xs
xsm
sm
md
lg

คนการเมืองโหนกระแส "ภาษีคริปโต" นักเทรดมองบนหวังดีหรือแฝงนัยยะซ่อนเร้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กลายเป็นประเด็นร้อนแรงที่ค่อยๆปะทุคุกรุ่นขึ้นมาเรื่อยๆ ในรอบ 2 สัปดาห์ตั้งแต่สิ้นปี 2564 จนถึง ณ วันนี้ที่ก้าวผ่านมาถึงปี 2565 กระแสการออกนโยบายรีดภาษีคริปโต 15% ของกรมสรรพากร ได้สั่นสะเทือนทุกวงการ และมีการพูดคุยถกเถียงกันในทุกกลุ่มสังคมโซเชียล จนกระทั่งล่าสุดร้อนไปถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้ออกมาเบรกกรมสรรพากรให้กลับไปทบทวนถึงความเหมาะสม เนื่องจากกระแสร้อนแรงของมาตรการภาษีดังกล่าวได้สร้างความกังวลต่อองคาพยพหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกันในอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล จากการที่กรมสรรพากรได้กำหนดให้ผู้ที่มีกำไรจากการขายสินทรัพย์ดิจิทัลต้องยื่นแบบเสียภาษีคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งจะสร้างอุปสรรคต่อการพัฒนาตลาดการเงินสมัยใหม่ รวมถึงสร้างสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อให้สตาร์ทอัพกลุ่มฟินเทคเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์ดังกล่าว แม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่ได้ข้อสรุปถึงความชัดเจนของกรมสรรพากรว่าจะกลับไปทบทวนมาตรการจัดเก็บภาษีคริปโต 15% ตามเดิมของกำไรที่เกิดขึ้น โดยไม่สามารถหักลบในส่วนของการขาดทุนที่เกิดขึ้นในปีนั้น ๆ ได้ หรือกลับไปศึกษาผลกระทบและกำหนดเงื่อนไขคำนวณภาษีใหม่ ตลอดจนขยายเวลาการจัดเก็บภาษีคริปโตเคอร์เรนซีออกไปก่อน ตามที่ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาติงถึงมาตรการดังกล่าวข้างต้นได้หรือไม่

ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ฝุ่นตลบไปด้วยความร้อนแรงของกระแส "คริปโตเคอร์เรนซี" ก็มีคนการเมืองหลายคน ที่ถือโอกาสเหมาะ "โหนกระแส" ดึง สปอร์ตไลน์สาดแสงไฟใส่ตัว เพื่อเช็คเรตติ้งฐานเสียงหรือหาแนวร่วมมุมมองจากกระแสความร้อนแรงที่สังคมกำลังพูดคุยถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน เช่น กรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในสมัยรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ที่มีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี แม้ว่า กรณ์ จาติกวณิช จะลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ มาตั้งพรรคกล้า โดยนั่งแท่นในตำแหน่งหัวหน้าพรรค แต่ด้วยความเก๋าเกมส์ดีกรีหนุ่มนักเรียนนอก และเคยนั่งหัวโต๊ะประธานสมาคมฟินเทคประเทศไทย ก็ยังไว้ลายบทบาทความเป็นอดีตขุนคลังในการขับเคลื่อนตลาดเงินตลาดทุน ด้วยการออกมาเสนอมุมมองว่า "ไม่เห็นด้วยกับการเก็บ 'ภาษีคริปโต' จนกว่าสรรพากร จะตอบคำถามในกระบวนการอย่างชัดเจน ยุติธรรม และเป็นระบบ " ซึ่งการประกาศวิธีการคำนวณภาษีคริปโตฯ ของกรมสรรพากร โดยคิดกำไรที่เกิดขึ้นจากการขายรายธุรกรรม (transactions) โดยไม่สามารถนำรายการที่ขาดทุนมาหักลบได้ โดยคำนวณจากเงินได้ (กำไร) แล้วหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ตามที่กฎหมายกำหนด และไม่จบเพียงแค่นั้น แต่ยังต้องนำเงินได้ (กำไร) มารวมกับเงินได้อื่นๆ พร้อมยื่นภาษีประจำปี ซึ่งแน่นอนว่ามีเสียงสะท้อนออกมาในด้านลบ ไม่ว่าจะเป็นจากผู้ประกอบการ exchange หรือบรรดานักเทรดคริปโตฯ

