xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.ยันคดี “สีส้ม” ไม่กระทบเปิดประมูลใหม่ กก.มาตรา 36 เตรียมประชุมเคาะ RFP

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



รฟม.เคลียร์คดี “สีส้ม” ศาลอาญาทุจริตรับไต่สวนแต่ยังไม่รับฟ้อง ยันคดีปกครองเหลือเรื่องละเมิด ชี้ไม่มีประเด็นห้ามประมูลใหม่ เผย กก.มาตรา 36 เตรียมประชุมสัปดาห์หน้าเคาะ RFP ขายซอง ต.ค. ส่วนเอกชน 2 รายยื่นรอบแรก รับค่าซื้อซองคืนไปแล้ว

วันนี้ (17 ก.ย. 2564) นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงข้อเท็จจริงทางคดีเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางนัดพร้อมเพื่อกำหนดพยานและกำหนดประเด็นในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ซึ่งทั้งโจทก์และจำเลยไม่ได้เดินทางไปศาล โดยโจทก์มอบหมายผู้รับมอบอำนาจ และทนายความ ส่วนจำเลยมอบหมายให้พนักงานอัยการในฐานะทนายจำเลยเดินทางไปศาลเช่นเดียวกัน ซึ่งในกระบวนการพิจารณา โดยศาลเห็นว่าเนื่องจากคู่ความยังไม่ได้รับเอกสารที่ใช้ในการไต่สวนครบถ้วน ศาลจึงเห็นควรเลื่อนนัดพร้อม เพื่อกำหนดพยานและกำหนดประเด็นในการไต่สวนมูลฟ้องออกไปเป็นวันที่ 25 ตุลาคม 2564 เวลา 13.00 น.
สำหรับประเด็นเรื่องข้อเท็จจริงทางคดีเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม 
ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ตามที่ รฟม.ได้เคยชี้แจงไปแล้วเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 นั้น รฟม. ยังคงยืนยันข้อเท็จจริงตามที่มีการแถลงว่า ปัจจุบันมีการฟ้องคดีรวมจำนวน 3 คดี แบ่งเป็นคดีที่อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองกลาง จำนวน 2 คดี ได้แก่ คดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 และคดีหมายเลขดำที่ 580/2564 และเป็นคดีที่อยู่ในระหว่างการไต่สวนมูลฟ้องของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จำนวน 1 คดี คือ คดีหมายเลขดำที่ อท.30/2564
คดีหมายเลขดำที่ อท.30/2564 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางนัดพร้อมเพื่อกำหนดพยานและกำหนดประเด็นในชั้นไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 25 ตุลาคม 2564 หลังจากนั้นเมื่อมีการกำหนดประเด็นแล้วศาลจึงจะนัด
ไต่สวนมูลฟ้องคดีดังกล่าวต่อไป ดังนั้น ปัจจุบันคดีนี้ศาลจึงเพียงแต่รับคำฟ้องของโจทก์ไว้ไต่สวนมูลฟ้องเท่านั้น 
แต่ยังมิได้มีการรับฟ้องคดีดังกล่าวไว้พิจารณาแต่อย่างใด

คดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลางที่จำหน่ายคดีในข้อหาที่ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์ร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนั้น จึงไม่มีประเด็นพิพาทเกี่ยวกับการเพิกถอนหลักเกณฑ์อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองอีกต่อไป คงเหลือแต่ข้อหาที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ชดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดจำนวน 500,000 บาทเท่านั้น
คดีหมายเลขดำที่ 580/2564 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลางที่ไม่รับคำฟ้องข้อหาเกี่ยวกับการกระทำละเมิด และคำขอห้ามมิให้คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และ รฟม. กระทำการหรือดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนในโครงการพิพาทครั้งใหม่ไว้พิจารณา โดยให้เหตุผลว่า การดำเนินการคัดเลือกเอกชนเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และ รฟม.ตามกฎหมาย ดังนั้น จึงไม่มีประเด็นพิพาทเกี่ยวกับการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในครั้งใหม่อีกต่อไป คงเหลือแต่ข้อหาที่ผู้ฟ้องคดีขอให้เพิกถอนหรือยกเลิกมติหรือประกาศที่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการนี้เท่านั้น
ดังนั้น รฟม.ขอยืนยันว่า การดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม 
ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการที่กฎหมาย รวมถึงมติคณะรัฐมนตรี 
และมติคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนกำหนดอย่างครบถ้วนแล้ว

