xs
xsm
sm
md
lg

สนค.หนุนไทยทำยุทธศาสตร์การค้าของชาติ รับมือความผันผวนเศรษฐกิจโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) จัดสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาและข้อเสนอยุทธศาสตร์การค้าของชาติ ชี้ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกมีความผันผวน ทั้งกรณีข้อพิพาทสหรัฐฯ-จีน Brexti การระบาดของโควิด-19 การเข้าสู่สังคมสูงวัย การขยายตัวของสังคมดิจิทัล ไทยจำเป็นต้องกำหนดยุทธศาสตร์ให้ชัดเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลง และให้ไทยยังคงแข่งขันได้

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยในการเปิดงานสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาและข้อเสนอยุทธศาสตร์และแนวทางการขับเคลื่อนการค้าของชาติ ผ่านการประชุมออนไลน์ผ่านระบบ ZOOM Meeting ว่า สนค.ร่วมกับสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาสถานการณ์และสภาพแวดล้อมทางการค้า ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนาของประเทศ เพื่อจัดทำข้อเสนอยุทธศาสตร์และแนวทางการขับเคลื่อนการค้าของชาติ พ.ศ. 2565-2570 โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 จนได้ข้อเสนอยุทธศาสตร์ และนำมาสู่การจัดงานเผยแพร่ผลการดำเนินการในครั้งนี้

“ต้องยอมรับว่าในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกเกิดความผันผวน เปลี่ยนแปลง และเกิดสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้ขึ้นมากมาย ทั้งกรณีพิพาทระหว่างประเทศ ความไม่แน่นอนจากนโยบาย Brexit หรือบรรยากาศการค้าการลงทุนที่มีความอ่อนไหวจากท่าทีของจีนและสหรัฐฯ ที่ทวีความเข้มข้นมาตั้งแต่ปี 2562 จนมาถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอย่างรุนแรง ทั้งภาคการค้า การลงทุน และภาคบริการ และแม้ว่าจนถึงวันนี้สถานการณ์ทั่วโลกดูจะคลี่คลายลงมาก แต่โลกยังคงเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในอีกหลายกระแส โดยเฉพาะการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการขยายตัวของสังคมดิจิทัล ซึ่งล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าของไทย ทั้งภาคการผลิต การส่งออก การบริโภคภายในประเทศ ทำให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการทุกระดับ ตลอดจนผู้บริโภค ต่างต้องปรับตัวเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น”

นายภูสิตกล่าวว่า แม้ว่าเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 จนถึงปัจจุบัน และมีสัญญาณแสดงถึงความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นในต่างประเทศ ส่งผลให้ภาคการผลิตและการส่งออกของไทยเริ่มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก แต่ปัจจัยเหล่านี้ก็เป็นประเด็นสำคัญที่เราจะต้องตระหนักถึงสถานการณ์และความไม่แน่นอน เราจึงต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงทั้งที่คาดการณ์ได้และไม่สามารถคาดการณ์ได้ในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นและส่งผลกระทบทางด้านลบได้อีกในอนาคต และภายใต้ความผันผวนเกิดขึ้น ไทยมีรากฐานที่มีความแข็งแกร่ง สามารถเติบโตต่อไปได้

ทั้งนี้ สนค.ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับศักยภาพการนำเข้าของประเทศคู่ค้า พบว่ายังมีตลาดที่ไทยสามารถนำสินค้าที่มีความต้องการอุปโภคบริโภค และไทยมีความสามารถในการผลิตเพื่อเติมเต็มให้แก่ตลาดใหม่ๆ เหล่านี้ได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่อยู่ในทวีปยุโรป และยังมีการวิเคราะห์กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้มีความเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตที่กระจายไปสู่เศรษฐกิจระดับฐานราก สามารถสนับสนุนรายได้เข้าประเทศ และสร้างรายได้ให้คนไทยได้อย่างแท้จริง

ดังนั้น ยุทธศาสตร์ที่ได้จัดทำขึ้นจะต้องสะท้อนความท้าทาย ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ และสอดคล้องกับทิศทางและเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าให้บรรลุผลและสามารถก้าวไปอีกระดับได้นั้นต้องตระหนักและให้ความสำคัญใน 4 ประการ ได้แก่ 1. ต้องสร้างขีดความสามารถและความพร้อมที่จะรับมือ ฟื้นตัว และใช้ประโยชน์จากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง หรือจากสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ในอนาคต โดยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางการค้า ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ หรือรูปแบบการค้าขายให้สอดรับความท้าทายต่างๆ

2. ต้องเพิ่มความสำคัญต่อการใช้ศักยภาพที่มีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การต่อยอดและใช้ประโยชน์จากสินค้าและบริการที่โดดเด่นและเป็นจุดแข็งของประเทศ รวมถึงการสร้างสินค้าและบริการใหม่ๆ ด้วยการใช้นวัตกรรม และจะต้องสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคด้วย

3. เราต้องพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของประเทศให้ครอบคลุม ทั่วถึง และเกิดความยั่งยืน สนับสนุนให้ผู้ประกอบการ ชุมชน และท้องถิ่น สามารถพึ่งพาตนเองและเชื่อมโยงกับตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 4. ต้องสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ก้าวไปด้วยกัน ส่งเสริมการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง มีทิศทางการพัฒนาที่ทุกฝ่ายเห็นร่วมกัน ต้องทำงานกันอย่างสอดคล้อง ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ไปจนถึงผู้ประกอบธุรกิจการค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้มากที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น