ซึ่งก่อนที่จะวิเคราะห์ประเด็นเรื่องภาษีกำไร อีกเรื่องที่นักลงทุนคริปโตควรจะต้องมีคำถามกับทางสรรพากร (แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง) คือประเด็นเกี่ยวกับการเก็บภาษี VAT เพราะสรรพากรเก็บ VAT เสมือนคริปโตเป็นสินค้า

เพราะฉะนั้น 'จะเกิดการจ่าย VAT สองเด้ง' หากเรารับชำระการขายสินค้าเป็นคริปโต เพราะนอกจากเสีย VAT ตอนขายสินค้าแล้ว เรายังต้องเสีย VAT จากการขายคริปโตเป็นบาทอีกด้วย

แม้แต่ผู้ลงทุน หากขายคริปโตเกิน 1.8 ล้านบาท ก็ต้องจด VAT และเสีย VAT โดยไม่สามารถเขียนใบเสร็จได้ เพราะเราขายคริปโตใน exchange เราไม่รู้ผู้ซื้อ

นี่คือสาเหตุที่หลายประเทศได้แก้กฎหมายเพื่อปลดล็อกคริปโตออกจากระบบ VAT

ดังนั้นกรมสรรพากรควรจะเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องได้นำเสนอและศึกษาแนวทางที่เหมาะสมกับประเทศต่อไป โดยอาจจะดูตัวอย่างในต่างประเทศที่มีการออกข้อกำหนดลักษณะนี้มาแล้วก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง capital gains tax, VAT/GST สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น

1. VAT/GST – สิงคโปร์ ออสเตรเลีย หรือบางประเทศใน EU กำหนดให้การขาย crypto currency, การใช้ crypto currency ในการซื้อสินค้าและบริการ, การจ่ายเงินเป็น crypto currency จะไม่ต้องเสีย VAT โดยในต่างประเทศมีการยอมรับให้ใช้ crypto currency โดยไม่เสีย VAT แต่ประเทศไทยเรื่องนี้ยังต้องพูดคุยเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น มิเช่นนั้นอาจจะสร้างผลกระทบให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการซื้อขายสินค้าโดยใช้ crypto currency ก็เป็นได้

2. Capital Gains Tax (CGT) – หลายประเทศในเอเชีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ไม่มีการคิด CGT แต่อีกหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, แคนาดา มีการคิด CGT แต่สามารถนำค่าใช้จ่าย รวมถึงกำไร-ขาดทุนมาคำนวณเงินได้สุทธิก่อนยื่นภาษีได้ บางประเทศอนุญาตให้นำขาดทุนจากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลมาหักจากเงินได้ที่มาจากการลงทุนในตัวสินทรัพย์ดิจิทัลเท่านั้น ไม่สามารถนำมาหักจากรายได้ประเภทอื่น ส่วนประเทศไทยเองก็สามารถคำนวณ CGT โดยใช้หลักเกณฑ์ลักษณะนี้ได้เหมือนกันเพื่อความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

3. Tax-exempt – เกาหลีใต้ จะเก็บภาษีคริปโตในอัตรา 20% แต่จะยกเว้นภาษีจากกำไรส่วนแรกที่ไม่เกิน 2.5 ล้านวอน (แต่กฎเกณฑ์นี้ถูกเลื่อนออกไปอย่างน้อยถึงปี 2023) ส่วนในประเทศไทย “ถ้า” หากกรมสรรพากรสามารถจัดเก็บได้จริง อาจจะมีการพิจารณายกเว้นภาษีในส่วนแรก เช่นกำหนดให้กำไร 1 แสนบาทแรกไม่ต้องเสียภาษีก็สามารถทำได้

