xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องหลังความปังธุรกิจออนไลน์เกาหลีใต้ พนง.ส่งของงานหนักเสี่ยงตายรายได้ต่ำ-ผู้ประกอบการกำไรอื้อ

เผยแพร่:


ธุรกิจออนไลน์ในเกาหลีใต้ที่บูมจัดในช่วงโควิดและช่องโหว่ทางกฎหมาย ส่งผลให้พนักงานส่งของต้องทำงานหนักมากจนบางคนเสียชีวิตหรือฆ่าตัวตาย
ไวรัสโคโรนาทำให้ธุรกิจออนไลน์ในเกาหลีใต้บูมอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน กระทั่งนโยบาย โครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยีตามไม่ทัน การเติบโตของธุรกิจนี้ประกอบกับช่องโหว่ทางกฎหมายทำให้พนักงานส่งของต้องทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ ไม่มีค่าแรงขั้นต่ำ โอที และส่วนใหญ่ไม่มีประกันคุ้มครองการบาดเจ็บ ผลสุดท้ายคือบางคนเสียชีวิตจากการทำงานหรือเลือกปลิดชีพตัวเอง

สิทธิแรงงานในเกาหลีใต้ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมามีพัฒนาการอย่างมาก แต่ไม่ใช่สำหรับคนงานส่งของ

จอง ซัง-ร็อก วัย 51 ปี พนักงานสัญญาจ้างที่ส่งพัสดุให้ฮันจิน ทรานสปอร์เตชัน 1 ใน 2 บริษัทจัดส่งสินค้าและพัสดุรายใหญ่ของเกาหลีใต้ บอกว่า สมดุลชีวิตกับการทำงานเป็นคนละโลกกับคนทำงานอย่างเขา

ปริมาณการจัดส่งพัสดุในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นปีละ 12% นับจากปี 2004 จากการเติบโตของการช้อปปิ้งออนไลน์ ก่อนที่จะพุ่งขึ้นถึง 23% ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงตุลาคมปีนี้ซึ่งเป็นช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก

บริษัทจัดส่งพัสดุรายใหญ่ฟันกำไรอย่างงาม เช่น ซีเจ ลอจิสติกส์ มีกำไรจากการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้เพิ่มขึ้น 21% ส่วนฮันจินมีกำไรเพิ่ม 35% โดยสองบริษัทนี้ครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันราว 64%

ขณะเดียวกัน พนักงานส่งของส่วนใหญ่จากทั้งหมด 54,000 คนในเกาหลีใต้ได้รับการว่าจ้างภายใต้สัญญาแบบจ้างเหมาช่วงซึ่งไม่มีความคุ้มครองและสวัสดิการแบบพนักงานปกติ

พนักงานและเจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานบอกว่า ช่องโหว่ทางกฎหมายทำให้พนักงานเหล่านั้นถูกบีบให้ต้องทำงานในเงื่อนไขและชั่วโมงการทำงานที่ไม่ยั่งยืนซึ่งเป็นสาเหตุให้หลายคนต้องสังเวยชีวิต

นักเคลื่อนไหวด้านแรงงานขานรับว่า ปีนี้มีพนักงานส่งของ 14 คนเสียชีวิต ซึ่งครอบครัวของคนเหล่านั้นบอกว่า เป็นเพราะระบบที่กดดันให้ต้องทำงานยาวนานแบบไม่มีเหตุผลเพื่อให้มีรายได้พอยังชีพ

หนึ่งในเหยื่อเหล่านั้นคือ คิม วอน-จองที่มีอาการหายใจลำบากระหว่างทำงาน พ่อของคิมที่ไปร่วมเดินขบวนเรียกร้องสิทธิ์คนงานเมื่อเดือนที่แล้วบอกว่า ลูกชายทำงานวันละ 14 ชั่วโมงโดยไม่มีเวลาพักกินข้าว

ซอ ฮยอง-วุก เป็นพนักงานส่งของอีกคนที่เจ็บหน้าอกและหายใจลำบากขณะทำงานก่อนเสียชีวิตจากหัวใจล้มเหลวในเวลาต่อมา น้องสาวของเขาโทษว่า เป็นเพราะงานมีความกดดันสูง

เจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานคนหนึ่งเสริมว่า พนักงานส่งของอีกคนฆ่าตัวตายโดยทิ้งโน้ตระบายความอัดอั้นจากงานที่หนักหนาสาหัส

จอง พนักงานส่งพัสดุของฮันจิน บอกว่า พวกเขาทำงานเพื่อให้มีชีวิตรอด ไม่ใช่เพื่อตาย แต่ปีนี้มีพนักงานส่งของเสียชีวิตกว่า 10 คน

