xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางอาชีพผู้สูงอายุ “ลุงกับป้า ปลาไข่ทอด” ขายตัวละ5บาท กำไรหลักแสนบาท/เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“ลุง ป้า ปลาไข่ทอด” อีกหนึ่งร้านดังที่คนจังหวัดชลบุรี รู้จักกันเป็นอย่างดี โดยเปิดขายอยู่ที่ตลาดนัดหน้าศาลจังหวัด เป็นของ “นายนันทกร สุขเจริญ” และ “นางนัทชา สุขเจริญ” หรือลูกค้าจะรู้จักในชื่อ “ลุงเจี๊ยบ” กับ “ป้านัท” เพราะด้วยอัธยาศัยที่เป็นกันเองกับลูกค้า ทำให้ลูกค้าประจำแวะเวียนมาอย่างต่อเนื่อง และที่มาของชื่อ “ร้านลุง ป้า ปลาไข่ทอด” มาจากลูกค้าที่เรียกทั้งสองคน


“ลุง ป้า ปลาไข่ทอด” เส้นทางสร้างอาชีพผู้สูงอายุ


นายนันทกร (ลุงเจี๊ยบ) เล่าว่า ตนเองได้ขายปลาไข่ทอดมามากกว่า 10 ปี ตอนเริ่มต้นขายปลาไข่ทอด ไม่ได้ขายที่หน้าศาลจังหวัดชลบุรีแห่งนี้ เป็นการตระเวนขายไปตามตลาดนัดทั่วๆไป เริ่มมาจากตอนนั้น เราสองคนหาอาชีพว่าจะขายอะไรดี และเลือกขายปลาไข่ เพราะในสมัยนั้นเพิ่งจะเริ่มมีคนรู้จักปลาไข่ เห็นว่ามันเป็นสิ่งใหม่ ก็เอามาขายบ้าง ในครั้งแรกตั้งโต๊ะเล็กตระเวนขายไปตามตลาดนัด วันหนึ่งขายไม่ถึง 1 กิโลกรัม แต่ก็ไม่ท้อยังคงตระเวนขายไปเรื่อยพร้อมกับการปรับสูตรทอดปลาไข่ให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ ตอนนั้นสูตรต่างๆ ก็ยังไม่ลงตัวทั้งการทอดปลาให้กรอบอร่อย หรือแม้แต่การทำน้ำจิ้ม ก็ยังไม่ได้ถูกใจลูกค้า แต่อาศัยว่า ลุงเจี๊ยบแก่ชื่นชอบการทำอาหาร ลุงแก่ได้ลองผิดลองถูกจนได้ปลาไข่ทอดที่กรอบอร่อยและ ไม่เหม็นคาว กินคู่กับน้ำจิ้ม ที่ลุงเจี๊ยบลงมือพัฒนาสูตรของตัวเอง


สำหรับการขายปลาไข่ทอดของ ลุงเจี๊ยบ และป้านัท ในช่วงเริ่มต้นปัญหาไม่ได้อยู่แค่การทำอย่างไรให้ ปลาไข่ทอดอร่อยถูกใจลูกค้า เท่านั้น แต่ลุงกับป้า เจอปัญหา คือปลาไข่ทอดที่ขายในท้องตลาดส่วนใหญ่จะมีกลิ่นคาว จึงเป็นภาพจำทำให้หลายคนไม่กล้าซื้อปลาไข่ทอดมากิน เพราะกลัวจะมีกลิ่นคาว เป็นเหตุผลที่ทำให้ การขายปลาไข่ทอดร้าน ลุงกับป้า ขายไม่ได้ไปด้วยในช่วงแรก แม้ลุงจะออกมาบอกว่า ปลาไข่ทอดร้านลุงไม่มีกลิ่นคาว ก็ตาม ลุงแก้ปัญหาด้วยการเรียกลูกค้าและแจกให้ลูกค้าได้ชิม พอลูกค้าซื้อไปและไม่คาวก็จะกลับมาซื้ออีก

นายนันทกร (ลุงเจี๊ยบ) สุขเจริญ
ตระเวนขายตลาดนัด 5 ปี กว่าจะได้จับเงินแส

นายนันทกร (ลุงเจี๊ยบ) เล่าว่า กว่าจะขายปลาไข่ได้เยอะเหมือนทุกวันนี้ ลุงต้องใช้เวลาลองผิดลองถูกนานถึง 5 ปี ในการตระเวนขายไปเรื่อยๆ ตามตลาดนัด ก่อนจะมาปักหลักอยู่ที่ ตลาดศาลจังหวัดชลบุรี และเป็นที่รู้จักชื่อของร้าน ลุงกะป้า ปลาไข่ทอด ที่มาของชื่อ “ป้ากับลุง ปลาไข่ทอด” มาจากความเป็นกันเองของป้ากับลุง ที่มีต่อลูกค้า ลูกค้าก็เลยเรียกติดปาก โดยที่ลุงเจี๊ยบและป้านัทก็เลยนำมาตั้งเป็นชื่อร้าน เพื่อให้คนจดจำง่ายๆ อัธยาศัยเป็นมิตรบวกกับคุณภาพปลาไข่ทอด ทำให้ร้าน ป้าลุง ปลาไข่ทอด เป็นที่รู้จักไปทั่วจังหวัดชลบุรี