"ผม "ไม่เห็นด้วย" ที่กรมสรรพากรจะจัดเก็บภาษีส่วนนี้ จนกว่าจะมีคำตอบและความชัดเจนในทุกประเด็นที่กล่าวมา รวมไปถึงความชัดเจนในวิธีการว่าจะสามารถบริหารจัดการให้การเก็บมีความยุติธรรมต่อทุกคนที่เกี่ยวข้องได้หรือไม่ มีระบบและเครื่องมือที่สามารถตรวจได้อย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหนในทางปฏิบัติ? ในต่างประเทศที่มีการจัดเก็บ CGT ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำข้อตกลงกับทาง exchanges หรือ platforms ต่างๆเพื่อให้ส่งข้อมูลการซื้อขายกลับมายังรัฐบาล แต่เท่าที่ทราบตอนนี้ยังไม่เห็นมีมาตรการเหล่านี้ออกมาอย่างชัดเจน"

อย่างที่ได้กล่าวไปครับ รายละเอียดเยอะ ความซับซ้อนที่ต้องทำความเข้าใจมีเยอะ เรื่องแบบนี้ต้องให้ผู้เกี่ยวข้องที่รู้จริงมาถกหาทางออกร่วมกัน

ซึ่งไม่เพียงแค่ กรณ์ จาติกวณิช ที่ออกมาพูดเรื่อง "ภาษีคริปโต" เท่านั้น แม้แต่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์ ผอ.ศูนย์ดิจิทัลเพื่อสร้างพลังประชาชน ตลอดจน นรุตม์ชัย บุญนาค ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตบางคอแหลม ยานนาวา ได้ออกมาแถลงจุดยืนคัดค้านการจัดเก็บภาษีที่ได้จากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ ภาษีคริปโต โดยสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนของสินทรัพย์ดิจิทัล” หรือ “Digital Asset Hub” ของโลก ซึ่งคุณหญิงสุดารัตน์ระบุว่า การเก็บภาษีคริปโต สะท้อนการไม่เข้าใจโอกาสสร้างรายได้เข้าประเทศจาก Digital Asset ที่เป็น New Economy ของรัฐบาล เป็นการปิดกั้นโอกาสในการหารายได้ของคนรุ่นใหม่ การที่รัฐมีนโยบายจะเก็บภาษีจากรายได้ของผู้ทำกำไรจาก Digital Asset คงไม่มีใครว่า ถ้าเก็บอย่างเป็นธรรม ไม่เอาเปรียบผู้เสียภาษี ในทางตรงข้ามรัฐควรต้องส่งเสริมให้เกิดการใช้โอกาสในการสร้างรายได้จาก Digital Asset มากกว่า ซึ่งตามประกาศมาตรการจัดเก็บภาษีของสรรพากรว่ารัฐจะเก็บภาษีคริปโต 2 ขั้นคือ 

1.เก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายหรือ Withholding Tax 15% ซึ่งผู้ซื้อคริปโตต้องเป็นผู้ทำการหักและนำส่งจากกำไรของผู้ขาย เป็นราย Transaction ซึ่งปฏิบัติได้ยาก ไม่ Practical เพราะเวลาซื้อขายซึ่งมักเกิดจากการทำธุรกรรมผ่านระบบ Exchange และ DeFi ทำเราไม่สามารถรู้ได้ว่าผู้ซื้อหรือผู้ขายอีกฝั่งคือใคร การออกหนังสือรับรองแก่ผู้ขายจึงแทบเป็นไปไม่ได้ และนักลงทุนที่เป็น Day Trade ซื้อขายหลายรายการต่อวัน

“หากต้องคำนวนและหักภาษีนำส่งเป็นราย Transaction แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่บุคคลธรรมดาจะทำได้ถูกต้องทุก Transaction ตลอดปีภาษี เพราะไม่มีแผนกบัญชีเหมือนการทำในรูปแบบบริษัทมาคอยช่วยตรวจสอบแบ่งเบาภาระ หากในอนาคตเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แบบเดียวกันนี้ เชื่อว่านักลงทุนในตลาดหุ้นส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถปฏิบัติตามได้เช่นกัน”

