xs
xsm
sm
md
lg

พอร์ต“คีรี กาญจนพาสน์” ทรุด โควิดการเมืองพ่นพิษฉุดผลงาน บจ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“คีรี กาญจนพาสน์” หลุด 10 อันดับเศรษฐีหุ้นไทยเพราะมูลค่าความมั่งคั่งในพอร์ตหุ้นลดลง 1.22 หมื่นล้านบาท จากปี 62 ที่ถือครองรวม 4.35 หมื่นล้านบาท ผลกระทบของธุรกิจ ที่เกิดจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 แถมการเมืองร้อน ม็อบสามนิ้วป่วน รถไฟฟ้าบีทีเอส คนโดยสารบางตา ขณะงบโฆษณาต่าง ๆ นิ่ง "วีจีไอ-มาสเตอร์ แอด-แพลน บี มีเดีย " ผลงานทรุด มีเพียง เคอรี่ เอ็กซ์เพรสฯ ที่ยังสดใส โบรกฯ ประเมิน แม้ภาพรวม BTS ทรุด ยังแนะนำ “ซื้อ” เชื่อบริษัทในเครือหนุนและชดเชยให้ส่วนต่างกลบกัน

หลังจากเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้วิถีชีวิตและการดำเนินชีวิตของประชากรทั่วโลกปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง กระหน่ำซ้ำเศรษฐกิจให้ซวนเซ เพราะเมื่อผู้คนไม่ออกนอกบ้าน ไม่ไปจับจ่ายใช้สอย กิจกรรมต่าง ๆ หดหายไป แทบทุกองค์กรหั่นงบโฆษณา เพราะต่างต้องรัดเข็มขัดเพื่อให้ฝ่าวิกฤตไปได้ สำหรับการระบาดในไทยนั้นแม้จะดีขึ้นมาบ้างตามลำดับแต่ปลายปี 63 ระลอกสองกลับมาระบาดอีกครั้ง ทำให้เศรษฐกิจที่กำลังเริ่มฟื้นตัวมาบ้าง กลับต้องเบรกหรือชะลอ เพื่อรอดูว่าโควิดระลอกสองจะสกัดอยู่และรัฐจะออกมาตรการล็อกดาวน์อีกหรือไม่ อีกทั้งการเมืองที่ร้อนระอุมาตลอดทั้งปี แถมยังมีม็อบสามนิ้วที่ออกมายื่นข้อเรียกร้อง เหล่านี้ล้วนผสมปนเป นั่นถือว่ามีแต่สิ่งเลวร้ายมากต่อเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการน้อยใหญ่แทบโงหัวไม่ขึ้น มีเพียงบางธุรกิจเท่านั้นที่สวนกระแส

บริษัทในเครือของ บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ BTS ก็หลากหลายธุรกิจ ซึ่งมี “คีรี กาญจนพาสน์” เป็นประธานกรรมการ และผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 1 ของ BTS 19.45% หรือ2,560,441,052 หุ้น บริษัทมีมาร์เกตแคป ณ วันที่ 18 ก.พ. 2564 ที่ 122,397.20 ล้านบาท P/E Ratio 19.05 เท่าP/BV ที่ 2.40 เท่า และเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับที่ 11 ของ บมจ.วีจีไอ หรือ VGI โดยถือหุ้นสัดส่วน 0.55% หรือ 47,220,000 หุ้น โดย VGI มีมาร์เกตแคปล่าสุด ณ วันที่ 18 ก.พ. 2564 ที่ 59,417.04 ล้านบาทP/E Ratio ที่ 60.33 เท่า และ P/BV ที่ 3.83 เท่า นอกจากนี้ ยังมีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท หรือ BTSGIF ซึ่งนายคีรีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 8 โดยถือหุ้น 2.14% หรือ123,703,580 หุ้น โดยมีมาร์เกตแคปล่าสุด ณ วันที่ 18 ก.พ. 2564 ที่ 28,940.00ล้านบาท P/BV ที่ 0.53 เท่า

