xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.เกาะติดจีนยื่นสมัครร่วมวง CPTPP หนุนไทยเดินหน้าต่อยึดผลประโยชน์รวม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ส.อ.ท.จับตาจีนยื่นเอกสารสมัครเข้าร่วม “CPTPP” แนะรัฐควรเร่งศึกษาทบทวนบทบาทของไทยต่อเวทีดังกล่าวโดยเร็ว ย้ำจุดยืน “กกร.” หนุนให้เดินหน้าต่อตามขั้นตอนที่ขณะนี้ขอเข้าร่วมรับฟังข้อมูลเพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจ ยืนยันควรศึกษาโดยยึดผลประโยชน์ที่ชาติจะได้รับเป็นสำคัญ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) 
เปิดเผยถึงกรณีที่ทางการจีนได้ยื่นเอกสารสมัครเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) อย่างเป็นทางการกับทางรัฐบาลนิวซีแลนด์ หนึ่งในชาติสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งความตกลงดังกล่าวว่า เป็นเรื่องที่หน่วยงานรัฐบาลไทยที่เกี่ยวข้องควรติดตามใกล้ชิดและจำเป็นต้องพิจารณาทบทวนบทบาทของไทยในเวทีดังกล่าวโดยเร็ว โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท., สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยยังคงมีจุดยืนในการสนับสนุนให้ไทยเดินหน้าต่อในการเข้าร่วมการเจรจา

“ที่ผ่านมาไทยเองก็มีทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้าน ขณะที่การเป็นสมาชิกมีขั้นตอน 10 กว่าขั้นตอน ไทยอยู่ในขั้นตอน 3-4 คือการขอยื่นเจตจำนงเข้าไปรับฟังในการนำข้อมูลมาศึกษาถึงภาพรวม หากเห็นว่าผลลัพธ์นั้นเป็นประโยชน์มากกว่าผลเสียเราก็สามารถเดินหน้าในการเข้าร่วมได้ โดยต้องยอมรับว่าการเจรจาการค้านั้นไม่มีใครได้ประโยชน์ทั้งหมดต้องมีการต่อรอง ซึ่งก่อนหน้า กกร.ได้ทำการศึกษารายละเอียดต่างๆ และส่งไปยังภาครัฐที่เกี่ยวข้องแล้วเพื่อประกอบการตัดสินใจ ซึ่งหากจีนได้รับอนุมัติจากชาติสมาชิกให้เข้าร่วมได้จริงในอนาคตจะเป็นแรงกดดันการค้าและการส่งออกไทยมากขึ้น” นายเกรียงไกรกล่าว

ทั้งนี้ CPTPP เป็นเขตการค้าที่ใหญ่อันดับ 3 ของโลก โดยหนึ่งในสมาชิกชาติอาเซียนสำคัญที่เข้าร่วมคือ เวียดนาม และเมื่อศึกษาข้อเท็จจริงพบว่าในช่วง 2-3 ปีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีมูลค่าการลงทุนนำไทยไปถึง 3 เท่าตัว ขณะเดียวกันการส่งออกของเวียดนามที่ต่างชาติย้ายฐานเข้าไปยังเวียดนามมีส่วนผลักดันการส่งออกเวียดนามแซงไทยไปแล้วเช่นกัน นอกเหนือจากปัจจัยที่เวียดนามมีประชากรจำนวนมากกว่าไทยและมีแรงงานที่ราคาต่ำที่เป็นแรงสนับสนุนแล้ว

ประเด็นหนึ่งเมื่อสอบถามนักลงทุนต่างชาติสะท้อนให้เห็นว่าเวียดนามเข้าร่วม CPTPP และข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) เวียดนาม-อียู แม้ว่าไทยจะมีการทำ FTA กับประเทศต่างๆ ในแง่ของจำนวนฉบับที่ใกล้เคียงกับเวียดนาม แต่การครอบคลุมจำนวนประเทศเวียดนามกลับมีสูงถึง 53 ประเทศแต่ไทยมีเพียง 18 ประเทศเท่านั้น จึงทำให้เวียดนามได้แต้มต่อในการส่งออกสินค้ามากกว่าไทยจากการที่ได้รับอัตราภาษีนำเข้าที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำ

ทั้งนี้ หากมองย้อนกลับไปก่อนหน้านี้สหรัฐฯ โดยประธานาธิบดี บารัค โอบามา เป็นผู้ริเริ่มข้อตกลงหุ้นส่วนทรานส์แปซิฟิก (TPP) ต่อมา โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศพาอเมริกาถอนตัวจากประเทศสมาชิก ทำให้เหลือทั้งหมด 11 ประเทศสมาชิกที่เดินหน้าต่อ คือ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น CPTPP ภายใต้การนำของญี่ปุ่น และปัจจุบัน โจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีล่าสุดก็ยังไม่ได้มีท่าทีชัดเจนนักต่อการเข้าร่วม

อย่างไรก็ตาม ไทยเองที่ผ่านมามีความกังวลในประเด็นหลักๆ ต่อการเข้าร่วมตั้งแต่ TPP เรื่อยมาจนปัจจุบัน คือ อุตสาหกรรมยาที่ไทยจะบริโภคยาที่มีราคาสูงขึ้น ต้องพึ่งพายานำเข้ามากขึ้นและมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมยาในประเทศมีแนวโน้มลดลง รวมไปถึงผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเกษตรของไทย เนื่องจากจะเป็นการเปิดช่องให้ต่างชาติเข้ามายึดครองทรัพยากรพืชของไทยผ่านสัญญา 2 ฉบับ คือ อนุสัญญายูปอฟ 1991 (UPOV 1991) ซึ่งมีผลต่อการผูกขาดพันธุ์พืช และสนธิสัญญาบูดาเปสต์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจดสิทธิบัตรจุลินทรีย์ เนื่องจากหากไทยเข้าร่วมใน CPTPP ไทยต้องยอมรับข้อกำหนดในการเข้าร่วมในสัญญาทั้ง 2 ฉบับด้วย เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น