2. เก็บภาษีเงินได้ประจำปีตามอัตราก้าวหน้า (0-35%) ซึ่งจะคิดเฉพาะจาก Transaction ที่กำไรเช่นกัน ดังนั้นถึงแม้ลงทุนรวมแล้วทั้งปีจะขาดทุน แต่หากมี Transaction ใดที่กำไร ก็ต้องเสียภาษีอีก ซึ่งอย่างนี้ผิดหลักการ Capital Gain Tax ที่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกไม่ทำกันแบบนี้ เพราะการเก็บ Capital Gain Tax จะต้องรวมกำไร ขาดทุนทั้งปี หักลบกลบหนี้แล้วกำไรเท่าไหร่ค่อยเสียภาษี จึงจะเป็นธรรมกับประชาชน ซึ่งการจัดเก็บแบบ Witholding Tax 15% ไปแล้ว ก็ไม่มีสิทธิเลือกเลยว่าจะปล่อยให้หักไปเลยแล้วไม่ต้องยื่นประจำปี แต่กลับให้ต้องมาเสียเพิ่มหรือเคลมคืนเมื่อสิ้นปีเอง เป็นการสร้างภาระซ้ำซ้อนอีก  
 
ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเรียกเก็บภาษีแบบนี้เห็นได้ชัดเจนทันทีจากปริมาณการเทรดใน Exchange ไทยลดลงทันทีถึง 25-45% แสดงให้เห็นว่าหากรัฐดึงดันจะใช้แนวปฏิบัตินี้ต่อไป ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะให้ Exchange ไทยเป็นผู้เก็บภาษีแทนอีกด้วย จะส่งผลให้นักลงทุนย้ายไปใช้ Platform ของต่างประเทศเพื่อที่จะไม่ต้องเสียภาษีแน่นอน ซึ่งจะเกิดความเสียหายกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทยที่หลายธุรกิจได้ลงทุนจนได้ใบอนุญาตไปแล้ว และสุดท้ายรัฐก็จะไม่สามารถเก็บได้แม้กระทั่ง VAT หรือภาษีเงินได้นิติบุคคลจากธุรกิจไทย

“พรรคไทยสร้างไทยคัดค้านการเก็บ Withholding Tax 15% ซึ่งสร้างภาระให้ประชาชน และถ้าจะเก็บจาก Capital Gain Tax ควรเก็บหลังจากหักลบกำไรขาดทุนในแต่ละปีตามหลักสากล และเห็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ของโลกยุคใหม่ เราจึงมีนโยบายที่จะสร้างประเทศไทย ให้เป็น “ศูนย์กลางการลงทุนของสินทรัพย์ดิจิทัล” หรือ “Digital Asset Hub” ของโลก เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ให้มาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีรายได้เข้ามามากมาย และยังเป็นการพัฒนาบุคลากรของไทยเราให้เก่งยิ่งขึ้น”

โดยการทำให้ไทยเป็น Digital Asset Hub ไม่ใช่เรื่องยากหรือไกลเกินฝัน เพียงรัฐเข้าใจ มีวิสัยทัศน์ สนับสนุนส่งเสริม ปลดล็อคกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคขวางกั้นความสามารถของคนรุ่นใหม่ แทนการมองเป็นทาสที่ต้องออกกฎควบคุมบังคับและจ้องรีดภาษีเท่านั้น พรรคไทยสร้างไทย เห็นว่าการไม่เก็บภาษีคริปโตสำหรับการเทรดบน Exchange ที่ได้รับอนุญาตในประเทศไทยเหมือนการเทรดหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (หรือในอนาคตควรเพิ่มการลดหย่อนจากการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ รวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นระยะเวลา 10 ปีเหมือนการซื้อ SSF เป็นบันไดขั้นต่อไป) ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ไทยเป็น Digital Asset Hub จะสร้างรายได้ให้รัฐมากมายกว่าการออกนโยบายเก็บภาษีคริปโต ที่ทำให้คนส่วนใหญ่จะหันไปเทรด Exchange ต่างประเทศ ในที่สุดประเทศไทยก็จะไม่ได้ประโยชน์ใดๆ และไทยจะเป็นประเทศที่ตกยุค ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
 