ทั้งนี้ พนักงานเต็มเวลาในเกาหลีใต้ ประเทศเศรษฐกิจอันดับ 4 ของเอเชีย มีการจำกัดชั่วโมงทำงาน นอกจากนั้นยังมีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งและวันหยุด แต่สำหรับพนักงานส่งของและแรงงานอื่นๆ ที่ได้รับการว่าจ้างภายใต้สัญญาแบบจ้างเหมาช่วงถูกตีความเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ จึงไม่มีค่าแรงขั้นต่ำ ค่าล่วงเวลา และส่วนใหญ่ไม่มีประกันคุ้มครองการบาดเจ็บจากการทำงาน

พนักงานเหล่านี้มีอยู่ถึง 2.2 ล้านคน หรือ 8% ของแรงงานทั้งหมดในเกาหลีใต้

ขณะที่บริษัทลอจิสติกส์ไม่ได้ว่าจ้างพนักงานส่งของเอง แต่ใช้วิธีเอาต์ซอร์สให้เอเจนต์เพื่อลดต้นทุน

ยุน ซุง-กู พนักงานส่งของที่ตอนนี้เปลี่ยนมาทำอาชีพตัวแทนให้ซีเจ ลอจิสติกส์ บอกว่า ช่วงหลายปีมานี้บริษัทลอจิสติกส์เริ่มลงทุนในอุปกรณ์ต่างๆ เช่น อุปกรณ์คัดแยกพัสดุ แต่พนักงานส่งของยังต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำเหมือนเดิม

ยกตัวอย่างเช่น จองที่เริ่มงานตั้งแต่ 7 โมงเช้า และต้องใช้เวลาอยู่ที่สายพานลำเลียงเพื่อคัดแยกพัสดุถึง 5 ชั่วโมงโดยไม่ได้ค่าแรงในส่วนนี้ จากนั้นจองจึงขนของขึ้นรถบรรทุกที่เขารับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองโดยไม่ได้กินข้าวกลางวันและออกไปส่งของจนหมดเมื่อราว 3 ทุ่ม

หลังจากนั้น จองจึงกลับบ้านพร้อมค่าตอบแทนราว 2,200 ดอลลาร์ หรือเท่ากับค่าตอบแทนเฉลี่ยที่พนักงานส่งของเกาหลีใต้ได้รับ เพียงแต่ว่าพนักงานเหล่านั้นต้องทำงานสัปดาห์ละ 71.3 ชั่วโมงด้วยค่าแรงรายชั่วโมงน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำ แถมทำงานนานกว่าคำจำกัดความของคำว่า “การทำงานหนักเกินไป” ถึงราว 10 ชั่วโมง ทั้งนี้ จากการสำรวจของกลุ่มสิทธิแรงงาน เซ็นเตอร์ ฟอร์ เวิร์กเกอร์ส เฮลธ์ แอนด์ เซฟตี้ที่จัดทำขึ้นในเดือนกันยายน

เจ้าหน้าที่แรงงานและนักเคลื่อนไหวชี้ว่า การแข่งขันระหว่างบริษัทจัดส่งพัสดุหมายความว่า ค่าแรงที่บริษัทเหล่านี้ยินดีจ่าย ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 0.72 ดอลลาร์ต่อพัสดุหนึ่งชิ้น ถูกกดไปด้วย

ภายหลังกระแสไม่พอใจของสังคมจากการตายของพนักงานส่งของหลายคนเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้บรรดาบริษัทลอจิสติกส์รายใหญ่ออกมาขอโทษและแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต รวมถึงให้สัญญาว่า จะลดปริมาณงานลง

โฆษกของฮันจินแถลงว่า จะจัดให้พนักงานส่งของตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปีและเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่คัดแยกสินค้าในเดือนนี้ และซีเจประกาศแผนการคล้ายกัน

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแรงงานตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลคิดแต่อยากเป็นมิตรและไม่ต้องการเพิ่มภาระให้ภาคธุรกิจ จึงละเลยที่จะช่วยแรงงานสัญญาจ้าง

เมื่อเร็วๆ นี้ ลี แจ-คัป รัฐมนตรีแรงงาน แสดงความเห็นว่า เนื่องจากนโยบาย โครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยีตามไม่ทันการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจการจัดส่งสินค้าและพัสดุ ส่งผลให้พนักงานส่งของต้องสังเวยการเติบโตดังกล่าวด้วยการทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ พร้อมรับปากว่า จะหาทางแก้ปัญหานี้

คิม ซัง-ยอง พนักงานส่งของของฮันจิน บอกว่า ไม่หวังอะไรมาก เพราะถึงเป็นงานหนัก แต่ก็ต้องอดทนเพราะคงไม่มีใครกล้าลาออกท่ามกลางวิกฤตการจ้างงานที่อัตราว่างงานพุ่งทำสถิติในขณะนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น