ในส่วนของปลาไข่ วัตถุดิบหลัก “ลุงเจี๊ยบ” บอกว่า ลุงซื้อปลานำเข้ามาจากประเทศนอร์เวย์ เพราะได้ปลาไข่ตัวใหญ่ สดใหม่ โดยซื้อตรงมาจากห้างสรรพสินค้าแมคโคร ปัจจุบันปลาไข่ มีการปรับราคาค่อนข้างมาก จากช่วงแรกปลากิโลกรัมละ 40 บาท ตอนนี้ ราคาเพิ่มขึ้นไปเป็นกิโลกรัมละ 127 บาท แต่ละวันต้องใช้ปลาไข่ ประมาณ 2,000 ตัว และถ้าเป็นช่วงวันหยุด ต้องใช้ปลา 3,000-4,000 ตัว


ขายปลาตัวละ 5 บาท สร้างรายได้เดือนละแสนบาท

สำหรับราคาขายปลาไข่ทอด ร้านลุงป้า ขายราคาเดียว คือตัวละ 5 บาท ขายวันละ 2,000 ตัว มีรายได้ต่อวัน ประมาณ 10,000 บาท เหลือกำไรต่อวัน อยู่ที่ประมาณ 6,000 บาท กำไรต่อเดือน 30 วันอยู่ประมาณ 180,000 บาท ถึง 200,000 บาท

“ตอนนี้ ทุกอย่างปรับราคาขึ้นมา น้ำมันทอดปลา เพิ่มจากลิตรละ 30 บาท เพิ่มเป็น 50-60 บาท แต่ลุงก็ยังคงรักษาคุณภาพ เปลี่ยนน้ำมันใหม่ทุกวัน โดยใช้น้ำมันปาล์มสำหรับทอดต่อวันประมาณ 16 ลิตร หรือในส่วนของปลา ปรับราคาขึ้นมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 127 บาท กำไรลดลงไปบ้าง ลุงบอกว่า ลุงขายปริมาณเยอะไม่ได้กระทบอะไรมาก และในช่วงนี้ ของทุกอย่างแพง ถ้าปรับราคาขึ้นอีก ก็คงจะไม่มีใครมาซื้อปลาของลุงกิน เขาก็คงหันไปกินอย่างอื่น และที่สำคัญลูกค้าลุงเป็นลูกค้าประจำ ลุงไม่อยากผลักภาระให้กับลูกค้า”


ลุงเจี๊ยบ บอกว่า แม้ว่าวันนี้ ลูกๆ ของลุง จะเรียนจบกันไปหมดแล้ว แต่ลุงก็คงไม่หวังพึ่งพาอาศัยอะไรเขา เพราะเราสองคนก็ยังพอมีแรงที่จะทำไหว ก็คงจะทำต่อไป โดยสองคนจะแบ่งหน้าที่การทำงานกัน และตอนเย็นเริ่มเปิดร้านประมาณ 4 โมงเย็น ใช้เวลาขายประมาณ 4 ชั่วโมง ปลา 2,000 ตัว ขายหมดประมาณหนึ่งทุ่ม ทำกันเอง ลุงเป็นคนทอด ส่วนป้านัทตักขายหน้าร้าน เนื่องจากปลาไข่ทอดจะอร่อยต้องทอดใหม่ ลุงจะไม่ทอดปลาทิ้งไว้นาน เนื่องจากลูกค้ามาซื้อเรื่อย ลุงก็เลยต้องทอดไปเรื่อย ปลาทอดหนึ่งกระทะจะได้ปลาประมาณ 100 ตัว


“ลุงเจี๊ยบกับป้านัท” เป็นตัวอย่างของผู้สูงอายุ ที่ยังคงทำงานเลี้ยงชีพ โดยอายุไม่ได้มาเป็นอุปสรรคต่อการหาเงิน ของทั้งสองคน และในวันที่ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ลุงเจี๊ยบ กับ ป้านัท จะไม่เป็นภาระต่อลูกหลาน หรือต่อประเทศชาติ ซึ่งการสร้างอาชีพเดือนละแสนบาทของผู้สูงอายุ อาจจะมาไกลเกินฝัน เพราะจากร้านลุงกับป้า ร้านเล็กๆ ในตลาดนัด มาไกลเกินกว่าที่ลุงเจี๊ยบ กับป้านัท คาดฝัน ซึ่งอาจจะยังมีอีกหลายคนที่จะกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและคิดว่าตัวเองจะดำเนินชีวิตอย่างไร เมื่อถึงวันนั้น

ติดต่อ โทร.06-1659-5700




คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ”รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด
SMEs manager

กำลังโหลดความคิดเห็น