xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดอีอีซีเคาะ ซี.พี.เร่งสร้างช่วงทับซ้อนไฮสปีด “ไทย-จีน” คาดเซ็นสัญญาแหลมฉบังเฟส 3 ส.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



บอร์ดอีอีซีเคาะแก้ปัญหาไฮสปีด 3 สนามบิน ทับซ้อน “ไทย-จีน” ช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองให้รฟท.เจรจา ซี.พี.แก้สัญญาร่วมทุน เร่งสร้างตั้งเป้า “ไทย-จีน” เปิดใช้ ก.ค. 69 ส่วนแหลมฉบังเฟส 3 อัยการตรวจร่างสัญญา คาดเซ็น “กัลฟ์-ปตท.” ใน ส.ค.นี้

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 2/2564 วันที่ 4 ส.ค. 2564 โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ กพอ.เป็นประธานประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ได้รับทราบและพิจารณาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่อีอีซี ได้แก่ การแก้ไขปัญหาซ้อนทับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย- จีน ในช่วงบางซื่อถึงดอนเมือง ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องใช้แนวเส้นทาง และจำเป็นต้องมีโครงสร้างโยธาเสาและฐานรากร่วมกัน (โครงสร้างโยธาร่วม) แต่ระยะเวลาการก่อสร้าง และมาตรฐานเทคนิคทั้งสองโครงการไม่สอดคล้องกัน

โดยให้ สกพอ. กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะเจรจากับ บจ.รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน (ซี.พี.) จัดทำข้อเสนอการแก้ไขสัญญาร่วมทุนรถไฟความเร็วเชื่อมสามสนามบิน เพื่อให้เอกชนเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างช่วงบางซื่อถึงดอนเมือง โดยให้เอกชนรับพื้นที่และเริ่มงานก่อสร้างโยธาให้ได้มาตรฐานเร็วกว่ากำหนด เพื่อให้โครงการรถไฟไทย-จีน สามารถใช้เส้นทางดอนเมือง-บางซื่อได้ภายในเดือน ก.ค. 2569

รวมทั้งเอกชนคู่สัญญาจะรับผิดชอบออกแบบและก่อสร้างงานโยธาทั้งหมด รวมงานทางวิ่งของโครงการรถไฟฯ ไทย-จีน ช่วงบางซื่อถึงดอนเมือง โดยยึดข้อตกลงทั้งมาตรฐานและระยะเวลาของรถไฟไทย-จีนเป็นหลัก เพื่อแก้ปัญหาความไม่สอดคล้องระยะเวลา และด้านเทคนิคให้สามารถรองรับทั้งสองโครงการได้

ทั้งนี้ จะได้หาแนวทางร่วมกันกับเอกชนคู่สัญญาในส่วนการปรับหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของรัฐเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นกับเอกชนคู่สัญญาอย่างเหมาะสม โดยยึดหลักไม่ให้เป็นภาระทางการเงินกับภาครัฐ และแผนก่อสร้างทั้งสองโครงการมีประสิทธิภาพสูงสุด

@อัยการตรวจร่างสัญญา ทลฉ.เฟส 3 เร่งเสนอ ครม.คาดลงนามใน ส.ค.

สำหรับโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F คณะทำงานเจรจาร่างสัญญาฯ ที่มีผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นประธาน ได้ดำเนินการเจรจาร่างสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนรวมทั้งสิ้น 14 ครั้ง และอยู่ระหว่างการพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด โดยจะเร่งนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา คาดจะลงนามสัญญาได้ในเดือน ส.ค.นี้

กพอ.พิจารณาผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุน ตามที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 อนุมัติผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ภาครัฐได้รับจากโครงการฯ เป็นค่าสัมปทานคงที่ คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อ TEU (หน่วยนับตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งมีขนาด 20 ฟุต)

โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT TANK) บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้ผ่านการประเมินข้อเสนอซองที่ 4 ซึ่งได้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ภาครัฐได้รับตามที่มติ ครม.ได้อนุมัติไว้ นอกจากนี้ ยังได้เจรจาผลตอบแทนเพิ่มเติม เช่น เอกชนตกลงเพิ่มเงื่อนไขการสร้างท่าเรือ F2 ให้เร็วขึ้น หากแนวโน้มตู้สินค้าเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ เอกชนจะสมทบเงินเข้ากองทุนเยียวยาความเสียหายในอัตรา 5,000 บาท/ไร่/ปี นับตั้งแต่วันเริ่มประกอบการท่าเทียบเรือ เป็นต้น
@รถไฟเชื่อมสามสนามบินส่งมอบพื้นที่ครบใน ก.ย.นี้

ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินนั้นมีการส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนคู่สัญญาไปแล้ว 86% และพร้อมส่งมอบทั้งหมดภายในเดือนกันยายน 2564 คู่ขนานไปกับการยกระดับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์โฉมใหม่ ที่ผู้โดยสารจะได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้น

สำหรับสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA จัดทำแผนแม่บทสนามบินอู่ตะเภาฉบับสมบูรณ์ พร้อมเริ่มว่าจ้างผู้ออกแบบระดับโลก (SOM) ด้านกองทัพเรือได้ออกแบบทางวิ่ง 2 และงานที่เกี่ยวข้องเรียบร้อย