ทั้งนี้พรรคไทยสร้างไทย มีเป้าหมาย “สนับสนุนให้คนไทยทุกคนได้มีโอกาสทำมาหากินให้ได้ง่ายที่สุดให้ทุกคนร่ำรวยอย่างยั่งยืน” รัฐจึงจะเก็บภาษีได้ ไม่ต้องกู้มาใช้อย่างทุกวันนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นแล้วว่านโยบายเศรษฐกิจและการคลังดำเนินการมาอย่างผิดพลาดแบบนี้ตลอด 7 ปี ดังนั้นในทุกนโยบายของพรรคไทยสร้างไทย เราจึงมุ่งเน้นการปลดปล่อย (Liberate) ประชาชนจากรัฐราชการรวมศูนย์ กฎหมาย ระเบียบที่เป็นอุปสรรคขวางกั้นการทำมาหากินของประชาชน การสร้างพลัง (Empower) ให้ประชาชนมีช่องทางและเครื่องมือสร้างรายได้ในโลกยุคใหม่ให้มากที่สุด

หรือแม้กระทั่ง "วทันยา วงษ์โอภาสี หรือมาดามเดียร์" สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และภรรยา "ฉาย บุนนาค" กูรูนักลงทุนในตลาดหุ้นชื่อดังที่เข้าไปลงทุนในหุ้นตัวไหนก็จะดังเป็นพลุแตกทุกตัว ซึ่งมาดามเดียร์เองก็ไม่พลาดโอกาสที่จะอาศัยจังหวะนี้ แสดงความคิดเห็นผ่านเพจเฟสบุ๊กของตัวเองว่า "ภาษีหุ้น-ภาษีคริปโตฯ เก็บเพื่อช่วยประเทศ หรือผลักนักลงทุนออกนอกประเทศ" โดยระบุว่า เพียงแค่กรมสรรพากรเปรยถึงแผนการจัดเก็บภาษีจากคริปโตเคอร์เรนซี และเงินรายได้จากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ก็ทำให้นักลงทุนทั้งรายย่อยรายใหญ่ทั้งในตลาดหลักทรัพย์และดิจิทัลเคอร์เรนซีเกิดความกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

หากกรมสรรพากรดำเนินการเก็บภาษีจริงตามที่ปรากฏในข่าว สร้างเสียงความไม่พอใจ ความกังวลถึงวิธิปฏิบัติจริงที่ดูจะเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะการเก็บภาษีคริปโตฯในอัตรา 15% โดยผู้ลงทุนต้องเป็นผู้แจ้งการเสียภาษีต่อกรมสรรพากรเอง เหมือนเป็นการผลักภาระความรับผิดชอบและความเสี่ยงให้ประชาชนว่าถ้าหากรายงานการเสียภาษีผิดพลาด ในอนาคตจะต้องเผชิญความเสี่ยงค่าปรับภาษีย้อนหลังหรือไม่?

นอกจากนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าการเงินยุคดิจิทัลเคอร์เรนซีนั้นคือ “โลกการเงินที่ไร้พรมแดน” การออกกฎหมายดังกล่าวของกรมสรรพากรทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วเป็นการสร้างโอกาสในการเก็บรายได้เข้าแผ่นดิน หรือเป็นการตัดโอกาสของรัฐและบริษัทแพลตฟอร์มที่เป็นสัญชาติไทยโดยการไล่ให้ผู้ลงทุนไปลงทุนผ่านแผลตฟอร์มของบรรษัทต่างชาติแทน

การเก็บภาษีเป็นธรรมหรือไม่?

การเก็บภาษีคริปโตฯจากกำไรก็สร้างคำถามถึงความ “เป็นธรรม” ในการชำระภาษี เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า “การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง” นั่นหมายถึงว่า นักลงทุนทุกคนรู้ดีว่าการลงทุนนั้นมีโอกาสที่ได้ทั้งกำไรและขาดทุน การเก็บภาษีจากการซื้อ-ขายในแต่ละครั้งที่ได้กำไร ฟังเพียงผิวเผินเหมือนรัฐให้ความเป็นธรรมกับผู้ลงทุน แต่หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าการซื้อ-ขายของผู้ลงทุนนั้นมีธุรกรรมที่เกิดขึ้นหลายครั้งซึ่งสุดท้ายแล้วหากนำทุกธุรกรรมมารวมกัน ผลลัพธ์จากการลงทุนในคริปโตฯ อาจเป็นผลขาดทุน ในขณะที่ระหว่างทางกรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีจากผู้ลงทุนไปแล้วเรียบร้อย อย่างไรก็ดีสิ่งที่ซ้ำร้ายในด้านความ “เป็นธรรม” มากยิ่งกว่าการเก็บภาษีคริปโตฯก็คือ การเก็บภาษีหุ้นจากทุกธุรกรรมที่มีการขายโดยไม่สนใจว่าธุรกรรมนั้นจะเป็นผลกำไรหรือขาดทุน

