xs
xsm
sm
md
lg

สัญญา O&M มอเตอร์เวย์ชะงัก-คมนาคมเร่งสรุปปมปรับแบบ ชง ครม.เคาะเพิ่มงบ

เผยแพร่:



กรมทางหลวงเร่งเคลียร์ปมปรับแบบมอเตอร์เวย์ “บางปะอิน-นครราชสีมา” 17 สัญญากลาง ธ.ค. เร่งชง ครม.เคาะเพิ่มงบอีก 5 พันล้าน “ศักดิ์สยาม” ดันเซ็นสัญญา O&M สายบางใหญ่กับ “BSGR” ม.ค. 64 ส่วนบางปะอินต้องรอหลังปรับแบบยุติ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงโครงการก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M 6) ที่มีปัญหาการปรับแก้รูปแบบก่อสร้างบางตอน ว่า ในการปรับแบบจะต้องดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาลและตรวจสอบได้ โดยให้กรมทางหลวง (ทล.) เชิญอาจารย์จากสถาบันการศึกษาด้านวิศวกรรมเข้ามาเป็นคณะกรรมการในการตรวจสอบ ซึ่งจะสรุปผลได้ภายในกลางเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งเน้นว่าจะต้องดำเนินการตามระเบียบกฎหมาย

สำหรับสัญญาร่วมลงทุนการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) นั้น สายบางปะอิน-นครราชสีมาจะต้องรอให้การปรับแบบชัดเจนก่อน ดังนั้น คาดว่าจะสามารถลงนามสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M 81) ได้ก่อนในเดือน ม.ค. 2564 เนื่องจากการก่อสร้างงานโยธา 25 ตอนไม่ติดปัญหา

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า งานโยธามอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมามีทั้งหมด 40 สัญญา ขณะนี้ก่อสร้างเสร็จแล้ว 20 สัญญา กำลังก่อสร้าง 20 สัญญา ซึ่งมี 17 สัญญาที่จะต้องปรับแก้แบบ โดยคณะกรรมการกลาง ซึ่งมีผู้แทนจากสถาบันการศึกษา 12 แห่ง และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และสภาวิศวกร รวม 14 หน่วยงาน ร่วมตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสมในการปรับแบบ และค่างานที่เพิ่ม โดยจะสรุปและเสนอกระทรวงคมนาคมได้กลางเดือน ธ.ค.เพื่อพิจารณาและเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

เมื่อปี 2562 ทล.ได้เคยเสนอสำนักงบประมาณขอปรับเพิ่มค่างาน 17 สัญญาประมาณ 6,800 ล้านบาท แต่ล่าสุดคาดว่าจะเหลือประมาณ 5,000 ล้านบาท เนื่องจากมีการทบทวนปรับลดแบบและทำเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งแม้จะมีค่างานเพิ่มขึ้นแต่ยังอยู่ในกรอบวงเงินค่าก่อสร้างที่ได้รับอนุมัติที่ 77,970 ล้านบาท โดยหลังประมูลมีเงินเหลือจากกรอบอีก 10,000 ล้านบาท

สาเหตุที่ต้องปรับแบบคือ 1. สภาพภูมิประเทศพื้นที่ในวันเริ่มงานเปลี่ยนไปจากการออกแบบครั้งแรก (ออกแบบเมื่อปี 2555) 2. สภาพกายภาพทางธรณีวิทยาไม่เหมาะกับแบบที่ออกไว้เดิม เช่น เห็นเป็นชั้นหินแต่เมื่อเวนคืนได้เข้าพื้นที่สำรวจกลับพบเป็นชั้นดินอ่อนหรือหินผุ จึงต้องปรับแบบส่วนฐานรากใหม่

3. มีข้อจำกัดในการก่อสร้างผ่านพื้นที่หน่วยงานอื่น เช่น ผ่านคลองกรมชลประทาน ต้องปรับระยะความยาว ความสูงของสะพานไปตามที่กรมชลฯ กำหนด หรือช่วงผ่านเรือนจำกลางคลองไผ่ต้องเพิ่มกำแพงครอบ 4. การเยียวยาประชาชน เช่น ทำทางลอด ทำ service Road ทำทางคู่ขนาน เป็นต้น

สำหรับการลงนามสัญญางาน O&M กับกลุ่ม BGSR (บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS / บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF / บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH นั้น อัยการสูงสุดได้ตรวจเอกสารแนบท้ายร่างสัญญาเสร็จเรียบร้อย โดยอยู่ระหว่างหารือกับกลุ่ม BGSR ในการส่งมอบพื้นที่ ซึ่งการปรับแบบ 17 สัญญาของสายบางปะอิน-นครราชสีมานั้นไม่มีผลกระทบต่องาน O&M เนื่องจากไม่อยู่ในเฟสแรกที่จะมีการออก NTP โดยคาดว่าจะลงนามสัญญา O&M ได้ใน มี.ค. 64 ปัจจุบันงานโยธาสายบางปะอิน-นครราชสีมาคืบหน้ากว่า 90% คาดหลังลงนามสัญญา 1 เดือนจะออก NTP ได้ โดยมีพื้นที่พร้อมส่งมอบให้ติดตั้งระบบ 20 สัญญา และพื้นที่ก่อสร้างอาคารอีก 9 ด่าน ได้เจรจาเร่งรัดติดตั้งระบบให้เสร็จใน 2-2 ปีครึ่ง คาดว่าจะเปิดวิ่งทดลองระบบได้ปลายปี 2565

ส่วนสายบางใหญ่-กาญจนบุรีมี 25 สัญญา ขณะนี้ก่อสร้างเสร็จแล้ว 3 สัญญา งานโยธามีผลงานรวม 40% คาดว่าหลังลงนามสัญญา O&M จะออก NTP เริ่มงานได้ใน เม.ย. 2564 และเปิดวิ่งทดสอบระบบในปี 2566
กำลังโหลดความคิดเห็น