xs
xsm
sm
md
lg

จับตาไทยจ่อเก็บภาษีคาร์บอน กระตุ้นธุรกิจลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กรมสรรพสามิตเร่งศึกษาเก็บภาษีคาร์บอน หวังกระตุ้นภาคธุรกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้ไทยเป็น Net Zero ปี ค.ศ. 2065 ตามที่ประกาศในเวที COP26 ด้านบางจากฯ วางแผนก้าวสู่องค์กร Net Zero ในปี 2050 หนุนตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตช่วยให้ไทยเข้าสู่สังคมโลว์คาร์บอน

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต แสดงปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาประจำปี “Exponential Path to Net Zero” ภายใต้แนวคิด “บางจาก
100x:100 ไอเดีย เพื่อโลกยั่งยืน” เมื่อวานนี้ (18 พฤศจิกายน) ว่า ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์นั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศร่วมมือกับประชาคมโลกเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งประเทศไทยมีโรดแมปการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3 ช่วง คือในปี ค.ศ. 2030 ไทยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40%, ในปี ค.ศ. 2050 ไทยเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และปี ค.ศ. 2066 ไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

กลไกที่จะให้บรรลุเป้าหมายโรดแมปดังกล่าว ทางกรมสรรพสามิตมีเครื่องมือที่จะดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม และยังช่วยให้รัฐบรรลุเป้าหมายการเป็น Net Zero คือ ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาภาษีคาร์บอนอยู่เพื่อเตรียมความพร้อมให้ภาครัฐ

ทั้งนี้ หากพิจารณาประเทศที่เป็นผู้นำด้านสะอาด จะมี 2 แนวทาง คือ 1. ภาษีคาร์บอน ที่จะต้องกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีต่อตันคาร์บอน โดยรัฐจะอนุญาตให้โรงงานสามารถปล่อยคาร์บอนได้จำนวนหนึ่ง หากปล่อยคาร์บอนเกินกว่าที่กำหนดจะต้องเสียภาษีคาร์บอน ซึ่งมีหลายประเทศได้บังคับใช้แล้วในยุโรปส่วนเอเชียก็มีสิงคโปร์ และญี่ปุ่น

2. วิธีการซื้อขายแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจก (Cap&Trade) โดยภาคอุตสาหกรรมสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตจากโรงงานที่ปล่อยคาร์บอนน้อยได้ โดยประเทศที่มีการใช้แล้วคือจีน และเยอรมนี ดังนั้นทางกรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างศึกษาว่า 2 แนวทางนี้วีธีใดเหมาะสมกับไทย

นายลวรณกล่าวว่า ภาคพลังงานเป็นภาคธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ดังนั้นหากรัฐมีมาตรการเรื่องนี้ออกมาก็จะมุ่งไปที่ภาคพลังงานก่อนแน่นอน แต่เท่าที่ทราบผู้ประกอบการภาคพลังงาน อาทิ โรงไฟฟ้า ได้ตื่นตัวและมีเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนเร็วกว่าโรดแมปของประเทศอีก ดังนั้นหากรัฐออกภาษีคาร์บอนออกมาใช้น่าจะเป็นตัวเร่งให้เป็นรูปธรรมเร็วขึ้น

ส่วนภาคขนส่ง ทางกรมสรรพสามิตมีแผนปรับปรุงโครงสร้างภาษีรถยนต์ที่อิงกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ใหม่ที่จะมีความเข้มขึ้น โดยได้หารือกับผู้ประกอบการยานยนต์แล้ว เพื่อให้ภาคธุรกิจได้เตรียมความพร้อม ส่วนรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เข้าเชื่อว่าต้นปีหน้าจะมีแนวทางมาตรการต่างๆ ประกาศชัดเจนขึ้น


ด้านนายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บางจากฯ ตั้งเป้าเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) ใน ค.ศ. 2030 โดยดำเนินการหลายรูปแบบ ทำให้ลดสัดส่วนรายได้จากเชื้อเพลิงฟอสซิล:ธุรกิจสีเขียว จาก 60:40 เหลือ 50:50 และตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ใน ค.ศ. 2050 ส่งผลให้สัดส่วนรายได้ของบางจากฯ ที่มาจากธุรกิจสีเขียวจะเพิ่มเป็น 70-80%

นอกจากนี้ บางจากฯ ได้ร่วมกับอีก 19 องค์กรพันธมิตรร่วมเป็นเครือข่ายตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Markets Club) มีความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะช่วยกันสนับสนุน เผยแพร่ ส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอน และได้เริ่มการค้าขายแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจก หรือคาร์บอนเครดิตประมาณกว่า 6 หมื่นตันเทียบเท่าคิดเป็นต้นไม้ 750,000 ต้น โดยมองว่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจะเป็นสะพานเชื่อมที่สำคัญช่วยสร้างสมดุลระหว่างการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน กับความมั่นคงทางพลังงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น