xs
xsm
sm
md
lg

อ.ส.ค. หนุน “นมไทย-เดนมาร์ค” จากนวัตกรรมฟาร์มต้นแบบสู่นมโคคุณภาพ เพื่อคนไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เมื่อนึกถึงนมไทย-เดนมาร์ค คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงนมที่มีสัญลักษณ์รูปวัวแดงแม่ลูกอยู่บนบรรจุภัณฑ์ ซึ่งมีวางจำหน่ายให้เห็นอยู่ทั่วไปตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน เบื้องหลังของนมไทย-เดนมาร์คนี้ คือผลงานของการผลิตนม คุณภาพจากองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง อ.ส.ค. พ.ศ. 2514 โดยมีวัตถุประสงค์ และมีบทบาท ในการส่งเสริมการเลี้ยงโคนม และพัฒนาอุตสาหกรรมนมในประเทศไทยให้ก้าวหน้าทัดเทียมนานาชาติ โดยบุคคลสำคัญซึ่งอยู่เบื้องหลังความสำเร็จ นี้คือทีมผู้บริหาร อ.ส.ค. ซึ่งปัจจุบันนำโดย นายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รองผู้อำนวยการทำการแทนผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)

นายสุชาติ กล่าวถึง ภารกิจหลักของ อ.ส.ค. คือการวางแผนยุทธศาสตร์และขับเคลื่อนภารกิจของ อ.ส.ค. ให้เป็นไปตามแผน ซึ่งปัจจุบันแบรนด์นมไทย-เดนมาร์ค ยังเป็นอันดับหนึ่งในวงการนมโคไทย โดยมีการวางกลยุทธ์เพื่อก้าวขึ้นสู่การเป็น “นมแห่งชาติ” ในปี พ.ศ. 2565 เมื่อพูดถึงแบรนด์นมไทยต้องนึกถึงนม “ไทย-เดนมาร์ค” โดย อ.ส.ค. มีหน่วยงานบริหารทุกส่วนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งเรื่องของการส่งเสริมภาคเกษตรกรโคนม การจัดการบริหารฟาร์ม ซึ่ง อ.ส.ค. ได้ช่วยเหลือให้การสนับสนุนเกษตรโคนมไทยมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการบริหารจัดการคุณภาพน้ำนมดิบและผลผลิตของเกษตรกร ให้ความรู้ด้านการเลี้ยงโคนมแก่เกษตรกร และ อ.ส.ค. ยังเป็นศูนย์กลางรับซื้อน้ำนมดิบ เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค ออกสู่ตลาดผู้บริโภค สร้างความยั่งยืนให้แก่องค์กร และสร้างความยั่งยืนให้เกษตรกรโคนมไทยในระยะยาวอย่างมั่นคง

นอกจากการบริหารกิจการโคนมแล้ว อ.ส.ค. ยังให้ความสำคัญในการผลักดันส่งเสริมเกษตรกรโคนมไทย ด้วยการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนม เป็นศูนย์ให้ความรู้ ช่วยเหลือ แนะนำ และให้คำปรึกษาแก่เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรได้ผลผลิตน้ำนมดิบที่มีคุณภาพ และสามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมนมสู่ระดับนานาชาติได้ นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรโคนมรายใหม่ก้าวเข้าสู่อาชีพการเลี้ยงโคนม ตลอดจนประสานงาน และร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างปศุสัตว์ ในด้านการ กำจัดโรค การเลี้ยงดู การผสมเทียม อาหารและอื่น ๆ สำหรับโคนมและสัตว์อื่นที่ให้น้ำนมและเนื้ออีกด้วย โดยปัจจุบัน มีกลุ่มสหกรณ์โคนมที่เข้าร่วมกว่า 40 สหกรณ์ เพื่อสนับสนุนการรับซื้อน้ำนมดิบของเกษตรกรโคนม

นายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์
ในยุคที่เทคโนโลยีทางดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ มีอีกหนึ่งกิจกรรมที่เป็นการผสมผสานระหว่าง นวัตกรรมอันทันสมัยให้เข้ากับองค์ความรู้ทางปศุสัตว์และวิทยาศาสตร์ นั่นคือ โครงการฟาร์มโคนมต้นแบบและฟาร์มโคนม พี่เลี้ยง อ.ส.ค. ที่นำนวัตกรรมมาใช้พัฒนาการดำเนินงานตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ในระดับต้นน้ำ อ.ส.ค. มีฟาร์มประสิทธิภาพสูงต้นแบบ ซึ่งถูกพัฒนาให้เป็นศูนย์ส่งเสริมการเลี้ยงโคนม เป็นต้นแบบในการใช้เทคโนโลยีระบบฟาร์ม ไม่ว่าจะเป็นระบบถ่ายเทอากาศ ระบบการกำจัดมูลโคนมอัตโนมัติ ซึ่งจะถูกนำไป ตากแห้งและผลิตเป็นปุ๋ยในที่สุด การรีดน้ำนมด้วยระบบ Pipe Line เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ การวัดองค์ประกอบในน้ำนม การติดระบบติดตามสุขภาพและ ความพร้อมของโคนมเป็นรายตัว โดยในปัจจุบันสามารถผลิตน้ำนมได้ 13 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน ซึ่ง อ.ส.ค. ตั้งเป้าหมายที่จะ เพิ่มการผลิตน้ำนมให้ได้ 20 กิโลกรัมต่อตัวต่อวันในอนาคต เพื่อให้เกษตรกรโคนมได้ผลผลิตน้ำนมดิบที่สูงขึ้น ได้น้ำนมคุณภาพดี สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมนมไทยและระดับนานาชาติได้

