xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนแนะตั้งการ์ดสูงสุดรับ ศก.โลกถดถอย “สงครามยืดเยื้อ-เงินเฟ้อพุ่ง-เฟดเร่งขยับ ดบ.”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาส่งสัญญาณแล้วว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและกูรูหลายคนต่างมองว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายการเงิน (กนง.) นัดพิเศษเพื่อพิจารณาขึ้นดอกเบี้ย โดยคาดว่าจะปรับขึ้น 0.25% จากนั้นจะประชุมในวันที่ 10 ส.ค. ขึ้นอีก 0.25% และในวันที่ 28 ก.ย.จะขึ้นอีก 0.25% รวมขึ้นติดต่อกัน 3 ครั้งต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 3/65 เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งสูงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

การขึ้นดอกเบี้ยของ ธปท.จำเป็นต้องรีบทำเพราะช้าอาจส่งผลเสียหายที่รุนแรงกว่า เนื่องจากล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยล่าสุด 0.75% สูงสุดในรอบ 3 ทศวรรษเมื่อ 15 มิ.ย. และยังส่งสัญญาณว่าจะยังขึ้นดอกเบี้ยอีกต่อเนื่อง ถัดมาเพียงวันเดียวธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ก็มีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ปีตามมาติดๆ แน่นอนว่าถ้าดอกเบี้ยไทยต่ำเกินไปอาจทำให้เกิดการไหลออกของทุนเพื่อไปหาแหล่งที่ให้ผลตอบแทนของเงิน (ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยตราสารหนี้) ที่สูงกว่า…บาทจะอ่อนค่าซึ่งมีทั้งผลบวก และเสีย
 
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ธปท.ในครึ่งปีหลังนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ลูกหนี้ ผู้กู้เงินมาลงทุนทำธุรกิจ ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ อสังหาริมทรัพย์ ต้องแบกภาระเพิ่มและต้นทุนทางธุรกิจที่กู้ยืมเงินต้องจ่ายดอกเบี้ยที่เพิ่มตามมา จึงเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ...ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อของไทยที่สูงเกินกรอบที่ตั้งไว้ โดยล่าสุด พ.ค.เงินเฟ้อไทยพุ่งไปสู่ระดับ 7.1% สูงสุดในรอบ 13 ปี....
 


ส.อ.ท.แนะรัฐต้องบาลานซ์ ศก.ให้ดี

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
กล่าวว่า ต้นทุนภาคการผลิตมีแนวโน้มยังคงสูงขึ้นจากทั้งระดับราคาน้ำมันโดยเฉพาะดีเซล ค่าไฟฟ้า รวมไปถึงวัตถุดิบต่างๆ จากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยทั่วไปของไทยที่สุดแล้วคงจะต้องปรับเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ดังนั้นยิ่งทำให้ต้นทุนการผลิต และต้นทุนการเงินของผู้ประกอบการในครึ่งปีหลังยังมีทิศทางสูง ขณะที่การปรับราคาสินค้าในช่วงที่ผ่านมายังไม่ได้ครอบคลุมกับต้นทุนจริงนัก และสินค้าควบคุม 46 รายการรัฐบาลยังคงให้ตรึงราคาต่อไปอีก 1 ปีจากสิ้นสุด มิ.ย.นี้

“ราคาสินค้าโดยรวมที่จำหน่ายในไทยที่ไม่ใช่สินค้าควบคุมส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ปรับให้เท่ากับต้นทุนจริงที่เกิดขึ้นด้วยกำลังแรงซื้อของคนไทยยังไม่ดีนัก และสินค้าอุปโภคและบริโภคพื้นฐานจำเป็นส่วนใหญ่ยังคงเป็นสินค้าควบคุมที่รัฐไม่ให้ขึ้นราคา ผู้ประกอบการเองบางส่วนได้ลดปริมาณลง สิ่งที่กังวลหากคือผู้ผลิตที่มีสายป่านสั้นจะแบกรับภาระได้นานเพียงใด หากต้นทุนสูงขึ้นย่อมนำไปสู่การลดการผลิต หรือที่สุดอาจหยุดผลิตไปเลย ดังนั้นจำเป็นต้องพิจารณาให้เกิดสมดุล” นายเกรียงไกรกล่าว

ทั้งนี้ การขึ้นดอกเบี้ยของ ธปท.จำเป็นต้องพิจารณาจังหวะให้ดีเพราะบาทอ่อนแม้ดีต่อส่งออกและท่องเที่ยว แต่จะกระทบต่อการนำเข้าทั้งวัตถุดิบการผลิตและน้ำมันที่ต้องสูงขึ้น จึงต้องวางสมดุล ซึ่งปัญหาเงินเฟ้อของไทยและสหรัฐฯ มีบริบทที่ต่างกัน โดยสหรัฐฯ เงินเฟ้อจากการพิมพ์เงินดอลลาร์เพิ่มพอโควิดจบเงินล้นก็เกิดการใช้จ่าย (Demand Pull) ต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดึงเงินกลับ ส่วนไทยเกิดจากราคาน้ำมันและสินค้าสูง ทำให้รายได้ประชาชนน้อยอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องขึ้นตามสหรัฐฯ ในทันที ซึ่งสะท้อนจากที่เงินทุนไทยยังไม่ได้ไหลออกอย่างมีนัยสำคัญในขณะนี้หลังจากเฟดขึ้นดอกเบี้ยแต่จะต้องเฝ้าระวังต่อจากนี้

