xs
xsm
sm
md
lg

“เด็กจบการศึกษาใหม่” 4-5 แสนคนส่อเคว้ง ตลาดแรงงานยังโตจำกัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



สภาองค์การนายจ้าง! กังวลเด็กจบใหม่ทยอยเข้าตลาดแรงงาน 4-5 แสนคนช่วง ก.พ.- มี.ค.นี้จะหางานยากขึ้น ท่ามกลางส่งออกชะลอตัวตามทิศทางศก.โลกที่ทำให้การจ้างงานใหม่ยังคงมีจำกัด แม้ท่องเที่ยวจะฟื้นแต่ตลาดส่วนใหญ่ต้องการแรงงานไร้ทักษะ ประกอบกับไทยเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัยหนุนผู้ประกอบการหันพึ่งหุ่นยนต์และเทคโนโลยีทดแทนแรงงานคนมากขึ้น

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย)
เปิดเผยว่า ระหว่างเดือน ก.พ.-มี.ค.นี้จะมีแรงงานจากเด็กจบการศึกษาใหม่ทยอยเข้าสู่ระบบอีกประมาณ 4-5 แสนคน ซึ่งจะทำให้ตัวเลขดังกล่าวเข้ามาสมทบกับตัวเลขของแรงงานเด็กจบใหม่ที่ยังหางานไม่ได้ก่อนหน้านั้นเพิ่มขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจไทยที่มีทั้งปัจจัยลบจากผลกระทบการส่งออกชะลอตัวแต่ยังมีปัจจัยบวกจากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะภายหลังจีนเปิดประเทศ ดังนั้นการหางานของเด็กจบใหม่ยังคงเผชิญกับการแข่งขันที่สูง

“เด็กจบใหม่หากจบการศึกษาเฉพาะด้าน เช่น ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ การแพทย์ ฯลฯ ประเภทนี้ยังหางานได้ไม่ยากแต่จบปริญญาตรีทั่วไปยอมรับว่ายังคงลำบาก โดยจะพบว่าในช่วงต้นปีปกติหลังรับโบนัสจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานสูงแต่ปีนี้มีน้อยมากแสดงให้เห็นว่างานหายากขึ้น” นายธนิตกล่าว

ทั้งนี้ ตลาดแรงงานที่จะรองรับเด็กจบใหม่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นระดับปริญญาตรี คือตลาดภาคการผลิตและส่งออก ซึ่งภาคการส่งออกของไทยปีนี้จะโตเพียง 1-2% จากปีก่อนเพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวโดยเฉพาะตลาดหลักๆ เช่นสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป โดย ทำให้การส่งออกไทยเริ่มได้รับผลกระทบในช่วงปลายปี 2565 และคาดว่าจะยังคงต่อเนื่องอย่างน้อยไตรมาสแรกปีนี้เนื่องจากพบว่าคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) จากต่างประเทศล่วงหน้าเดือน มี.ค. 66 มีสัญญาณลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวและบริการจะฟื้นตัว โดยมีการประเมินตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยปีนี้อาจแตะระดับ 28 ล้านคน แต่ตลาดแรงงานส่วนนี้ส่วนใหญ่ยังขาดแคลนแรงงานไร้ทักษะมากกว่า และแรงงานส่วนนี้ยังคงเป็นตลาดคนละส่วนกับภาคการผลิต และมีแนวโน้มที่ตลาดส่วนนี้จะหันมาใช้ระบบหุ่นยนต์มากขึ้นโดยเฉพาะในร้านอาหาร ค้าปลีก นอกจากนี้ ระบบการขายได้เปลี่ยนไปสู่ตลาดออนไลน์เพิ่มขึ้นตลาดแรงงานส่วนนี้ระยะยาวจะลดต่ำลง

“จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ไตรมาส 4 ปี 65 มีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานจำนวน 40.14 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้มีงานทำ 39.59 ล้านคน ผู้ว่างงาน 4.6 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.2% แม้ว่าภาวะว่างงานจะพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วและเริ่มฟื้นตัวแต่ตัวเลขผู้เสมือนว่างงานหรือผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวันแม้ว่าแรงงานกลุ่มนี้ไม่ตกงาน แต่ก็มีรายได้ลดลงตามชั่วโมงการทำงาน ที่อาจส่งผลให้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพทั้งครัวเรือน โดยในไตรมาส 4 พ.ศ. 2565 มีผู้เสมือนว่างงานจำนวน 2.13 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ของปี 65 ซึ่งสะท้อนความเปราะบางของการจ้างงาน” นายธนิตกล่าว

นายธนิตกล่าวว่า ปัญหาแรงงานของไทยที่น่ากังวลคือการเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ (Aged Society) ซึ่งหมายถึงสัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นแตะ 14% ของประชากรทั้งหมดในปี 2565 สาเหตุเป็นเพราะอัตราการเกิดของคนไทยมีแนวโน้มลดต่ำลงมาอย่างต่อเนื่อง และหากยังปล่อยไว้เช่นนี้ไทยจะขยับขึ้นเป็นสังคมสูงอายุแบบสุดยอด (Hyper Aged Society) หรือมีสัดส่วนประชากรสูงอายุเข้าหา 20% โดยใช้เวลาเพียง 9 ปีหลังการเป็นสังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์

ซึ่งนับว่าเป็นอัตราที่รวดเร็วกว่าประเทศญี่ปุ่นที่ใช้ระยะเวลา 11 ปีซึ่งจะกระทบต่อตลาดแรงงานของไทยมากยิ่งขึ้น

“ภาคการผลิต ส่วนหนึ่งเห็นทิศทางไทยที่คนวัยทำงานเริ่มลดลงจึงมองแนวทางการใช้เครื่องมือเครื่องจักรหรือนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานคน หรือการนำเข้าแรงงานต่างด้าวมากขึ้น และบางรายหันไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้านแทน ซึ่งเห็นว่าไทยต้องเร่งแก้ไขทั้งการพัฒนาเด็กใหม่ให้ตรงสายงานและปัญหาคนสูงวัยที่จะเพิ่มขึ้นอย่างเป็นระบบ” นายธนิตกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น