xs
xsm
sm
md
lg

เจาะจุดเด่น แอปฯ ‘CHIVID’ ตัวช่วยแพทย์ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดระยะไกล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ร่วมมือกับ Medensy สร้างแอปฯ CHIVID ล้ำด้วยฟีเจอร์ที่เข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระของแพทย์ในการติดตามอาการและดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดระยะไกลได้อย่างดียิ่ง เผย เปิดใช้งานแล้วในหลาย รพ. พร้อมตั้งเป้าต่อยอดพัฒนาเพื่อประโยชน์ใช้งานในระบบการดูแลสุขภาพของประเทศในอนาคต

เพราะเล็งเห็นว่า “นักรบด่านหน้า” อย่างบุคลากรทางการแพทย์ต้องทุ่มเทและเสียสละอย่างมากในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่ม ปตท. ซึ่งสนับสนุนช่วยเหลือทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมในการแก้ไขสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง มากไปกว่านั้นสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (IST) สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ได้พัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตโควิด-19

โดย VISTEC ได้ร่วมมือกับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทางการแพทย์ บริษัท เมดเอนไซ จำกัด (Medensy) พัฒนาแอปพลิเคชัน “CHIVID” (ชีวิต) ที่เพียบพร้อมด้วยระบบเฝ้าระวังและติดตามสังเกตอาการผู้ป่วยในระยะทางไกล ทั้งกลุ่มผู้ป่วยที่แยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation : HI) กักตัวในชุมชน (Community Isolation : CI) และโรงพยาบาลสนาม โดยใช้ AI ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาช่วยในการจัดการ


จุดเด่น ๆ ที่น่าพูดถึง ก็คือฟีเจอร์ที่เกี่ยวกับการใช้งานสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งต้องบอกว่าสามารถแบ่งเบาภาระของแพทย์ได้เป็นอย่างดี มีระบบการจัดระเบียบคนไข้ที่สามารถแยกผู้ป่วยตามระดับอาการ ทีมรักษา หรือพื้นที่รับผิดชอบได้ เพื่อดูแลและติดตามผู้ป่วยได้ง่าย มีระบบแจ้งเตือนไปยังแพทย์และทีมดูแลทันทีเมื่อผู้ป่วยมีผลอาการที่แย่ลง และยังมีฟังก์ชันที่อำนวยความสะดวกแพทย์อื่น ๆ เช่น พิมพ์เวชระเบียน ออกใบรับรองแพทย์ สั่งและบันทึกสถานะของการจัดส่งยาและอุปกรณ์ อีกทั้งยังมีหน้า dashboard ที่ใช้สำหรับดูภาพรวมผู้ป่วยในแต่ละวันวันต่อวันได้อีกด้วย

ในส่วนของผู้ป่วยก็สามารถใช้งานได้ง่าย ๆ สะดวกสบายไม่แพ้กัน สามารถใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่น LINE ตั้งแต่การลงทะเบียน การส่งข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดูแลรักษา ข้อมูลอาการป่วยรายวันผ่านแบบฟอร์มที่ง่ายต่อการกรอกข้อมูล เพียงถ่ายรูปค่าจากหน้าจอ pulse oximeter รุ่นอะไรก็ได้ ซึ่งระบบมีการนำ AI-base feature ชื่อ PACMAN เข้ามาช่วยในการแปลผลภาพถ่ายเป็นตัวเลขให้อัตโนมัติพร้อมคำแนะนำ การมี AI เข้ามาช่วยในการกรอกข้อมูล ช่วยให้ง่ายต่อการอัพเดทอาการป่วยรายวัน อีกทั้งยังช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการประมวลผลข้อมูลผู้ป่วยอีกด้วย


ในปัจจุบัน แอปพลิเคชัน CHIVID ได้มีการนำไปใช้งานจริงแล้วในโรงพยาบาลกระทุ่มแบน โรงพยาบาลบางปะกง โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

ทั้งนี้ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และ Medensy ยังมีแผนในการพัฒนาแอปพลิเคชัน CHIVID ให้มีฟีเจอร์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอีกในไม่ช้านี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในการคัดกรองและติดตามผู้ป่วยโรคโควิด 19 ให้รวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น เช่น ฟีเจอร์วิดีโอการหายใจของผู้ป่วย ฟีเจอร์ข้อมูลสัญญาณชีพ (Vital sign) และฟีเจอร์ ข้อมูลการจ่ายยาโดยแพทย์

และเหนืออื่นใด ด้วยศักยภาพอันยอดเยี่ยมของแอปพลิเคชัน CHIVID นี้ สามารถพัฒนาต่อไปได้ไม่สิ้นสุด แม้ผ่านพ้นวิกฤตโควิดไปแล้ว ก็สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาเพื่อประโยชน์ในการใช้งานในระบบการดูแลสุขภาพของประเทศได้อย่างกว้างขวางต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศไทยในอนาคต ตอบโจทย์เทรนด์ของโลกที่ให้ความสำคัญเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพมากยิ่งขึ้นทุกวัน
กำลังโหลดความคิดเห็น