xs
xsm
sm
md
lg

ทอท.เผยผู้ประกอบการในสนามบินเจ๊งแล้ว 900 สัญญา ยืดมาตรการลดค่าเช่าพยุงธุรกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ทอท.ยันขยายมาตรการลดค่าเช่า / ค่าตอบแทนถึง มี.ค. 66 ช่วยแอร์ไลน์และผู้ประกอบการ เผยล่าสุดเลิกกิจการไปแล้ว 900 สัญญา คาดปี 66 ผู้โดยสารฟื้น เร่งรับโอน 3 สนามบิน สร้างฮับในภูมิภาค และเปิดธุรกิจ non aero เสริมรายได้

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. (AOT) เปิดเผยว่า จากที่คณะกรรมการ ทอท.ได้ขยายมาตรการให้ความช่วยเหลือสายการบินและผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบดำเนินงานของ ทอท.ทั้ง 6 แห่ง ออกไปจากเดิมสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มี.ค. 65 เป็นสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มี.ค. 66 ซึ่งประเมินว่าจะมีส่วนต่างรายได้ในปีงบประมาณ 2565 เทียบกับกรณีไม่ขยายมาตรการใดๆ จำนวน 3,037 ล้านบาท และปี 2566 ส่วนต่างรายได้จะเพิ่มเป็น 6,171 ล้านบาท

โดยในส่วนของพื้นที่เชิงพาณิชย์ (non-aero) พบว่าปัจจุบันทั้ง 6 สนามบินมีพื้นที่รวมกว่า 430,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่ว่างไม่มีผู้เช่า 113,765 ตารางเมตร (26.41%) พื้นที่ผู้ประกอบการขอหยุดกิจการชั่วคราวจากสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 115,614 ตารางเมตร (26.84%) ส่งผลให้มีผู้ประกอบการอยู่เพียง 46.76% ของพื้นที่

ขณะที่จำนวนสัญญาของสายการบินและผู้ประกอบการที่มีจำนวนรวม 2,783 สัญญา พบว่าวันที่ 30 ก.ย. 2564 มีหยุด/ยกเลิกประกอบกิจการ จำนวน 900 สัญญา หรือคิดเป็น 32.34% ซึ่งหากทอท.ไม่มีมาตรการใดๆ โดยยังคงเก็บค่าตอบแทนเหมือนเดิม จะทำให้มีผู้ประกอบการและสายการบินขาดความสามารถในการชำระค่าเช่าและค่าตอบแทน และไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ ต้องยกเลิกกิจการมากขึ้น จึงเป็นเหตุให้ต้องขยายมาตรการเพิ่ม

นอกจากนี้ ทอท.ได้คาดการณ์จำนวนผู้โดยสารรวมทั้ง 6 สนามบินในงบปี 2566 (ต.ค. 65-ก.ย. 66) จะอยู่ที่ประมาณ 110-120 ล้านคน หรือ 80% ของจำนวนผู้โดยสารก่อนเกิดโควิด-19 ในปี 2562 ที่มี 140 ล้านคน โดยคาดหวังจีนจะเปิดประเทศ และสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ก็น่าจะจบ

นายนิตินัยกล่าวว่า นอกจากนี้ ทอท.จะเพิ่มรายได้จาก Non Aero โดยทำธุรกิจใหม่ ได้แก่ การเปิดศูนย์ Certify Hub, Airport City ที่จะเปิดทั้งแปลง 37 ในพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ และพื้นที่ 723 ไร่ที่อยู่ใกล้สนามบิน รวมถึง AOT Digital Platform ที่รุกตลาด E-Commerce ซึ่งจะเปิดตัว 1 ธ.ค.นี้ พร้อมรับโอนสนามบิน จากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) 3 แห่ง ได้แก่ สนามบินอุดรธานี สนามบินบุรีรัมย์ ซึ่ง 2 แห่งนี้จะเป็น Hub ในอีสานที่จะเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้าน และสนามบินกระบี่ที่รองรับผู้โดยสารที่ล้นมาจากสนามบินภูเก็ต โดยคาดว่าในเดือน ธ.ค. 2564 จะเสนอบอร์ด ทอท. และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในเดือน ม.ค. 2565
กำลังโหลดความคิดเห็น