xs
xsm
sm
md
lg

อีเวนต์ร่วง ปิดหนีหนี้ โควิดฟาด “อินเด็กซ์” สูญโอกาส 2,000 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



การตลาด - ล็อกดาวน์ ห้ามจัดงาน สุดสายป่านจะยื้อไหว วินาทีนี้ผู้ประกอบการอีเวนต์ปิดตัวหนีหนี้กันเพียบ ที่ยังอยู่เพราะปรับตัวได้เร็ว พึ่งพารายได้อื่นต่อชีวิต “อินเด็กซ์” ขาใหญ่ในวงการ เผย 2 ปีสูญโอกาสสร้างรายได้ร่วม 2,000 ล้านบาท เบนเข็มลุยโอนโปรเจกต์ทดแทนรายได้ที่หายไป ล่าสุดขอเป็นผู้กล้าส่ง 7 อีเวนต์ลุยไตรมาสสี่ พร้อมจี้รัฐให้ค่าวัคซีน สู่การใช้ชีวิตแบบปกติ 100% ลุ้นปีหน้ารายได้กลับมาแตะ 1,000 ล้านบาทอีกครั้ง

“สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นตลอดปี 2564 เป็นที่ทราบกันว่าปีนี้ไม่สามารถจัดงานอีเวนต์อะไรได้เลย เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ยังพอมีจัดงานได้บ้างหรือกลับมาราว 20% ขณะที่ในช่วงไตรมาสสี่ที่จะมีการเปิดประเทศครั้งนี้ ไม่อาจเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนได้ว่าธุรกิจอีเวนต์จะเป็นอย่างไร เพราะปีก่อนไม่มีวัคซีน ส่วนปีนี้มีวัคซีน แต่ภาครัฐเองก็ยังดำเนินการทุกอย่างเหมือนกับไม่มีวัคซีน ยังคงมีการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อประจำวันจำนวนมาก ต้องเฝ้าระวัง 14 วัน ผับบาร์ห้ามเปิด ร้านอาหารนั่งได้ 50% ซึ่งอยากให้รัฐบาลให้ค่าวัคซีนที่คนไทยได้เข้าถึงไปกว่าครึ่งของประเทศมากกว่านี้ ด้วยการเปลี่ยนมายด์เซตการทำงานใหม่ ปรับมาตรการรับมือโควิด-19 ใหม่ มองให้เป็นโรคทั่วไป เป็นก็รักษา เพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ 100% หรือกลับมาใช้ชีวิตแบบ back to normal ไม่ใช่ new normal อีกต่อไป เพื่อให้ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติโดยเร็ว”

นี่คือใจความสำคัญที่ เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) กูรูในวงการอีเวนต์เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไข
 


นายเกรียงไกรกล่าวต่อว่า จากที่ปีนี้ไม่สามารถจัดงานอีเวนต์อะไรได้เลย ทำให้พบว่ามีหลายบริษัทต้องปิดกิจการไป หนักไปกว่านั้นคือปิดตัวหนีหนี้ไปเฉยๆ เพราะแบกรับไม่ไหว ซึ่งส่วนใหญ่กลุ่มนี้จะเป็นพวกให้เช่าอุปกรณ์การจัดงาน ส่วนกลุ่มจัดงานอีเวนต์จริงๆ ก็ปรับตัว ลดพนักงาน ประคองตัวกันไป พวกที่ปรับตัวได้เร็วพึ่งพารายได้อื่นทดแทนก็ยังพออยู่กันได้ แต่โดยรวมคือลำบากกันหมด

ในส่วนของอินเด็กซ์เองก็มีการปรับตัวเช่นกัน ลองผิดลองถูกมาตลอดตั้งแต่มีโควิด-19 เกิดขึ้น จากการพึ่งพาธุรกิจรับจ้างจัดอีเวนต์เป็นหลักที่ต้องสูญเสียรายได้ไป มุ่งสู่ธุรกิจใหม่แทน มีทั้งที่ประสบความสำเร็จอย่างธุรกิจ KILL & KLEAN ฉีดพ่นฆ่าเชื้อโควิด-19 และที่ไม่ประสบความสำเร็จอย่างธุรกิจ KK Wash แฟรนไชส์ธุรกิจเครื่องซักผ้า รวมถึงเป็นผู้ริเริ่มจัดงานอีเวนต์ใหม่ๆ ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ตลอดปี 2563 จนมาถึงปี 2564 นี้ ซึ่งทุกงานพิสูจน์ให้เห็นว่าอินเด็กซ์สามารถจัดงานอีเวนต์ได้ภายใต้มาตรการที่เคร่งครัด ทำให้ไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เกิดขึ้นเลย