อย่างไรก็ดี แม้ว่า BTS ยกระดับบริษัทเป็น “โฮลดิ้งส์ คัมปานี ” เพื่อลดความเสี่ยงและกระจายการลงทุนในหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง โดย “คีรี” เข้าไปถือหุ้นในอีกหลายบริษัท ผ่าน BTS ที่เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น บมจ. ยู ซิตี้ หรือ U สัดส่วน 36.22% หรือ2,033,425,452 หุ้น และเข้าถือหุ้นใน บมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) หรือ KEX ผ่าน VGI โดยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 สัดส่วน 19.03% หรือ331,200,000หุ้น , VGI ถือหุ้น บมจ. มาสเตอร์ แอด หรือ MACO 1,438,363,596 หุ้น หรือ 26.58% อีกด้วย และ บมจ. แพลน บี มีเดีย หรือ PLANB 760,181,006 หุ้นหรือ19.58%

ดังนั้น จากการลงทุนใน บจ.ที่หลากหลาย “คีรี” จึงถือป็นหนึ่งในเศรษฐีหุ้นไทยหลายปีติดต่อกัน แม้ว่าจากการจัดอันดับล่าสุดของนิตยสารการเงินธนาคาร คีรี จะหลุดจากโผ 10 อันดับเศรษฐีหุ้นไทยจากมูลค่าความมั่งคั่งในพอร์ตหุ้นที่ลดลง เนื่องจากผลกระทบของธุรกิจ ที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ในปี 2563 ทำให้มูลค่าการถือครองหุ้นในหุ้นหลักที่เข้าไปลงทุนปรับตัวลดลง 1.22 หมื่นล้านบาท จากปี 2562 ที่ถือครองรวม 4.35 หมื่นล้านบาท ทำให้ปัจจุบัน "คีรี กาญจนพาสน์" มีพอร์ตการลงทุนในหุ้นของตลาดหลักทรัพย์ ใน 3 บริษัทจดทะเบียนหลัก ประกอบด้วย หุ้น BTS, BTSGIF และ VGI โดยมีมูลค่าการถือครองรวม 2.5 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ จากการที่มีหุ้นในพอร์ตดังกล่าว แต่ละ บจ. ประกาศจ่ายเงินปันผลอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ทำให้ประเมินได้ว่าแต่ละปี "คีรี " จะได้รับเงินสดจากเงินปันผลไม่น้อยกว่า 600 ล้านบาทต่อปี ในสภาวะที่เศรษฐกิจยังปกติและทุกอย่างขับเคลื่อนไปได้อย่างไม่มีปัจจัยภายนอกมากระทบ ทว่าในโมงยามที่การระบาดของ ไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและวิถีการดำเนินชีวิตให้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงทั่วโลก ส่งผลต่อการดำเนินงานของแทบจะทุกธุรกิจ ดังนั้น ผลตอบแทนการลงทุนต่างๆ จึงไม่เหมือนที่ผ่านมา

BTS กำไรทรุด เหตุผู้โดยสารน้อย

อย่างไรก็ดี การเกิดโรคระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้บริษัทในเครือของ BTS ได้รับผลกระทบถ้วนหน้า ผลประกอบการที่ประกาศออกมาล้วนลดลงอย่างไม่ต้องสงสัย ยิ่งรถไฟฟ้าที่ปกติมีผู้โดยสารแน่นขนัด แต่โควิดเป็นโรคที่ทุกคนต้องอยู่ห่างกัน เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการติดต่อของโรค ขณะที่การทำงานแทบทุกบริษัท ใช้การทำงานแบบ work from home การเดินทางจึงลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด สวนทางกับการใช้อินเตอร์เน็ทกลับคึกคัก กลายเป็นการดำเนินชีวิตแบบใหม่ตามวิถีนิวนอมอล การใช้รถไฟฟ้าที่เคยแน่นขนัดแทบปิดประตูไม่ได้กลายเป็นผู้โดยสารบางตา