แน่นอนว่าเจตนารมณ์ของการจัดเก็บภาษีภาครัฐก็คือการจัดเก็บภาษีจากประชาชนผู้มีรายได้ และในอดีตที่ผ่านมาประชาชนที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ก็ได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษีมาเป็นเวลานานกว่า 30 ปีด้วยเหตุผลเพื่อต้องการสนับสนุนให้ตลาดลงทุนไทยเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ในวันที่รัฐต้องการเปลี่ยนนโยบายสิ่งหนึ่งที่รัฐต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนก็คือ เงินลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรือตลาดคริปโตเคอร์เรนซีนั้นส่วนหนึ่งก็มาจากเงินออมของประชาชนที่เคยผ่านการเสียภาษีมาแล้วครั้งหนึ่ง หากประชาชนที่นำเงินออมมาลงทุนแล้วได้กำไร หรือได้รายได้เพิ่ม การจัดเก็บภาษีเงินกำไร (Capital Gain Tax) ก็ย่อมเป็นที่ยอมรับได้ แต่แนวนโยบายที่จะเก็บภาษีจากมูลค่าการขายหุ้นเลยโดยที่ไม่สนใจว่าเป็นรายได้ส่วนเพิ่มหรือไม่ และการเก็บภาษีกำไรจากทุกธุรกรรมในการลงทุนคริปโตฯ โดยไม่สนใจผลลัพธ์สุดท้ายของผู้ลงทุน ก็ทำให้เกิดคำถามถึงความ “เป็นธรรม” ของรัฐในการกำหนดนโยบาย
ผลกระทบที่สรรพากรต้องไม่มองข้าม

ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้การระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นเสมือนกระดูกสันหลังหนึ่งให้กับระบบเศรษฐกิจไทยนับเป็น “ทางออกสำคัญ” ให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศในการพึ่งพาตนเอง นอกจากผ่านช่องทางธนาคารพาณิชย์ที่มีข้อจำกัดมากมาย เพื่อนำเงินที่ได้ไปหมุนเวียนกิจการประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ สิ่งที่ตอกย้ำข้อเท็จจริงที่ว่าก็คือตัวเลขการระดมทุนของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือน ธ.ค. 64 ที่มียอดสูงเป็นประวัติกาลกว่า 50,000 ล้านบาทภายในเดือนเดียว ดังนั้นสิ่งที่กรมสรรพากรต้องคำนึงถึงรายละเอียดและวางแผนให้รอบคอบก่อนดำเนินนโยบายก็คือผลกระทบที่จะตกถึงโครงสร้างใหญ่ของระบบเศรษฐกิจไทยในอนาคต

โครงสร้างวอลลุ่มการซื้อ-ขายหุ้นในปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้เป็น 3ส่วนหลักๆก็คือ 1) นักลงทุนสถาบันเป็นสัดส่วน 20% 2) นักลงทุนต่างชาติคิดเป็นสัดส่วน 40% 3) นักลงทุนไทย 40% โดยแบ่งเป็นนักลงทุนรายใหญ่ 60% และนักลงทุนรายย่อย 40% สิ่งที่จะตามมากระทบหากกรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีหุ้นจากทุกคำสั่งขายจริงก็คือ สัดส่วนของนักลงทุนต่างชาติที่ปัจจุบันมีสัดส่วน 40% ของตลาดหลักทรัพย์จะลดจำนวนลงในทันที นั่นยังไม่นับถึงนักลงทุนไทยรายใหญ่ซึ่งถือเป็นกลุ่มหลักที่ช่วย Contribute ยอดวอลลุ่มของตลาดหลักทรัพย์ไทยในปัจจุบันเพราะทั้ง 2 กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางตรงในทันทีหากกฎหมายบังคับใช้ เมื่อมูลค่าการซื้อ-ขายของตลาดหลักทรพย์ไทยลดน้อยลงนั่นหมายถึงสภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์จะหายไป