โดยงานปรับถมดินทางขับระยะที่ 1 มีความคืบหน้า 80.53%, งานสาธารณูปโภค สกพอ.ได้ส่งมอบพื้นที่ให้ บริษัท บี.กริม ผู้ดูแลงานระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น บริษัท อีสท์วอเตอร์ ผู้ดูแลงานระบบประปาและบำบัดน้ำเสียเพื่อเตรียมงานก่อสร้างแล้ว, งานบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานเจรจาสัญญาแล้วเสร็จ ผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกคือ บริษัทร่วมค้า BAFS-OR, กิจกรรมพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมการบิน (ATZ) สกพอ.อยู่ระหว่างจัดทำแผนแม่บท ซึ่งมีกิจกรรมสำคัญๆ เช่น ศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ศูนย์บริการอุปกรณ์ภาคพื้น และศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรทักษะชั้นสูงด้านอุตสาหกรรมการบิน เป็นต้น

@รับทราบแผนจัดหาแหล่งน้ำ แก้ปัญหายั่งยืน

นอกจากนี้ ที่ประชุม กพอ.รับทราบการจัดหาแหล่งน้ำในพื้นที่อีอีซีที่มีระบบบริหารน้ำในภาพรวมครบถ้วน จากข้อสั่งการ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี อาทิ กรมชลประทาน เร่งเสนอโครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำกลับคลองสะพาน-ประแสร์ เส้นที่ 2 และเครือข่ายคลองวังโตนด-อ่างเก็บน้ำประแสร์ เส้นที่ 2 สร้างความมั่นคงการจัดการน้ำในระยะยาว นิคมอุตฯ จัดหาแหล่งน้ำสำรองของตนเอง รวมถึงเร่งเพิ่มน้ำต้นทุน เปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำจืด ดำเนินการให้คุ้มค่าสูงสุด เป็นต้น

แนวทางจัดหาแหล่งน้ำรองรับในพื้นที่ 30 กิโลเมตรรอบสนามบินอู่ตะเภา ที่เป็นจุดการพัฒนาที่สำคัญ และกระทรวงทรัพย์ฯ ได้ช่วยทำแผนที่น้ำใต้ดินซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้กว่า 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือเป็นครั้งแรกที่มีการบริหารน้ำผิวดินร่วมกับน้ำใต้ดิน

@อนุมัติลงทุนในอีอีซีแล้ว 1.59 ล้านล้านบาท
นายคณิตกล่าวว่า ความก้าวหน้าการลงทุนในอีอีซี เกิดการลงทุนรวมจากงบบูรณาการอีอีซี โครงสร้างพื้นฐาน (PPP) และการออกบัตรส่งเสริมลงทุนจากบีโอไอ มีมูลค่าสูงถึง 1,594,282 ล้านบาท (ณ 30 มิ.ย. 2564) มีการลงทุนที่สำคัญๆ เช่น โครงการร่วมลงทุนรัฐ-เอกชน (โครงสร้างพื้นฐาน) ซึ่งได้ผู้ลงทุน 4 โครงการหลัก มูลค่ารวม 633,401 ล้านบาท เกิดการลงทุนในปี 2564 มูลค่า 26,588 ล้านบาท และลงทุนตลอดระยะเวลาที่เหลือของโครงการสูงถึง 606,205 ล้านบาท

นอกจากนี้ กพอ.พิจารณาจัดตั้ง และเปลี่ยนแปลงเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติม 7 แห่ง ตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรี 4 แห่ง และจังหวัดระยอง 3 แห่ง พื้นที่โครงการรวมประมาณ 8,000 ไร่ มีพื้นที่รองรับประกอบกิจการรวมประมาณ 6,000 ไร่ โดยมีเป้าหมายเงินลงทุนรวมประมาณ 3 แสนล้านบาท ภายใน 10 ปี (2564-2573) ได้แก่ เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการอุตสาหกรรม รูปแบบนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มเติม จำนวน 5 แห่ง ตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรี 3 แห่ง ได้แก่ นิคมโรจนะแหลมฉบัง นิคมโรจนะหนองใหญ่ และนิคมเอเชียคลีน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การบินและโลจิสติกส์ เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และในจังหวัดระยอง 2 แห่ง ได้แก่ นิคมเอ็กโก และนิคมดับบลิวเอชเออินดัสเตรียลเอสเตทระยอง รองรับยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ โดยมีจำนวนพื้นที่โครงการ 6,884.42 ไร่ เป็นพื้นที่รองรับประกอบกิจการ 5,098.56 ไร่ เงินลงทุนสูงถึง 280,772.23 ล้านบาท

จัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงบ้านฉาง จังหวัดระยอง พื้นที่โครงการ 519 ไร่ รองรับงานวิจัยพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล และกิจการที่เกี่ยวข้อง พื้นที่ประกอบกิจการ 360 ไร่ เงินลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท รวมทั้ง ได้เห็นชอบเปลี่ยนแปลงเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการพิเศษ ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ (พัทยา) หรือ EECmd โดยขยายพื้นที่เพิ่ม 18.68 ไร่ จากเดิมมีพื้นที่ 566 ไร่ เป็นพื้นที่รวมประมาณ 585 ไร่ เงินลงทุนประมาณ 8,000 ล้านบาท

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)






กำลังโหลดความคิดเห็น