BTS ประกาศผลงานงวดไตรมาส 3 งวดปี 63/64 ซึ่งสิ้นสุด ณ ธ.ค.63 มีกำไรสุทธิ 1,686.05 ล้านบาท ลดลง 32% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2,459.60 ล้านบาท โดยบริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 11,946 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งมาจากการที่จำนวนผู้โดยสารในรถไฟฟ้าสายหลักเติบโต 2.0% จากไตรมาสก่อน และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มซาลงไป แต่ภาพรวมก็ถือว่ายังเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยรายได้จากการดำเนินงานรวม 8,733 ล้านบาท ลดลง 14.5% หรือ 1,483 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ยังมีรายได้จากการขยายโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆที่จะเกิดขึ้นรวม 6.3 พันล้านบาท และรายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง 1,334 ล้านบาท เติบโตถึงกว่า 41.6% หรือ 392 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งการที่บริษัทมีกำไรจาก(Recurring EBITDA 2,672 ล้านบาท เพิ่มขึ้น32.8% หรือ 660 ล้านบาท เทียบไตรมาสก่อน แต่ลดลง 28.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในการร่วมค้าและบริษัทร่วม ส่วนใหญ่มาจากการลดลงของส่วนแบ่งกำไร / (ขาดทุน) จากเงินลงทุนใน ยู ซิตี้ 2,568 ล้านบาท และการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์โดยยู ซิตี้ 1,429 ล้านบาท

ขณะที่ในส่วนของผลประกอบการงวด 9 เดือนปี 63/64 บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,894.28 ล้านบาท ลดลง 37.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 4,631 ล้านบาทจากการรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในยูซิตี้ ที่มีการบันทึกการด้อยค่าของสินทรัพย์ รวมถึงไม่มีการบันทึกกำไรจากการขายหมอชิตแลนด์ ซึ่งถูกบันทึกไปแล้วในไตรมาส 3 ปี 62/63 และส่วนแบ่งกำไรเงินลงทุนจาก BTSGIF ลดลงตลอดถึงผลดำเนินงานของธุรกิจสื่อโฆษณาและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยมีรายได้รวมที่ 11,946 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ บริษัทฯ รับรู้กำไรจากการดำเนินงานที่เกิดขึ้นเป็นประจำก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยและภาษี (Recurring EBITDA) ลดลง 2,149 ล้านบาท หรือคิดเป็น 25.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อนเป็น 6,204 ล้านบาท เนื่องจากในไตรมาสนี้ไม่มีการบันทึกกำไรจากการที่ U ขายหมอชิตแลนด์

MACO รับพิษโควิด-19 ฉุดขาดทุน

บริษัท มาสเตอร์ แอด จำกัด (มหาชน) หรือ MACO หนึ่งในผู้นำสื่อโฆษณากลางแจ้งที่มีความหลากหลายทั้งสื่อโฆษณาภาพนิ่งและสื่อดิจิทัลที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศไทย และในภูมิภาคอาเซียน ที่ VGI ถือหุ้น MACO 1,438,363,596 หุ้นคิดเป็น 26.58% แจ้งงบไรมาส 3 ปี 2563/64 มีรายได้จากการดำเนินงานรวม 496 ล้านบาท ลดลง 38.4% จากปีก่อน โดยมีรายได้จากสื่อโฆษณานอกบ้านลดลง 60.0% คิดเป็น 168 ล้านบาท และรายได้จากงานด้านระบบครบวงจร 328 ล้านบาท ลดลง 14.9% ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังคงยืดเยื้อ ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจหดตัวอย่างต่อเนื่อง และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้านที่นับเป็นธุรกิจหลักของบริษัทฯ จากสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ MACO ผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 95 ล้านบาท

นายพุน ฉง กิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MACO บริษัทได้รับผลกระทบอย่างมากจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่หดตัวอย่างรุนแรงอันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสาเหตุให้แบรนด์และนักการตลาดยังคงลังเลในการใช้จ่ายงบโฆษณา ทำให้การดำเนินงานของบริษัทฯ ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก และช่วงไตรมาสที่ผ่านมาเศรษฐกิจของไทยเริ่มมีการฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ ประกอบกับการออกนโยบายช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ความต้องการด้านการโฆษณาเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ตลาดอินโดนีเซียยังแสดงให้เห็นถึงสัญญาณการฟื้นตัวจากการผ่อนคลายของมาตราการต่างๆ เช่นกัน ทำให้ภาพรวมผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ปี 2563/64 บริษัทฯ สามารถบันทึกผลขาดทุนสุทธิลดลง 40.8% จากไตรมาสก่อนหน้า