นายสุชาติ กล่าวต่ออีกว่า อ.ส.ค. ตั้งงบลงทุนสำหรับปี พ.ศ.2564-2565 กว่า 1200 ล้านบาท ในการลงทุนสร้างระบบต้นกำลัง ระบบบรรจุผลิตภัณฑ์ที่รวดเร็ว ต้นทุนต่ำ ด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัยทั้ง 5 โรงงาน คือ โรงงานนมมวกเหล็ก (สระบุรี) โรงงานนมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ขอนแก่น) โรงงานนมภาคใต้ (ปราณบุรี) โรงงานนมภาคเหนือตอนล่าง (สุโขทัย) และโรงงานนมภาคเหนือตอนบน (เชียงใหม่) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตนมในประเทศไทยเทียบเท่ามาตรฐานการผลิตระดับสากลด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ นอกจากนี้ อ.ส.ค. ยังได้มีการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่าย โดยให้ความสำคัญกับการทำการตลาดออนไลน์ (Digital marketing) มากขึ้นและเตรียมจัดทำแพลตฟอร์มรวบรวมช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าได้สะดวก รวดเร็ว รวมไปถึงการจัดทำแหล่งการเรียนรู้เรื่อง ฟาร์มโคนมต้นแบบในรูปแบบ Online Learning อีกด้วย

ด้านผลิตภัณฑ์ใหม่ นมไทย-เดนมาร์คเพิ่งเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดผู้บริโภคอีก 2 รสชาติ คือ นมยูเอชที (UHT) ไทย-เดนมาร์ค รสเผือก และไทย-เดนมาร์ค รสมะม่วงมหาชนก เพื่อเป็นการสนับสนุนผลิตผลทางการเกษตรของเกษตรกรไทย ในช่วงวิกฤติ การแพร่ระบาดของโควิด-19 และเพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขายของนมไทย - เดนมาร์ค ในช่วงปลายปี 2564 โดยผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ คือผลผลิตน้ำนมดิบของเกษตรกรโคนมไทย ใช้ส่วนผสมของผลมะม่วงและผงเผือกสกัดจากธรรมชาติ ไม่ปรุงแต่งกลิ่นสังเคราะห์


นมยูเอชที (UHT) ไทย-เดนมาร์ค รสเผือก และไทย-เดนมาร์ค รสมะม่วงมหาชนก นอกจากไม่ปรุงแต่งแล้วความพิเศษที่ทำให้ผลิตภัณฑ์นี้โดดเด่น แตกต่างจากการผลิตนมยูเอชทีที่ผ่านมาคือ การใช้กล่องบรรจุชนิดใหม่ Signature pack full barrier หรือ กล่อง “รักเรา รักษ์โลก” ซึ่งตามปกติแล้ว กล่องนมยูเอชทีทั่วไปจะมีหลายชั้น ประกอบด้วย 69% กระดาษและ 25% พลาสติก โดยกล่องชนิดนี้ผลิตโดยใช้ต้นไม้ที่สามารถปลูกทดแทนได้ และ PE พลาสติกชีวภาพจากน้ำมันสน ซึ่งเป็นพืชที่สามารถปลูกทดแทนได้ในป่า และไม่กระทบต่อการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรในอัตราส่วน 6% และอลูมิเนียม อย่างน้อย 94% เรียกได้ว่า “ไทย-เดนมาร์ค” เป็นแบรนด์แรกของเอเชียที่ริเริ่มทำกล่อง “รักเรา รักษ์โลก” ที่สำคัญคือน้ำนมดิบที่นำมาผลิตได้จากเกษตรกรโคนมไทยทั้งสิ้น และยังร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมรักษ์โลกอย่างยั่งยืนอีกด้วย

นายสุชาติ ในฐานะผู้นำขององค์กร อ.ส.ค. ยังกล่าวปิดท้ายให้ข้อคิดและกำลังใจในการนำพาธุรกิจฟันฝ่าวิกฤตในช่วงนี้ โดยให้ข้อคิดว่า หัวใจสำคัญในการนำพากิจการและการสานต่อพันธกิจของ อ.ส.ค. ภายใต้ภาวะวิกฤตในปัจจุบัน คือ การไม่ถอดใจ คิดในเชิงรุก ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่าง ๆ มุ่งมั่นที่จะผลักดัน ส่งเสริม พัฒนาองค์กรให้มีศักยภาพและเข้มแข็งในทุกมิติ ให้ความสำคัญกับการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ เพื่อนำพาองค์กรก้าวข้ามอุปสรรคในยุค Digital Disruption ที่เราจะหยุดนิ่งไม่ได้ แต่ต้องพัฒนาต่อไปอย่างยั่งยืน นำมาต่อยอด ปรับตัว และหาช่องทางใหม่อย่างเชื่อมั่นว่าเราจะผ่านพ้นวิกฤตไปได้
กำลังโหลดความคิดเห็น