*** ผลงานอีเวนต์ช่วงโควิด
ผลงานการจัดอีเวนต์ของอินเด็กซ์ที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงโควิดระลอก 1-3 ได้แก่ 1. มีการจัดไฮบริดคอนเสิร์ต คืนรอยยิ้ม โดยศิลปิน เจ-เจตริน และคริสติน่า และคอนเสิร์ตของเครสเชนโดและบุรินทร์ ผู้ร่วมงานครั้งละ 882 คน, 2. GLOBAL BADMINTON 3 ทัวร์นาเมนต์ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยมีจำนวนนักกีฬาและเจ้าหน้าที่มากกว่ า900 คน จัดเป็นทัวร์นาเมนต์ระดับโลกที่เกิดขึ้นครั้งแรกหลังจากที่โลกได้รู้จักกับโควิด-19 จนกลายเป็นต้นแบบให้ทางประเทศญี่ปุ่นได้เข้ามาศึกษาดูงาน เพื่อนำไปใช้กับการจัดงานโตเกียวโอลิมปิก 2021 ที่เพิ่งจบไป

3. เทศกาลประดับไฟฤดูหนาว VILLAGE OF ILLUMINATION ที่สิงห์ปาร์ค เชียงราย จำนวนผู้เข้าชมกว่า 35,000 คน และ 4. เมืองโบราณ ไลท์เฟส สมุทรปราการ มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 25,000 คน

“ทุกงานอีเวนต์ของทางอินเด็กซ์ที่จัดขึ้นได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ ศบค. โดยบริษัทได้ใช้ผลิตภัณฑ์การป้องกันการแพร่ระบาดระดับโลก (Kill and Klean) จากการดำเนินการที่ผ่านมายังไม่มีการตรวจพบการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 จากงานที่ได้ดำเนินการมาทั้งหมด” นายเกรียงไกร กล่าวยืนยัน


*** ผุดอีเวนต์ใหญ่ไตรมาสสี่
จากความกล้าที่พิสูจน์ให้เห็นถึงการจัดงานอีเวนต์ได้และปราศจากการติดเชื้อโควิด-19 อินเด็กซ์พร้อมเป็นผู้นำร่องจัดงานอีเวนต์ในช่วงไตรมาสสี่นี้อีกครั้ง ใน 2 รูปแบบหลัก คือ

1. SPORT AND LIFESTYLE ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ ACTIVITY PARK, SKATEPARK ในชื่อ สเก็ตนคร และ SPORT EVENT ซึ่งทั้งหมดจัดขึ้นที่เมืองโบราณ สมุทรปราการ

2. เฟสติวัล ได้แก่ FOREST OF ILLUMINATION ที่คีรีมายา เขาใหญ่, งาน “Thailand International Lantern & Food Festival” เทศกาลโคมไฟและอาหารนานาชาติ ที่เมืองโบราณ สมุทรปราการ และงานเมืองโบราณ ไลท์ เฟส

รวมทั้งสิ้น 7 งาน รวมแล้วใช้งบลงทุนไปกว่า 40 ล้านบาท ทุกงานจะเริ่มทยอยเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้เป็นต้นไป

“การจัดอีเวนต์ช่วงไตรมาสสี่นี้เป็นการวางแผนไว้ตั้งแต่ต้นปี และเป็นงานอีเวนต์ที่จะเกิดขึ้นในช่วงคลายล็อกดาวน์ รวมถึงการเปิดประเทศ ที่น่าะส่งผลต่อธุรกิจท่องเที่ยวให้ฟื้นกลับมาเร็วขึ้น อีเวนต์ที่เกิดขึ้นเป็นการสร้างสีสันให้ธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งทางอินเด็กซ์พร้อมจัดงานเองโดยไม่รอพึ่งพาสปอนเซอร์ ส่วนหลังจากนี้สปอนเซอร์รายใดที่สนใจก็พร้อมต้อนรับ และด้วยประสบการณ์ของอินเด็กซ์ เชื่อว่าเราจะประสบความสำเร็จไปด้วยกัน 

ขณะที่ในแง่รายได้นั้น มองว่าจะทำได้มากกว่าต้นทุนที่ลงไป อีกทั้งหากสถานการณ์ทุกอย่างคลี่คลายมากยิ่งขึ้นก็จะมีการจัดงานรูปแบบดังกล่าวในสถานที่อื่นๆ ตามมา”