ดังนั้นสิ่งที่จะกระทบเป็นลูกโซ่ตามมาโดยยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ ก็คือ การเทขายหุ้นของนักลงทุนสถาบันโดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันต่างชาติ เพราะสภาพคล่องของตลาดหุ้นไทยไม่สามารถตอบโจทย์การลงทุนได้อีกต่อไป นั่นหมายถึง มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดทุนไทยจะหดตัวลงในทันที

สิ่งที่รัฐควรทำ

ในวันที่การจัดเก็บรายได้รัฐไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายย่อมเป็นแรงกดดันให้กระทรวงการคลังต้องเร่งหารายได้อื่นเพื่อมาชดเชยรายได้ที่สูญเสียไป การเก็บภาษีจากนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และดิจิทัลเคอร์เรนซีที่ถือเป็นกลุ่มผู้มีรายได้สูงในประเทศ จึงเป็นกลุ่มที่รัฐคำนึงถึงเป็นรายแรกๆในการจัดเก็บภาษี ซึ่งเชื่อว่าหากกรมสรรพากรออกมาตรการการจัดเก็บภาษีอย่างเป็นธรรมต่อผู้ลงทุน โดยการเก็บจากรายได้เพิ่มที่นักลงทุนทำกำไรได้ พร้อมมีรายละเอียดที่ชัดเจนไม่ผลักภาระความรับผิดชอบให้ประชาชนต้องไปเผชิญความเสี่ยงในอนาคต ก็คงเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถยอมรับได้ ดังนั้นสิ่งที่รัฐควรพึงกระทำก่อนออกเป็นข้อกฎหมายที่นำมาใช้ปฏิบัติจริงก็คือ “การรับฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” ให้ครบถ้วน ไม่ใช่การรับฟังแต่ผู้บังคับใช้กฎหมาย (Regulator) เพราะจะทำให้ขาดข้อมูลในการพิจารณาให้ครบถ้วนและรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคำนึงถึงผลกระทบของภาพรวมการลงทุนที่หากพิจารณาไม่รอบคอบแล้ว ก็ไม่ต่างกับการที่ “รัฐผลักเงินลงทุนคนไทยออกไปให้ต่างประเทศ พร้อมสูญเสียเงินและโอกาสจากเงินลงทุนของต่างชาติในคราวเดียวกัน”

ในวันที่ประชาชนเดือดร้อน พยายามดิ้นรนช่วยเหลือตัวเองเพื่อเอาชีวิตรอดเพราะเครื่องมือช่วยเหลือจากมาตรการของภาครัฐนั้นไม่สามารถตอบโจทย์ก็นับว่ายากลำบากเต็มทีแล้ว ตลาดลงทุนจึงเป็นทางออกสำคัญให้ประชาชนตั้งแต่รายย่อยไปจนถึงรายใหญ่เพื่อระดมทุนไปประคับประคองธุรกิจหรือเพื่อรักษามูลค่าเงินออมให้ทันกับราคาสินค้าอาหารที่แพงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นบทบาทของรัฐในการเป็นผู้สนับสนุน (Facilitator) จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องใช้ให้ถูกที่และถูกเวลาเพราะหากเมื่อเดินหน้าไปแล้วก็ยากที่จะกลับมาแก้ไขผลพวงที่เกิดขึ้น

ขณะที่ ปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของของ ดร.ซุป ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ UNCTAD และ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) ก็ได้ออกมาโพสต์ถึงประเด็นภาษีคริปโตนี้ในงานเสวนา Blockchain Thailand Genesis 2021 ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง Cryptomind Group และ สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย โดย ปริญญ์ ให้ความเห็นต่อประเด็นภาษีคริปโตว่า การยกเว้นการเก็บภาษีคริปโต - ไม่ใช่ว่าจะเก็บเลยไม่ได้ตลอดไปแต่การเก็บภาษีต้องคำนึงถึง