“เราต้องติดตามมหาพายุ หรือ Perfect Storm 3 ลูกที่อาจทำให้เศรษฐกิจโลกเจอวิกฤตแรง คือลูกแรก การที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงที่อาจฉุดเศรษฐกิจสหรัฐฯ และ ศก.โลกถดถอย ลูกที่ 2 สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่จะทำให้ราคาพลังงานของยุโรปสูงจนทำให้ ศก.ถดถอยและเสี่ยงให้โลกเผชิญอาหารขาดแคลนหนักในสิ้นปีนี้ และลูกที่ 3 การล็อกดาวน์เพื่อป้องกันโควิดของจีนที่ส่อลากยาวอาจทำให้เกิดปัญหาห่วงโซ่ซัปพลายเชนขาดแคลนและเศรษฐกิจจีนอาจชะลอตัว เหล่านี้จะกระทบต่อส่งออกไทยได้” นายเกรียงไกรกล่าว

ประคองส่งออก-ท่องเที่ยวหนุน ศก.ครึ่งปีหลัง

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ศก.ไทยปี 2565 ภาพรวม ส.อ.ท.ยังมองว่าจะเติบโตได้ 2.5-4% เนื่องจากคาดว่าการส่งออกของไทยยังคงขยายตัว 3-5% จากปีก่อนแต่ยังคงต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจถดถอยจะกระทบการส่งออกได้จึงต้องติดตามใกล้ชิดเนื่องจากคำสั่งซื้อในปลายไตรมาส 2 เริ่มลดความร้อนแรงลง ขณะที่การท่องเที่ยวครึ่งปีหลังจะเข้ามาเป็นเครื่องยนต์เสริมส่งออกในการหนุนเศรษฐกิจ โดยมีการคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไม่ต่ำกว่า 7 ล้านคนและหากรัฐทำดีๆ อาจจะไปสู่ระดับ 8-10 ล้านคนได้

"รัฐบาลเองได้พยายามที่จะหามาตรการเข้ามาดูแลค่าครองชีพให้กับประชาชนต่อเนื่อง นับเป็นเรื่องที่ดีเพราะเวลานี้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทั้งน้ำมันและราคาสินค้าที่แพง แต่รายได้คงเดิม และหากตรึงดีเซลไว้ระดับ 35 บาทต่อลิตรนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ก็จะยิ่งดีแต่ก็อยู่ที่เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะเพียงพอหรือไม่ ภาคธุรกิจเองต้องบริหารลดต้นทุนการผลิตมองหาแหล่งวัตถุดิบอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยง บริหารสภาพคล่องให้ดี ส่วนประชาชนเองก็ต้องปรับตัวรับมือเพราะสิ่งที่น่ากังวลสุดคือหากสงครามขยายวงกว้างราคาน้ำมันจะยิ่งสูงหนักขึ้น ดังนั้นทุกฝ่ายต้องมองแนวทางไว้รับมือ ฯลฯ เพื่อป้องกันตนเองในระดับสูงสุด" นายเกรียงไกรกล่าว


กังวลชิปขาดแคลนฉุดยอดขาย-ส่งออก

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.
กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับขึ้นทั่วโลกและของไทยที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยและแรงซื้อที่ต้องติดตาม แต่สิ่งที่กังวลกว่าในขณะนี้คือปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) และชิ้นส่วนที่ยังคงมีอยู่และมีผลกระทบต่อการผลิตและส่งมอบรถยนต์บางรุ่น ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีหลายฝ่ายมองว่าจะยาวนานไปจนถึงปี 2567 จนกว่าโรงงานผลิตชิปแห่งใหม่ในหลายประเทศทั่วโลกที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างจะแล้วเสร็จ

“เรากังวลมากในขณะนี้เพราะจีนมีการล็อกดาวน์เป็นพักๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตชิป ล่าสุดจีนก็กลับมาล็อกดาวน์อีกในเมืองเซี่ยงไฮ้ จึงเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม ขณะเดียวกันสถานการณ์สงครามการสู้รบรัสเซีย-ยูเครนเองมองว่าจะยืดเยื้อแต่สิ่งที่กังวลกว่าคือจะมีการขยายพื้นที่ไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางหรือไม่ ซึ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ และหากเกิดขึ้นจะทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอยหนัก” นายสุรพงษ์กล่าว

แนะรัฐตั้งการ์ดป้องวิกฤตระดับสูงสุด

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจากการที่รัฐบาลได้มีการเปิดประเทศแบบเต็มรูปแบบทำให้การท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัวก่อให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ประชาชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งนับว่าภาคท่องเที่ยวจะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ที่จะเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังนอกเหนือจากภาคส่งออก อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งราคาน้ำมัน เงินเฟ้อ ฯลฯ รัฐต้องมองการณ์ไกลในการแก้ไขปัญหาเพราะในขณะนี้เป็นภาวะวิกฤตไม่ใช่ปกติ

