xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” คาดเปิดประเทศผู้โดยสารรีเทิร์นเร็ว เร่งเคลียร์ สศช.ดันสร้างเทอร์มินัลด้านเหนือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“ศักดิ์สยาม” คาดเปิดประเทศกระตุ้นเดินทาง ผู้โดยสารฟื้นตัวก้าวกระโดด ปี 65 สุวรรณภูมิแน่นเหมือนเดิม ดันเร่งสร้างเทอร์มินัลทิศเหนือรองรับ สั่ง “ปลัดคมนาคม” หารือเลขาฯ สศช. ชี้ไทยเป็นเป้าหมายนักเดินทางทั่วโลก คาดปี 2031 ผู้โดยสาร 213 ล้านคน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามนโยบายการเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย. 2564 ของรัฐบาล ประกอบกับหลายประเทศมีมาตรการในการเปิดประเทศ เช่น ประเทศออสเตรเลียให้ฉีดวัคซีนครบ 2 โดส เดินทางได้โดยไม่ต้องกักตัว ทำให้เชื่อว่าการฟื้นตัวของผู้โดยสารทางอากาศจะกลับมา (Turnaround) อย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด จากที่เดิมมีการศึกษาว่าปริมาณผู้โดยสารจะฟื้นตัวกลับมาเท่ากับปี 2562 (ก่อนเกิดโควิด-19) ภายใน 2 ปีนั้น อาจจะกลับมาเร็วขึ้น หรือในปี 2565 ผู้โดยสารอาจจะกลับไปเกือบเท่าปี 2562 ก็ได้ เนื่องจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีการชะลอตัวทั้งนักลงทุน นักเดินทาง นักท่องเที่ยว ดังนั้นเมื่อเปิดให้เดินทางได้ เชื่อว่าอัตราเร่งการเดินทางจะสูงมาก

ทั้งนี้ ในการรองรับการเปิดประเทศจะต้องเตรียมพร้อมระบบโลจิสติกส์การขนส่งต่างๆ ที่เชื่อมต่อกับสนามบินทุกแห่ง เพื่อให้การเดินทางของนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังประเทศไทยสามารถออกจากสนามบินไปยังจุดหมาย และแหล่งท่องเที่ยวอย่างสะดวกด้วย

“ประเทศไทยก็มีความพร้อมเรื่องวัคซีนแล้ว ในปีนี้จะมี 120 ล้านโดส ซึ่งเพียงพอ ส่วนการฉีดบูสเตอร์ ในปี 2565 จะใช้วัคซีนแอสตร้าฯ ซึ่งมีการทำสัญญาไว้แล้ว ซึ่งระบุไว้ด้วยว่าหากมีวัคซีนรุ่นใหม่ก็จะนำมาใช้ได้เลย”

@เตรียมหารือ สศช.เร่งสร้างอาคารผู้โดยสารด้านเหนือ

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า การขยายขีดความสามารถของสนามบินสุวรรณภูมิมีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2031 ประเทศไทยจะมีจำนวนผู้โดยสารทางอากาศถึง 213 ล้านคนอีกด้วยส่วนความคืบหน้าโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น กระทรวงคมนาคม และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.นำเสนอแผนแม่บทฉบับ Revisit ต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เพื่อพิจารณาแล้ว ซี่งทางสภาพัฒน์เคยมีความเห็นให้ก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลัก หลังที่ 1 ด้านทิศตะวันออก (East Expansion) และส่วนต่อขยายทิศตะวันตก (West Expansion) ก่อน ซึ่งจะต้องหารือกันต่อไป โดย ทอท.จะดำเนินการ 3 โครงการไปพร้อมๆ กัน

ทั้งนี้ ตนได้มอบหมายให้ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม และนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดฯ นัดหารือกับเลขาฯ สภาพัฒน์อีกครั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้ทางเลขาฯ สภาพัฒน์ระบุว่าไม่ได้ขัดข้องกรณีการก่อสร้างอาคารส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ รวมถึงหารือถึงโครงการต่างๆ ของกระทรวงคมนาคมที่ต้องให้สภาพัฒน์พิจารณาก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบด้วย

