xs
xsm
sm
md
lg

“บ้านปู” ฮุบ 2 โรงไฟฟ้าโซลาร์ที่ออสเตรเลีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



บ้านปูทุ่ม 2,332 ล้านบาทซื้อกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 2 แห่ง รวม 166.8 เมกะวัตต์ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย นับเป็นก้าวสำคัญในการวางรากฐานการลงทุนทั้งในเชิงกลยุทธ์ด้านพลังงานสะอาด และต่อยอดระบบนิเวศด้านพลังงานของบ้านปูในประเทศออสเตรเลีย หนุนให้บริษัทฯ ก้าวสู่เป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 6,100 เมกะวัตต์ภายในปี 2568

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)(BANPU) เปิดเผยว่า บ้านปูประสบความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วในประเทศออสเตรเลีย 2 แห่ง จากบริษัท นิว เอเนอร์จี โซลาร์ จำกัด (New Energy Solar Limited) โดยมีมูลค่าการลงทุน 97.5 ล้านเหรียญออสเตรเลีย หรือเทียบเท่า 2,332 ล้านบาท โดยการลงทุนครั้งนี้สอดคล้องกับกลยุทธ์ที่เน้นโครงการที่สร้างกระแสเงินสดได้ทันที ทั้งยังเป็นอีกก้าวสำคัญของธุรกิจบ้านปูในการขยายพอร์ตพลังงานสะอาดและต่อยอดระบบนิเวศของธุรกิจบ้านปูในประเทศออสเตรเลีย

การเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 2 แห่ง มีกำลังการผลิตรวม 166.8 เมกะวัตต์ ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เบอริล (Beryl หรือ BSF) กำลังการผลิต 110.9 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มานิลดรา (Manildra หรือ MSF) กำลังการผลิต 55.9 เมกะวัตต์ ผ่านหน่วยลงทุน Banpu Energy Hold Trust ที่จัดตั้งโดยบริษัท บ้านปู เอเนอร์จี ออสเตรเลีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบ้านปู ถือหุ้นในอัตราร้อยละ 100 และ บริษัท บ้านปู รีนิวเอเบิล ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด ที่บ้านปูถือหุ้นในอัตราร้อยละ 50


โดยโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งถือว่าเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่โครงการแรกของบ้านปูในประเทศออสเตรเลีย นับเป็นก้าวสำคัญในการวางรากฐานการลงทุนทั้งในเชิงกลยุทธ์ด้านพลังงานสะอาด และต่อยอดระบบนิเวศด้านพลังงานของบ้านปูในประเทศออสเตรเลีย ตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ของบริษัทฯ ผลักดันให้บริษัทฯ ก้าวสู่เป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 6,100 เมกะวัตต์ภายในปี 2568

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้ง 2 แห่งใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยจากผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ระดับ Tier-1 รวมถึงมีระบบหมุนตามแสงอาทิตย์ (Single Axis Tracking System) ส่งผลให้มีอัตราความสามารถในการผลิตเฉลี่ย (Capacity Factor) ในระดับที่ดี รวมทั้งตั้งอยู่ในบริเวณที่มีค่าการสูญเสียไฟฟ้า (Marginal Loss Factor หรือ MLF) ในระดับที่คงที่ เนื่องจากมีความพร้อมในระบบสาธารณูปโภค ซึ่งส่งผลให้บริษัทฯ มีเสถียรภาพในการรับรู้รายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย นอกจากนี้ รัฐนิวเซาท์เวลส์ยังมีปริมาณความต้องการและการเติบโตของการใช้ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบสายส่งของประเทศ ผ่านตลาดซื้อขายไฟฟ้าแห่งชาติ (National Electricity Market หรือ NEM) ตามสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ระยะยาว โดยผู้รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการทั้ง 2 แห่งมีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในกลุ่มน่าลงทุน (Investment Grade) ส่งผลถึงกระแสเงินสดที่บริษัทฯ จะได้รับอย่างมั่นคงในระยะยาว นอกจากนี้รัฐนิวเซาท์เวลส์มีนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ โดยในปี 2563 มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 14 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในตลาดซื้อขายไฟฟ้าแห่งชาติ (NEM) และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต


ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้จัดตั้งบริษัท Banpu Energy Australia ขึ้นเพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์ Greener & Smarter ของบ้านปูในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งนับว่าเป็นประเทศที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ต่อบริษัทฯ เป็นอย่างมาก โดย Banpu Energy Australia จะสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน ถึงพร้อมด้วยนวัตกรรม ครอบคลุมธุรกิจที่ครบวงจร โดยมุ่งเน้นการพัฒนาโครงการพลังงานสะอาด โซลูชันด้านพลังงาน และการบริหารจัดการพอร์ตโฟลิโอในประเทศออสเตรเลีย ในการนี้ Banpu Energy Australia จะเป็นผู้บริหารจัดการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้ง 2 แห่งนี้

“การลงทุนในครั้งนี้จึงนับเป็นอีกก้าวสำคัญในการวางรากฐานการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดในประเทศออสเตรเลีย และยังเป็นการก้าวสู่ตลาดซื้อขายไฟฟ้าที่มีความก้าวหน้าและเป็นตลาดขายส่ง (Wholesale Electricity Market) ที่เปิดเสรีอีกด้วย เราพร้อมขยายพอร์ตการลงทุนที่ตอบโจทย์กลยุทธ์ Greener & Smarter ในประเทศออสเตรเลียอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเข้าลงทุนผ่านการซื้อกิจการที่สามารถรับรู้รายได้ได้ทันที การพัฒนาโครงการพลังงานสะอาด (Decarbonization) บนพื้นที่บริเวณเหมืองถ่านหินใต้ดิน ซึ่งบ้านปูได้เข้าไปลงทุนตั้งแต่ปี 2552 หรือต่อยอดสู่ธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานในอนาคต อันถือเป็นการเชื่อมโยงต่อยอดระบบนิเวศทางธุรกิจภายในกลุ่มบ้านปูที่แข็งแกร่งอีกด้วย” นางสมฤดีกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น