xs
xsm
sm
md
lg

กรุงไทยปรับลดจีดีพีโตเหลือ 2.5% ลุ้นคุมโควิด-19 ได้ใน 2 เดือน

เผยแพร่:



ศูนย์วิจัย Krungthai Compass ปรับลดประมาณการจีดีพีเหลือ 2.5% จาก 2.6% มองโควิด-19 ระลอกใหม่กระทบท่องเที่ยว-อุปสงค์ภายในประเทศ แต่เงินเยียวยาเพียงพอชดเชย ขณะที่แบงก์ชาติหากสถานการณ์ยืดเยื้อเกิน 2 เดือนก็อาจจะลดดอกเบี้ยได้อีก

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai Compass ธนาคารกรุงไทย (KTB) 
เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยฯ ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 มาอยู่ที่ระดับ 2.5% ใกล้เคียงเดิมที่ 2.6% โดยหลักๆ เป็นผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยวและอปุสงค์ในประเทศที่ลดลง โดยปรับประมาณการยอดนักท่องเที่ยวในประเทศลงเปลือ 109.6 ล้านคน จากเดิมที่ 131.8 ล้านคน ซึ่งทำให้เม็ดเงินหายหาย 1.1 แสนล้านบาท ขณะที่นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศประมาณการที่ 4.4 ล้านคนซึ่งส่วนใหญ่จะเข้ามาในช่วงไตรมาส 4 เกือบทั้งหมด โดยการคาดการณ์ดังกล่าวอยู่ภายใต้สมมติฐานที่สถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่สามารถควบคุมได้ในช่วง 2 เดือนแรกของปี ขณะที่การส่งออกแม้จะได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกแต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนสูงจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดระลอก 2 ในบางประเทศอยู่ รวมถึงแนวโน้มเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในปีนี้

ทั้งนี้ การประเมินจีดีพีในครั้งนี้ได้รวมเอาผลกระทบทั้งจากการระบาดโควิด-19 และมาตรการเยียวยาของภาครัฐที่ได้ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา โดยหากไม่มีมาตรการดังกล่าวออกมาคาดว่าจีดีพีปีนี้จะเติบโตเพียง 1.5% และหากกรณีที่สถานการณ์ระบาดยืดเยื้อออกไปถึง 3 เดือนก็อาจจะทำให้จีดีพีเติบโตเพียง 1%

"เท่าที่ได้มีการประเมินความเข้มงวดของมาตรการรัฐที่ออกมาในช่วงโควิด-19 เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคมปีก่อนเมื่อเทียบกับครั้งนี้แล้ว ระดับความเข้มข้นยังไม่เท่ากันปีก่อนจะอยู่ที่ประมาณ 73 ปีนี้ 64 แต่กว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาไต่ระดับเท่าเดิมคงใช้เวลาอีก 2-3 เดือนหลังจากคุมสถานการณ์ได้"

สำหรับมาตรการภาครัฐที่ออกมานั้น ณ ปัจจุบันถือว่าเพียงพอที่จะเยียวยาจากที่ธนาคารประเมินไว้ว่าสถานการณ์ระบาดทำให้เม็ดเงินจากอุปสงค์ภายในประเทศหายไป 167,000 ล้านบาท ขณะที่เม็ดเงินเยียวยาที่ออกมาเบื้องต้นที่ 170,000 ล้านบาท แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อกว่าที่คาดการณ์ไว้ก็อาจจะต้องมีเม็ดเงินเพิ่มเติม รวมถึงมาตรการทางการเงินที่หากเป็น Base Case ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0.50% หากสถานการณ์ยืดเยื้อก็มีความเป็นไปที่ ธปท.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้อีก และมีช่องให้ลดได้อีก 2 ครั้งก่อนที่ดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 0%
กำลังโหลดความคิดเห็น