ทั้งนี้ จากอัตราผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในประเทศไทยเมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา บริษัทฯ จึงคาดว่าผลการดำเนินงานโดยรวมจะยังคงได้รับผลกระทบในทางลบ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าตามกลยุทธ์ที่วางไว้ โดยมอบหมายให้ บริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ PLANB เป็นผู้บริหารจัดการสื่อโฆษณาในประเทศของ MACO ทั้งหมด ขณะที่บริษัทฯ จะมุ่งสร้างความแข็งแกร่งในตลาดต่างประเทศ ร่วมกับการดำเนินธุรกิจภายใต้การบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยบริษัทฯ ได้ดำเนินการเจรจาต่อรองขอลดค่าเช่าพื้นที่สื่อโฆษณาภายในประเทศ และค่าสัญญาสัมปทานของธุรกิจสื่อโฆษณาในประเทศมาเลเซีย ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจท่ามกลางวิกฤตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น พร้อมกันนี้บริษัทฯ ยังได้เฟ้นหาธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพ เพื่อสร้างรายได้และผลกำไร

KEX กำไรสวยรับนิว นอร์มอล

บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX คืออีกหนึ่งบริษัทของกลุ่มกาญจนพาสต์ โดยถือผ่านทางVGI จำนวน 333,200,200 หุ้น หรือ 19.03% และผลงานงวดสิ้นปี 2563พบว่า KEX มีกำไรสุทธิ 1,405 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.8% จากปี 2562 มีกำไรสุทธิ 1,329 ล้านบาท รวมถึงมีอัตรากำไรขั้นต้น 16.20% ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่ 15.6% ตามการลดลงของต้นทุนการขาย และการบริการในอัตราสูงกว่าการลดลงของรายได้ นอกจากนี้มีรายได้จากการขาย และการให้บริการ 18,917 ล้านบาท ลดลง 4.4% จากปี 2562 อยู่ที่ 19,782 ล้านบาท

ทั้งนี้ เพราะรับผลดีจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และเป็นไปตามกลยุทธ์การปรับลดราคาเชิงรุก เพื่อเข้าถึงตลาดขนส่งแบบประหยัด แม้รายได้จากการขาย และการให้บริการจะลดลง แต่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ และกำไรสุทธิ ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 10.1% และ 5.8% จากปี 2562 ตามลำดับ เป็นไปตามต้นทุนที่ลดน้อยลง จากมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน และการลดค่าใช้จ่าย

อิศรินทร์ ภัทรมัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการลงทุน KEX เปิดเผยว่า แนวโน้มปี 2564 หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID–19 ตั้งแต่ปี 2563 และหน่วยงานภาครัฐฯ ได้ออกมาตรการปิดเมือง (Lockdown) ทำให้ความผันผวนในตลาดเพิ่มสูงขึ้นกระทบต่อบุคคลทั่วไป รวมถึงธุรกิจต่าง ๆ และผู้คนเริ่มปรับตัวเข้าสู่การใช้ชีวิตวิถีใหม่ แต่การอุปโภคบริโภคยังเป็นสิ่งจำเป็น โดยผู้คนปรับเปลี่ยนวิธีการจับจ่ายซื้อของมาเป็นออนไลน์แทน จึงมองว่าธุรกรรมทางออนไลน์จะเติบโตดี ซึ่งช่วยหนุนตลาดจัดส่งพัสดุแบบด่วนในประเทศไทยให้เติบโตได้ดี

ด้านธุรกรรมอีคอมเมิร์ซ และโซเชียลคอมเมิร์ซ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างเห็นได้ชัดในปี 2563 ถือเป็นปัจจัยที่ผลักดันการเติบโตของกลุ่มธุรกิจการจัดส่งพัสดุด่วน ส่วนปริมาณการจัดส่งพัสดุยังเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ จากการจัดโปรโมชั่นอย่างสม่ำเสมอ และการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล ยังทำให้ผู้บริโภค ต้องการบริการจัดส่งพัสดุด่วนถึงบ้านรวดเร็ว และคุณภาพมากขึ้น

U ขาดทุนอ่วม PLANB ทรุด

บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ U แจ้งงบงวดสิ้นปี 63 ขาดทุนสุทธิ 6,614 ล้านบาท ขณะที่งวดนี้ปีก่อนกำไรสุทธิ 1,889 ล้านบาท โดยปัจจัยหลักมำจำกกำรลดลงของ EBITDA รวมถึงส่วนแบ่งผลขาดทุนจาการบริษัทร่วมค้า และค่าเสื่อมราคาและต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากมาตรฐานการรายงานทางการเงินเรื่องสัญญาเช่า (TFRS16) มาถือปฏิบัติ ขณะที่มีรายได้รวมลดลงร้อยละ 46.1 จากปี ก่อน เป็น 5,651 ล้านบาท โดยปัจจัยหลักมาจากการลดลงของรายได้จากธุรกิจโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) และการลดลงของรายได้จากธุรกิจให้เช่าอำาคารสำนักงานและรายได้อื่น หักลบจากรายได้อสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น

บริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ PLANB งบล่าสุดคือไตรมาส 3 ปี63 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 1.09 ล้านบาท ขณะที่งวดนี้ปีก่อนหน้ากำไรสุทธิ 185.70 ล้านบาท และมีรายได้รวม 888 ล้านบาท ลดลงกว่าร้อยละ 26 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนงวด 9 เดือนมีรายได้ 2,491 ล้านบาท ลดลง 1,015 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 28.9 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดนี้ปีที่แล้ว เพราะรับผลกระทบ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างต่อเนื่องในธุรกิจสื่อโฆษณา

โบรกฯมองกลุ่ม BTS รับผลกระทบโควิด-19

บล.ดีบีเอสฯ - แนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 4/2563-2564 คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอก 2 ทั้งธุรกิจโฆษณา VGI ซึ่งอยู่ในช่วง low season และบริษัทต่าง ๆ ในกลุ่ม เช่น BTSGIF, MACO, Rabbit Line Pay ที่ยังเป็นขาดทุน, U City ที่ธุรกิจโรงแรมยุโรปชะงักงันจากโรคระบาด (แต่ตั้งสำรองไปมากแล้ว) แต่ธุรกิจที่ยังไปได้ดีคือบริหารเดินรถ รวมทั้งบริษัทร่วม KEX (Kerry Express) ยังให้ผลกำไรเข้ามาชดเชยได้บางส่วน แนะนำ “ซื้อ”

บล.ทิสโก้ คาดผลประกอบการไตรมาส 4/2563-2564 ของ BTS จะยังคงอ่อนตัวจากไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันปีก่อน จากผลกระทบโควิด-19 ที่มีผลต่อธุรกิจสื่อ และคาดส่วนแบ่งกำไรจาก BTSGIF ยังคงลดลง ในขณะที่ U City ยังคงถูกกดดันต่อธุรกิจโรงแรม โดยปรับประมาณการผลประกอบการสำหรับปี 2563 และปี 2564 คาดกำไรสุทธิอยู่ที่ 3,339 ล้านบาท และ 2,794 ล้านบาท ตามลำดับ แนะนำ “ซื้อ”

บล.เคทีบีเอสที - มีมุมมองเป็นกลางกับ BTS เนื่องจาก 1) บริษัทยืนยันว่าการค้างจ่ายค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายสายสีเขียวของกทม.ไม่ได้กระทบการรับรู้รายได้ 2) ปัจจุบันบริษัทยังไม่ได้มีการยื่นถอนคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง หลังจากที่รฟม.มีการถอนอุทธรณ์และล้มประมูลสายสีส้ม 3) บริษัทประเมินผู้โดยสารสายสีเขียวหลักปี 2565 (เม.ย. 2564-มี.ค. 2565) จะกลับมาฟื้นตัวอยู่ในระดับ 174 ล้านเที่ยว และ 4) โครงการอื่น ๆ ยังเป็นไปตามแผน โดยคงประมาณการกำไรปกติปี 2564 และปี 2565 ที่ 1.2 พันล้านบาท และ 2.7 พันล้านบาท ตามลำดับ แนะนำ “ซื้อ”

บล.คันทรี่ กรุ๊ป มองว่า ในส่วนของ BTS คาดกำไรปกติในไตรมาส 4/2563-2564 หดตัวจากไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคาดว่าผลประกอบการของธุรกิจโรงแรมของ U City และ ส่วนแบ่งกำไรจาก BTSGIF จะหดตัว หลังมีการล็อกดาวน์ในช่วงม.ค. แต่จะถูกชดเชยเล็กน้อยจากการรับรู้รายได้ O&M ที่เพิ่มขึ้นจากส่วนต่อขยายสายสีเขียวโซนเหนือ เปิดใช้งานช่วงธ.ค. 2563 แนะนำ “ซื้อ”




กำลังโหลดความคิดเห็น