1. ความเป็นธรรม - รัฐบอกอยากสนับสนุนผู้ประกอบการตัวเล็ก/สตาร์ทอัพ/SMEs ซึ่งคนกลุ่มนี้ลงทุนหรือใช้ช่องทางดิจิตอลในการระดมทุนเพราะสถานการณ์วิกฤติโควิดทำให้พวกเขาเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ถูกและเป็นธรรมได้ยากขึ้น กลายเป็นรัฐมาไล่บี้ภาษีจากพวกเขาทั้งที่คนตัวใหญ่ลงทุน & ระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ฯ ไม่เสียภาษี! อันนี้ยังไม่พูดถึงรายละเอียดการจัดเก็บที่จะเก็บเฉพาะเทรดที่กําไรส่วนเทรดที่ขาดทุนเอามาหักกลบไม่ได้ ทำให้นักลงทุนเสียเปรียบ

2. ความเป็นสากล - ธุรกิจยุคใหม่ต้องหันดูกฎเกณฑ์ต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะเรื่องดิจิตอลซึ่งไร้พรมแดน ประเทศส่วนใหญ่เขายังไม่เก็บกัน (ยังไม่มีกฎหมายเรื่องนี้ด้วยซํ้า) เพราะเขาปล่อยให้นวัตกรรมใหม่ทางการเงินวิ่งไปสร้างประโยชน์เต็มที่ก่อนแล้ค่อยเข้ามาควบคุมกำกับดูแล การที่เรามาเก็บทําให้เกิดสมองไหลของผู้ประกอบการยุคใหม่เก่งๆต้องย้ายฐานการระดมทุนไปต่างประเทศ เผลอๆต้องย้ายออฟฟิศและคนงานเก่งๆไป ต่างประเทศ หรือไปขยายที่ ต่างประเทศ เราสูญเสียโอกาส ส่วนนักลงทุนก็จะย้ายไปเทรดบนแพลตฟอร์มต่างชาติเช่น Binance เพื่อเลี่ยงภาษีที่นี่ ทําให้บริษัทแพลตฟอร์มไทยเองเสียโอกาสเติบโต

3. ความสะดวกในการจัดเก็บ - การคํานวนต้นทุนจริง ๆ ทําได้ยากมากและการจัดเก็บข้อมูลทุกเทรด (บางวันหลายแสนหลายล้านเทรด) เป็นไปลําบากในโลกของการกระจายข้อมูลอย่างไม่มีตัวกลาง Decentralized เป็นความไม่สะดวกอย่างมากกับนักลงทุน

นอกจากนี้เราควรคำนึงถึงการสร้างวัฎจักรของนวัตกรรมและอุตสาหกรรมการเงินยุคใหม่ที่ดีขึ้นให้ประเทศและเมื่อนั้นจะสามารถดึงดูดนักลงทุน/บริษัทยักษ์ใหญ่มาบ้านเรา เราจะสามารถเก็บภาษีเป็นกอบเป็นกําได้อย่างเต็มที่มากกว่ามาวิ่งไล่เงินเศษเล็กน้อยตรงที่กับคนเทรดคริปโต (แถมคงแทบเก็บไม่ได้เพราะหลายคนย้ายไปเทรดกระดานต่างประเทศกันแล้ว)

อย่างไรก็ตาม จากการออกมาแสดงความคิดเห็นของบุคคลทางการเมืองดังกล่าวนั้น ได้เกิดการถกเถียงกันระหว่างนักลงทุน และกลุ่มแฟนคลับทางการเมืองทั้งขั้วตรงข้ามมากมาย ว่าเป็นการแสดงมุมมองความคิดเห็นที่จริงใจในการแก้ปัญหาด้านภาษีอย่างแท้จริง หรือมีนัยยะซ่อนเร้นแอบแฝง เพื่อหวังผลทางการเลือกตั้ง ทั้งในระดับท้องถิ่น หรือระดับประเทศ ซึ่งก็ต้องมาดูกันต่อไปว่า #ภาษีคริปโต15% นี้ ท้ายที่สุดแล้วจะออกมาในรูปแบบไหน
กำลังโหลดความคิดเห็น