“ค่าครองชีพประชาชนสูงขึ้นต่อเนื่องทั้งจากราคาน้ำมันและราคาสินค้าเป็นสิ่งที่กังวลว่าจะฉุดแรงซื้อประชาชน จำเป็นต้องหามาตรการดูแลให้ต่อเนื่อง และการขึ้นดอกเบี้ยต้องวางสมดุลระหว่างการส่งออกกับนำเข้าให้ดี การบริหารเศรษฐกิจภาพรวมขณะนี้รัฐจึงจำเป็นต้องวางแผนที่เป็นระดับ Crisis ไว้ว่าถ้าเกิดแบบนี้จะรับมืออย่างไร ต้องมองอนาคตไปข้างหน้า” นายสุรพงษ์กล่าว

มองเงินเฟ้อของจริงยังไม่มา

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย)
กล่าวว่า ขณะนี้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นรอบด้านทั้งระดับราคาน้ำมันดีเซลในไทยที่ขยับมาสู่ระดับ 35 บาทต่อลิตรจากระดับ 30 บาทต่อลิตรกระทบทั้งต้นทุนขนส่ง ขณะที่ค่าเงินบาทไทยที่อ่อนค่าก็เพิ่มต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบทำให้ราคาสินค้าแพงหมดแต่นั่นยังไม่ได้หมายถึงผู้ผลิตได้ส่งผ่านต้นทุนให้ผู้บริโภค 100% เนื่องจากตลาดอ่อนแอเพราะแรงซื้อคนไทยลดลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทย พ.ค.เพิ่ม 7.1% สูงสุดในรอบ 14 ปีนั้นยังไม่ใช่ของจริง ของจริงน่าจะมาช่วง ก.ค.-ส.ค.หรือครึ่งปีหลังเนื่องจากราคาสินค้ายังอั้นอยู่แต่ถึงจุดหนึ่งก็ต้องขยับหากควบคุมมากไปที่สุดสินค้าจะขาด

“เราเจอวิกฤตซ้อนวิกฤต ตลอดชีวิตที่ผมทำธุรกิจด้านโลจิสติกส์มายังไม่เคยเจอหนักเท่านี้ และงานนี้เป็นกันทั้งโลก แต่ปี 2540 ไทยเป็นอยู่คนเดียวต่างชาติอื่นๆ เข้มแข็งก็อุ้มเราขึ้นมาได้ และวิกฤตครั้งนี้ไม่ใช่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจแต่เป็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างโลกที่มีการแบ่งขั้ว ที่ยังไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่และแบบไหน ผมเองประชุมตลอดเวลาตลาดจะแข่งกันมาก การผลิตต้องระวังต้นทุนมากที่สุดต้องผลักภาระให้ผู้บริโภค” นายธนิตกล่าว

รัฐต้องบริหาร ศก.ที่ไม่ใช่ภาวะปกติ

นายธนิตกล่าวว่า รัฐบาลต้องเข้าใจปัญหาว่าขณะนี้ไม่ใช่ภาวะปกติแต่เป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตมาตรการต่างๆ จึงต้องพร้อมรับมือในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังอาจได้รับปัจจัยบวกจากท่องเที่ยว แต่ก็มีปัจจัยเงินเฟ้อที่รุนแรงที่อาจจะเห็นระดับเงินเฟ้อพุ่งขึ้นไปแตะที่ระดับ 8% ได้ การดำเนินธุรกิจต่างๆ ก็ยังถูกผลกระทบจากปัจจัยภายในและภายนอกเช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน น้ำมันแพง ค่าเงินบาทผันผวน และ Supply Chain Disruption ทั้งหมดนี้ไทยจะประสบปัญหา Double Crisis ซึ่งภาคเอกชนยังกังวลและจับตาดูอย่างใกล้ชิด ดังนั้นการรักษาสภาพคล่องเวลานี้โดยการถือเงินสดมากสุดจึงเป็นหนทางสำหรับการพึ่งพาตนเอง

จากมุมมองดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจที่ทุกฝ่ายยังคงต้องปรับตัวที่จะต้องอยู่ให้รอดกับ 3 ปัจจัย นั่นคือ โควิด-19 ที่เรายังคงต้องอยู่ร่วมกันไปอีกนาน.... สงครามรัสเซียกับยูเครนที่ยังคงไม่มีใครรู้ว่าจะจบเมื่อใดและจะเป็นอย่างไรในอนาคต และเงินเฟ้อที่ไม่ปกติทั่วไปแต่อาจจะนำไปสู่การโละระบบเก่า....ตั้งการ์ดสู่ระดับสูงสุดกันเอาไว้จะดีสุด เพราะนี่คือช่วงเวลาที่คนทั้งโลกจะอยู่ในช่วง ศก.โลกถดถอยที่สุดเท่าที่เคยเห็นมาในชีวิต
กำลังโหลดความคิดเห็น