จากการดำเนินงานตลอดปี 2564 นี้ อินเด็กซ์เองเชื่อว่าปีนี้จะมีรายได้ร่วม 700 ล้านบาท หรือตามแผนที่วางไว้อย่างน้อยจะต้องมีรายได้ 669 ล้านบาท โตขึ้น 64% มาจาก 3 กลุ่มธุรกิจ คือ Marketing Service 248 ล้านบาท, Creative Business Development 343 ล้านบาท และ Own-Project 78 ล้านบาท


***โควิด-19 ทำอินเด็กซ์สูญรายได้ 2,000 ล้าน
นายเกรียงไกรกล่าวว่า อินเด็กซ์ดำเนินธุรกิจมาร่วม 20 ปี รายได้สูงสุดเคยทำไว้มากกว่า 2,000 ล้านบาท หรือแต่ละปีมีรายได้หลักพันล้านบาทโตปีละ 5-10% ทุกปี แต่พอมีโควิด-19 เกิดขึ้นส่งผลให้ปี 2563 รายได้หายไปเยอะมาก จนเหลือผลประกอบการเพียง 408 ล้านบาท ติดลบไปกว่า 69% จากปี 2562 ที่มีรายได้ถึง 1,326 ล้านบาท

“จากธุรกิจดาวรุ่ง สู่การกลับไปเป็นธุรกิจ SMEs ทันที เพราะมีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท” นายเกรียงไกรกล่าวติดตลก

ทั้งนี้ หากมองความสูญเสียในการทำรายได้ที่เกิดขึ้นตลอด 2 ปีที่ผ่านมาที่ได้รู้จักกับโรคโควิด-19 อินเด็กซ์สูญเสียโอกาสในการทำรายได้ไปไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท โดยเฉพาะจากธุรกิจในต่างประเทศที่ต้องหยุดไป อย่างในเมียนมา ที่กำลังไปได้ดี ตอนนี้ไม่สามารถรับจ้างจัดงานอะไรได้เลย ตอนนี้จึงเหลือแค่ธุรกิจดิจิทัลพีอาร์มาร์เกตติ้งที่ยังพอไปได้อยู่ ในการดูแลตลาดให้กับธุรกิจไทยที่เข้าไปเปิดกิจการที่เมียนมา อย่าง แม็คโคร เป็นต้น อีกทั้งจากการเลื่อนเปิดเวิลด์เอ็กซ์โปจากปีก่อนมาเป็นปีนี้แทน จะเป็นการอวดฝีมือของอินเด็กซ์ ที่จะทำให้การเปิดตลาดตะวันออกกลางง่ายยิ่งขึ้น เพราะประเทศอาหรับในแถบนี้พร้อมเปิดประเทศกันเป็นส่วนใหญ่แล้ว และกำลังต้องการแหล่งท่องเที่ยวใหม่ให้เกิดขึ้น


ทิศทางการดำเนินงานของอินเด็กซ์ รวมถึงภาพรวมของธุรกิจอีเวนต์ดูกำลังมองเห็นแสงสว่างมากยิ่งขึ้น เชื่อว่าในปีหน้าจะได้เห็นอีเวนต์คึกคักเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอีเวนต์เอาต์ดอร์จะเป็นอีเวนต์แรกที่กลับมาก่อน พร้อมๆ กับการฟื้นตัวของท่องเที่ยว จากนั้นกลุ่มอีเวนต์งานแฟร์จะค่อยๆ ฟื้นตามมา ส่วนกลุ่มอีเวนต์งานประชุมสัมมนาน่าจะกลับมาได้ยาก เหตุเพราะปรับไปเป็นประชุมออนไลน์กัน และกลุ่มอีเวนต์เอนเตอร์เทนเมนต์จะกลับมาเป็นกลุ่มสุดท้าย

“แนวทางการดำเนินงานของอินเด็กซ์ หลังจากนี้จะเน้นโอนโปรเจกต์มากขึ้น ลดการพึ่งพาการรับจ้างจัดอีเวนต์ ซึ่งในปีหน้าหากทุกอย่างทยอยกลับมาดีขึ้น และสามารถจัดงานอีเวนต์ให้เป็นไปตามแผน อินเด็กซ์เองก็น่าจะกลับมามีรายได้แตะที่ 1,000 ล้านบาท และในปีต่อไปหรือในปี 2566 เชื่อว่าจะได้เห็นตัวเลขรายได้ถึง 2,000 ล้านบาทอีกครั้ง” นายเกรียงไกรกล่าวถึงความหวังในอนาคต
















กำลังโหลดความคิดเห็น