xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ถกนักธุรกิจยุโรป แลกเปลี่ยนมุมมองนโยบายและมาตรการเศรษฐกิจ-การค้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“พาณิชย์” ถกสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน และสมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์ แลกเปลี่ยนมุมมองนโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจและการค้า โชว์ผลงานไทยปรับกฎระเบียบอำนวยความสะดวกทางการค้าตาม WTO แล้วกว่า 97% การให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และยังได้หารือความคืบหน้าการทำ FTA กับอียูและเอฟตา

นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ช่วงปลายเดือน พ.ย. 2564 ที่ผ่านมาได้รับมอบหมายจาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เข้าร่วมหารือกับสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU-ASEAN Business Council : EU-ABC) และสมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์ (European Association for Business and Commerce : EABC) ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับแนวนโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจและการค้าของไทย โดยได้ใช้โอกาสนี้ให้ความเชื่อมั่นแก่กลุ่มนักธุรกิจยุโรปที่ทำการค้าและลงทุนในไทยและอาเซียนว่าไทยได้ปรับกฎระเบียบให้สอดคล้องกับความตกลงการอำนวยความสะดวกทางการค้าขององค์การการค้าโลก (WTO) แล้วกว่า 97% คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปีนี้ และได้ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและการบังคับใช้สิทธิ์อย่างเต็มที่ มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการเพื่อลดต้นทุนของภาคธุรกิจ

ไทยได้แสดงให้เห็นถึงการปรับตัว โดยได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเป็นออนไลน์ หรือไฮบริด เช่น การเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ การให้บริการตลาดกลางพาณิชย์ดิจิทัลของไทยใน Thaitrade.com และการจัดงานแสดงสินค้าเสมือนจริง โดยได้เชิญชวนให้ภาคธุรกิจยุโรปเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ ยังได้หารือเกี่ยวกับความคืบหน้าการจัดทำความตกลงการค้าเสรีของไทยในกรอบต่างๆ โดยเฉพาะการฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป และสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับภูมิภาคยุโรปต่อไป

“การหารือครั้งนี้ได้รับความสนใจจากภาคเอกชนยุโรปเป็นอย่างมาก มีบริษัทชั้นนำของยุโรปที่ดำเนินธุรกิจในไทยและภูมิภาคอาเซียนเข้าร่วมกว่า 64 ราย ครอบคลุมธุรกิจหลากสาขา เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ยาและเวชภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภค การเงิน โลจิสติกส์ เป็นต้น ซึ่งไทยได้ย้ำถึงความสำคัญของการหารือร่วมกับภาคเอกชน โดยยินดีรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะในประเด็นต่างๆ เพื่อนำมาปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยให้เป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนในอาเซียน” นายสรรเสริญกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น