“สรุป คดีอาญานั้น ตอนนี้อยู่ในชั้นไต่สวน ศาลยังประทับรับฟ้อง ซึ่งต้องรอฟังคำสั่งหลังจากนี้ ซึ่งเป็นเรื่องการฟ้องการดำเนินการมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่ได้มีการพูดถึงการระงับการเชิญชวนเอกชนร่วมทุนฯ ครั้งใหม่ ส่วนคดีทางปกครองยังเหลือเรื่องที่เอกชนฟ้องละเมิดชดใช้ค่าเสียหาย 5 แสนบาท และเรื่องขอให้เพิกถอนการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนครั้งแรก ส่วนประเด็นที่ห้ามไม่ให้ รฟม.ประมูลคัดเลือกเอกชนรอบใหม่นั้น ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องในเรื่องนี้ รฟม.จะดำเนินการคัดเลือกเอกชนใหม่ต่อไป” ผู้ว่าฯ รฟม.กล่าว

@ จับตาสัปดาห์หน้า ประชุม กก.มาตรา 36 เคาะ RFP ประมูลใหม่ใน ต.ค.

นายภคพงศ์กล่าวว่า ในการประมูลรอบใหม่เบื้องต้น คณะกรรมการมาตรา 36 นัดหมายประชุมในสัปดาห์หน้า โดยอยู่ระหว่างรอยืนยันเพื่อกำหนดวันประชุม ซึ่งตามแผนงานที่ รฟม.กำหนดไว้ คือ จะนำเสนอร่าง RFP ให้ กก.มาตรา 36 พิจารณาอนุมัติ และประกาศขายเอกสาร RFP ในเดือน ต.ค. 2564 ให้เอกชนยื่นข้อเสนอในเดือน ธ.ค. 2564 จากนั้นจะประเมินข้อเสนอช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. 2565 คาดว่าเจรจาต่อรองได้ข้อยุติในเดือน มี.ค. 2565 จากนั้นจะเสนอผลการคัดเลือกต่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป

@เผย 2 กลุ่มยื่นประมูลรอบแรก รับเงินค่าซองคืนแล้ว

นายภคพงศ์กล่าวว่า ในการประมูลคัดเลือกครั้งแรก มีเอกชน 2 รายยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนฯ คือ 1.  บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM 2. กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ประกอบด้วย บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)

เมื่อ รฟม.ได้ประกาศยกเลิกการประมูล ทาง BEM ได้มารับซองเอกสารข้อเสนอและค่าธรรมเนียมซื้อซองคืนแล้ว ส่วนกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ นั้น ปรากฏว่ามีบริษัท 1 ในกลุ่มฯ ได้มารับคืนค่าธรรมเนียมการขายเอกสารคัดเลือกไปแล้ว จึงถือว่ากลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ถูกถอดจากทะเบียนในการยื่นข้อเสนอทำให้กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ สิ้นสุดการเป็นผู้ยื่นข้อเสนอในการร่วมลงทุนดังกล่าว และสิ้นผลผูกพันในกระบวนการคัดเลือกดังกล่าวด้วย แม้สมาชิกอื่นที่เหลือในกิจการร่วมค้าฯ จะไม่ได้มารับเอกสารคืนก็ตาม และถือว่าในการประมูลครั้งแรกไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอเหลืออยู่ในกระบวนการคัดเลือก ส่วนการเปิดคัดเลือกรอบใหม่ เอกชนที่เข้าซื้อซองจะได้สิทธิในการยื่นข้อเสนอตามปกติ

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)


กำลังโหลดความคิดเห็น