xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” เปิดแผนปี 65 ทุ่มลงทุนกว่า 9.74 แสนล้านบาท ผุด 24 โครงการใหม่ พัฒนาโครงข่ายถนน-สนามบิน-ระบบราง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“ศักดิ์สยาม” ทุ่มลงทุนปี 65 กว่า 9.74 แสนล้านบาท ผุด 24 โครงการใหม่ เติมโครงข่ายถนน มอเตอร์เวย์-รถไฟฟ้า-ทางคู่ ขยายสนามบิน ผุดแลนด์บริดจ์เปิด PPP พัฒนาท่าเรือน้ำลึกสองฝั่ง พร้อมตั้งสายเดินเรือแห่งชาตินำร่องเส้นทางในประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิต กระตุ้น ศก.

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานในปี 2565 ของกระทรวงคมนาคมว่า มีกรอบการลงทุนโครงการใหม่ตามนโยบายจำนวน 24 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 974,454 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการทางถนนจำนวน 12 โครงการ วงเงินรวม 281,205 ล้านบาท ได้แก่ 1. ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง (M9) วงเงิน 56,035 ล้านบาท (ปี 2565-2568) 2. มอเตอร์เวย์ M9 ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน (หรือดอนเมืองโทลล์เวย์) วงเงิน 27,800 ล้านบาท (ปี 2566-2569) 3. โครงข่ายเชื่อมต่อมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-นครราชสีมา (M6) กับทางหลวงหมายเลข 32 วงเงิน 4,700 ล้านบาท 4. มอเตอร์เวย์ (M7) ช่วงศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ วงเงิน  29,550 ล้านบาท (ปี 2567-2570) 5. มอเตอร์เวย์ M 8 สายนครปฐม-ชะอำ ช่วงนครปฐม-ปากท่อ วงเงิน 51,760 ล้านบาท

6. ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ N1 และ N2 วงเงิน 37,870 ล้านบาท (ปี 2567-2570) 7. ทางด่วนส่วนต่อขยายสายฉลองรัช ช่วงจตุโชติ-ถนนวงแหวนรอบที่ 3 วงเงิน 21,919 ล้านบาท (ปี 2567-2570) 8.  ทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต วงเงิน 14,470 ล้านบาท (ปี 2567-2570) 9. ทางด่วน ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ จ.ภูเก็ต วงเงิน 30,456 ล้านบาท (ปี 2568-2571) 10. ถนนเชื่อมศูนย์ซ่อมอากาศยาน-สะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 จ.นครพนม วงเงิน 1,600 ล้านบาท (ปี 2565-2567) 11. สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน) วงเงิน 4,765 ล้านบาท (ปี 2566-2568) 12. นโยบายแต่งแต้ม สีสันทางหลวงส่งเสริมการท่องเที่ยว วงเงิน 280 ล้านบาท (ปี 2565-2566)

ทางราง มี 5 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 624,879 ล้านบาท ได้แก่ 1. รถไฟทางคู่สายใหม่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงิน 85,345 ล้านบาท (ปี 2565-2569) 2. รถไฟทางคู่สายใหม่ บ้านไผ่-นครพนม วงเงิน 67,965 ล้านบาท (ปี 2565-2569) โครงการรถไฟฟ้าใน กทม.และปริมณฑล 3. สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ วงเงิน 122,067 ล้านบาท (ปี 2565-2570)  4. สายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 124,958 ล้านบาท (ปี 2565-2570) 5. รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 224,544 ล้านบาท (ปี2565-2571)

ทางอากาศ มี 4 โครงการ วงเงินรวม 59,448.01 ล้านบาท ได้แก่ โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 วงเงิน 15,818.51 ล้านบาท (ปี 2565-2569) 2. โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 วงเงิน 36,829.50 ล้านบาท (ปี 2565-2572) 3. โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานชุมพร วงเงิน 3,250 ล้านบาท (ปี 2565-2570) 4. โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานระนอง วงเงิน 3,550 ล้านบาท (ปี 2565-2571)

ทางบก มี 1 โครงการ คือ ศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม วงเงิน 1,361.36 ล้านบาท (ปี 2565-2567) ทางน้ำมี 2 โครงการ ได้แก่ 1. แนวป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งช่วง อ.พระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 4 กม. วงเงิน 1,010 ล้านบาท (ปี 2565) เขื่อนป้องกันตลิ่ง อ.
พระนครศรีอยุธยา ถึง อ.คลองหลวง ระยะทาง 13 กม. วงเงิน 5,105 ล้านบาท (ปี 2566) 2. โครงการฟื้นฟูชายหาดจอมเทียน ระยะที่ 1 วงเงิน 586 ล้านบาท (ปี 2565) ชายหาดจอมเทียน ระยะที่ 2 วงเงิน 420 ล้านบาท (ปี 2566) ชายหาดบางแสน วงเงิน 440 ล้านบาท (ปี 2566)

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินตามนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มุ่งมั่นพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทั่วทั้งประเทศอย่างบูรณาการ ทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างความอยู่ดีกินดีให้แก่พี่น้องประชาชนมาโดยตลอด โดยในปี 2565 กระทรวงคมนาคมจะเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคมในเชิงรุก โดยมุ่งเน้นการบูรณาการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมระหว่างรูปแบบการขนส่ง และการกำกับดูแลการพัฒนาระบบคมนาคมให้มีความสะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา และราคาสมเหตุสมผล เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน สนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ แผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ตั้งแต่ปี 2558-2565 คิดเป็นมูลค่าวงเงินลงทุนทั้งสิ้น 1.44 ล้านล้านบาท โดยการขนส่งทางรางมีการลงทุนสูงที่สุด วงเงินรวมประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท ได้แก่ การพัฒนารถไฟทางคู่ ซึ่งในปี 2564 ได้ดำเนินการจำนวน 7 โครงการ วงเงิน 241,822 ล้านบาท โดยการก่อสร้างจะทยอยแล้วเสร็จ โครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูง ความร่วมมือไทย-จีน ระยะที่ 1 วงเงิน 403,927 ล้านบาท การพัฒนารถไฟฟ้าในเขต กทม.และปริมณฑล ปี 2565 จำนวน 5 โครงการวงเงินลงทุน 455,255 ล้านบาท การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางถนน 14 เรื่อง วงเงิน 261,854 ล้านบาท โครงการด้านขนส่งทางบก จำนวน 19 เรื่อง วงเงินลงทุน 4,200 ล้านบาท การคมนาคมขนส่งทางน้ำ 11 เรื่อง วงเงินรวม 12,600 ล้านบาท การขนส่งทางอากาศ วงเงินรวม 58,300 ล้านบาท

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ในปี 2565 จะเร่งขับเคลื่อนโครงการสำคัญให้เกิดเป็นรูปธรรม เช่น โครงการเชื่อมระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ซึ่งจะมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกระนอง-ชุมพร และรถไฟทางคู่เชื่อมท่าเรือสองฝั่ง ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างศึกษา คาดว่าต้นปี 2565 จะมีกรอบชัดเจนเสนอ ครม.เพื่อศึกษาการลงทุนรูปแบบ  PPP ในปี 2565 ตามแผนคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ไม่เกินปี 2572 รวมไปถึงเร่งการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการเดินเรือ Domestic ในอ่าวไทยเชื่อมโยงภาคตะวันออกกับภาคใต้ได้ภายในเดือนสิงหาคม 2565 และในระยะต่อไปจะเปิดให้บริการเดินเรือ International ไปทางฝั่งตะวันออก (จีน เกาหลี ญี่ปุ่น) และทางฝั่งตะวันตก (อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ)










กำลังโหลดความคิดเห็น