“สภาพัฒน์เห็นว่าช่วงนี้ผู้โดยสารน้อย การก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านตะวันตกและตะวันออกสามารถทำได้ไม่กระทบผู้โดยสาร ซึ่งทำได้ แต่สิ่งที่คมนาคมและ ทอท.เป็นห่วงคือ เนื่องจากการก่อสร้างทั้ง 2 ส่วนนั้นจะติดกับอาคารผู้โดยสารหลัก อย่างไรก็ตามจะต้องมีผลกระทบต่อการให้บริการแน่นอน และหากทำตามสภาพัฒน์แล้วการเดินทาง จำนวนผู้โดยสารกลับมาเท่าเดิม ทอท.ก็ต้องมีการก่อสร้างอาคารด้านทิศเหนืออยู่ดี” นายศักดิ์สยามกล่าว

ทอท.ได้ชี้แจงหลายครั้งแล้วว่าอาคารผู้โดยสารหลักมีขีดความสามารถรองรับได้ 45 ล้านคน/ปี อาคารเทียบเครื่องบินรองหลักที่ 1 (SAT-1) รองรับได้ 15 ล้านคน/ปี ทำให้ขีดความสามารถรวมเป็น 60 ล้านคน/ปี แต่ขณะนี้สนามบินสุวรรณภูมิอยู่ระหว่างขยายทางวิ่ง (รันเวย์) เส้นที่ 3 ซึ่งจะทำให้ขีดความสามารถของรันเวย์รองรับได้ที่ 90 ล้านคน/ปี ไม่สมดุลกับขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสาร แล้ววันนี้ยังไม่ทำส่วนต่อขยายด้านเหนือ ด้านตะวันออก ด้านตะวันตก ประกอบกับต้องปรับการให้บริการเป็นแบบ New Normal จะยิ่งมีปัญหา

@คาดการณ์ปี 2031 ไทยมีขนาดการบินเป็นอันดับ 9 ของโลก
ทั้งนี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT ได้รายงานถึงจำนวนผู้โดยสารทางอากาศว่า ในช่วงปี 2563-2564 ที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้เที่ยวบินและการเดินทางโดยเครื่องบินลดลงอย่างรุนแรงในรอบ 10 ปี โดยปี 2563 มีผู้โดยสารเหลือ 58.25 ล้านคน หรือลดลง 64.7% โดยผู้โดยสารระหว่างประเทศลดลงถึง 81% อย่างไรก็ตาม นโยบายเปิดประเทศนำร่อง “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศเพิ่มขึ้น จำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศฟื้นตัวกลับมาอยู่ในหลักแสนคนในรอบหลายเดือน

อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีขนาดการบินใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก ในปี ค.ศ. 2031 โดยคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารทางอากาศถึง 213 ล้านคน ซึ่ง กพท.จะมีการศึกษาวางแผนงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมพร้อมโดยเฉพาะการจัดการห้วงอากาศ เนื่องจากประเทศไทยมีขนาดใหญ่กว่าอังกฤษ 2 เท่า แต่อังกฤษรองรับได้ 3 ล้านเที่ยวบิน/ปี ส่วนประเทศเยอรมนีมีขนาด 2 ใน 3 ของไทย รองรับได้เกือบ 4 ล้านเที่ยวบิน/ปี ส่วนไทยปี 2562 มีปริมาณจราจรทางอากาศ 1.05 ล้านเที่ยวบิน และยังมีปัญหาแออัดเที่ยวบินดีเลย์

@ ชง ครม. ธ.ค. 64 ให้ ทอท.บริหารสนามบิน ทย. “กระบี่-อุดรธานี-บุรีรัมย์”

สำหรับนโยบายให้ ทอท.บริหารสนามบินของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) 3 แห่ง ได้แก่ กระบี่ ซึ่งมีศักยภาพสูง, สนามบินอุดรธานี จะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางขนส่งผู้โดยสารภาคอีสาน, สนามบินบุรีรัมย์ พัฒนาให้เป็นเกตเวย์สู่ภาคอีสานตอนใต้และประเทศเพื่อนบ้านนั้น คาดการณ์สามารถนำเข้า ครม.ในเดือน ธ.ค. 2564
กำลังโหลดความคิดเห็น