ ที่ทับซ้อนในพื้นที่เดียวกัน ระหว่างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูกับโครงการ Floodway ของกรมทางหลวง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างของสถานีแจ้งวัฒนะ 14 (PK11) สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ (PK12) และสถานีทีโอที (PK13)


รายงานข่าวแจ้งว่า ความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ล่าสุดเดือน เม.ย.2566 ช่วงแคราย-มีนบุรี ผลงานรวม 96.43% งานโยธา 96.19% งานระบบรถไฟฟ้า 96.65% และช่วงสถานีศรีรัช-สถานีเมืองทอง ผลงานรวม 20.41% งานโยธา 25.24% งานระบบรถไฟฟ้า 10.84%

โดยเบื้องต้น ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีชมพู ได้แจ้งแผนการเปิดให้บริการ โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มทดลองการเดินรถได้ในเดือนม.ค. 2567 และมีกำหนดการเปิดให้บริการเดินรถตลอดเส้นทางภายในเดือนมิ.ย. 2567 ทั้งนี้ ก่อนเปิดให้บริการ จะต้องมีการทดสอบระบบการเดินรถ และระบบที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของโครงการและต้องผ่านเกณฑ์ตามมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากลก่อน รวมถึงได้รับการรับรองจากที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ (Independent safety and system Certification Engineer :ICE) ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบรับรองประกันความมั่นคงและความปลอดภัยของระบบรถไฟฟ้า จึงจะพิจารณาการเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการในช่วงทดลองการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ซึ่งตามปกติทั่วไป จะต้องใช้เวลาในการทดสอบการเดินรถประมาณ 3 เดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น