xs
xsm
sm
md
lg

รฟท.รอผลสอบทางการป้าย 33 ล้านจาก "คมนาคม" ก่อนตัดสินใจ เผยสั่ง "ยูนิคฯ" ระงับยังไม่มีความเสียหาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ผู้ว่าฯ รฟท.รอ "คมนาคม" แจ้งผลตรวจสอบฯ เปลี่ยนป้ายชื่อ 33 ล้านบาท เป็นทางการก่อนพิจารณาดำเนินการอย่างไร เผย "ยูนิคฯ" ยังไม่เริ่ม จึงยังไม่มีอะไรเสียหาย ย้ำแบบสถานี ป้ายมีตั้งแต่สมัยผู้ว่ฯ ปี 51 รฟท. มีหน้าที่ทำตาม

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ได้รายงานโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางชื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟฯ วงเงิน 33 ล้านบาท ต่อที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร เป็นประธาน เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2566 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาตรวจสอบของกระทรวงคมนาคม ล่าสุดทราบว่าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการฯ ที่กระทรวงคมนาคมได้แต่งตั้งขึ้น มีนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง เป็นประธาน ได้มีการสรุปผลการตรวจสอบฯ แล้วนั้น ขณะนี้ รฟท.ยังไม่ได้รับแจ้งผลการตรวจสอบอย่างเป็นทางการจากกระทรวงฯ ซึ่งหากได้รับแจ้งจากกระทรวงฯ แล้ว จะเร่งพิจารณาตามข้อแนะนำของกระทรวงฯ และจะดำเนินการให้ดีที่สุด โดยเรื่องนี้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของผู้บริหาร รฟท.

ทั้งนี้ ปัจจุบัน รฟท.ยังคงให้บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้าง ระงับการดำเนินไปก่อน และถือว่ายังไม่มีความเสียหายใดๆ เพราะถือว่ายังไม่ได้เริ่มทำงาน
   
ผู้สื่อข่าวถามว่า เบื้องต้นคณะกรรมการตรวจสอบฯ มีข้อเสนอแนะ ทั้งการใช้ตัวอักษรเดิม “สถานีกลาง” ที่ติดตั้งอยู่แล้ว มาปรับปรุงใช้ต่อแทนที่จะทำขึ้นใหม่ทั้งหมด เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายลง เป็นไปได้หรือไม่ รวมถึงการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดซื้อฯ จากเฉพาะเจาะจงเป็นประมูลทั่วไปนั้น ผู้ว่าฯรฟท.กล่าวว่า ขณะนี้ขอยังไม่ออกความเห็นใดๆ เพราะยังไม่ได้รับหนังสือจากกระทรวงฯ อย่างเป็นทางการ ซึ่งกระทรวงฯ อาจมีความเห็น ข้อเสนอแนะอื่นๆ อีกหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรฟท.จะพิจารณาและดำเนินการเรื่องดังกล่าวอย่างเหมาะสมและดีที่สุด

ส่วนกรณีที่มีคำถามว่า เหตุใด รฟท.จึงติดตั้งป้ายชื่อ ไปก่อน โดยไม่รอทั้งที่ทราบว่าจะมีการเปลี่ยนชื่อในเวลาต่อมา ผู้ว่าฯ รฟท.กล่าวว่า เรื่องป้ายชื่อสถานี มีการออกแบบไว้ตั้งแต่ประมาณปี 2551-2552 ซึ่งขณะนั้นตนยังไม่ได้เป็นผู้ว่าฯ รฟท. ดังนั้น ก็คงต้องไปถาม ผู้ว่าฯ รฟท.ในขณะนั้น เมื่อมีการออกแบบไว้ รฟท.ต้องก่อสร้างไปตามแบบ ส่วนในเวลาต่อมามีการขอพระราชทานชื่อ รฟท.เองมีหน้าที่ดำเนินการตามที่กระทรวงฯ ได้สั่งการ โดยอาศัยอำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน
กำลังโหลดความคิดเห็น