xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นโค้งสุดท้ายปี 63 อ่วม! การเมือง-โควิดทุบดัชนีทรุด

เผยแพร่:



ประเมินภาพรวมทิศทางตลาดหุ้นไทยไตรมาสสุดท้ายปี 2563 หลังตั้งแต่ต้นปีติดลบ 342 จุด ต่างชาติหอบเงินออก 2.78 แสนล้านบาท กูรูเห็นพ้องหุ้นขนาดกลาง – เล็ก ยังน่าลงทุนกว่า ส่วนหุ้นใหญ่ยังไม่ถึงรอบฟื้นตัว พร้อมคาดผลประกอบการไตรมาส 3 บจ. และปัญหาการเมือง รวมถึง โควิด รอบสอง จะกดดันให้หุ้นไทยปรับตัวลงอีก ส่วนทั้งปีหลายฝ่ายเห็นพ้องเต็มที่ทำได้แค่ 1,300 จุด

ปิดท้ายไตรมาส 3/63 พบว่านับตั้งแต่ต้นปีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 กดดันให้ดัชนีตลาดหุ้นไทย ปรับตัวลดลงไปแล้วถึง 342.80 จุด หรือ -21.79% ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสะสมไปแล้ว 2.78 แสนล้านบาท โดยนักลงทุนทั่วไปซื้อสะสมถึงระดับ 2.08 แสนล้านบาท รองลงมาคือกลุ่มสถาบัน สะสม 6.74 หมื่นล้านบาท และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) 2.3 พันล้านบาท

ขณะที่ไตรมาสสุดท้ายปีนี้ ตลาดหุ้นไทย ยังต้องเผชิญแรงกกดันจาก โควิด-19 ที่หลายประเทศเริ่มระบาดระลอกสอง รวมถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมาร์ ที่อาจส่งผลลามมาถึงประเทศไทย รวมไปถึงสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ และภาวะเศรษฐกิจทรุดตัวทั่วโลกที่กำลังเกิดขึ้น ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าปัจจัยต่างๆเหล่านี้อาจกดดันตลาดหุ้นไทยในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ อยู่ในทิศทางขาลงมากกว่าขาขึ้น โดยเฉพาะการไร้แรงสนับสนุนเข้ามาพยุงจากเม็ดเงินจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่เคยมีมาต่อเนื่องในช่วงปลายปี แต่หลังจากสิ้นสุดสิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้ว ทำให้สภาวะตอนนี้ดัชนีหุ้นไทยขาดแรงสนับสนุน

“อภิชาต ผู้บรรเจิดกุล” ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล. ทิสโก้ จำกัด แสดงความเห็นว่า เดือนกันยายนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวหลุดระดับ 1,250 จุด ทำให้ มองว่าเป็นจังหวะทยอยสะสมเพื่อการลงทุน เพราะถูกกดดันจากความกังวลเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวช้า หลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศขาดช่วง และเกิดการแพร่ระบาด โควิด-19 ระลอก 2 ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป จนนำไปสู่การใช้มาตรการล็อกดาวน์ครั้งใหม่ ประกอบกับปัญหาการเมืองในประเทศส่อแววยืดเยื้อ หลังการประชุมรัฐสภาร่วมในช่วงปลายเดือนที่แล้ว อีกทั้งยังไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใดเลย จึงสร้างความกังวลต่อเนื่องเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาที่น่าจะถูกยกระดับขึ้นอีกทำให้การลงทุนในไตรมาส 4/2563 คาดว่าตลาดหุ้นไทยยังถูกกดดันต่อเนื่องจากหลายปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ โดยปัจจัยต่างประเทศ โมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว โดยเฉพาะตัวเลขรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของสหภาพยุโรปที่พลิกกลับมาต่ำกว่าระดับ 50 จุด ในเดือนกันยายน บ่งชี้ภาวะหดตัวอีกครั้ง ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯรอบใหม่ คาดจะมีความล่าช้าต่อเนื่องจนกว่าจะทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ไปแล้ว

สำหรับหุ้นที่น่าลงทุนในเดือนตุลาคมจึงเน้นหุ้นขนาดเล็กที่คาดงบไตรมาส 3/63 ออกมาดีและฐานกำไรปี 2564 จะกลับมาเติบโตสูงกว่าช่วงก่อน โควิด-19 โดยแนะนำ BGC, PRM, SEAFCO, SMPC, SYNEX และ TPIPL ด้านแนวรับสำคัญเดือนนี้อยู่ที่ 1,200-1,220 จุด แนวต้านสำคัญอยู่ที่ 1,270 จุด และแนวต้านถัดไปที่ 1,295-1,300 จุด ตามลำดับ

ส่วนการลงทุนระยะกลาง (3-6 เดือนข้างหน้า) ยังแนะนำหาจังหวะสะสมช่วงอ่อนตัว โดยควรเบนเข้าสู่หุ้นขนาดใหญ่และกลางมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของไตรมาส เพราะจะกลับมาเป็นเป้าเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าในระยะถัดไป ทำให้หุ้นเด่นน่าสะสมแนะนำ AEONTS, AOT, BAM, BDMS, BEM, CPALL, KTC, MTC และ WHA

“ณัฐชาต เมฆมาสิน” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวถึงทิศทางการลงทุนเดือนตุลาคมว่า โดยภาพรวมมองกรอบการแกว่งตัวของดัชนีที่ 1,190-1,270 จุด อิงค่า P/E Forward ระหว่าง 15.7-16.8 เท่า ภายใต้สมมติฐานอัตรากำไรสุทธิของตลาด (EPS) จะไม่ถูกปรับลดลงอีกอย่างสำคัญ จึงประเมินดัชนีตลาดหุ้นในเดือนนี้จะมีความผันผวนรุนแรงขึ้น จากกรณีที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ (ตลท.) กลับมาใช้เกณฑ์ปกติในการชอร์ตเซลหุ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม63

นอกจากนี้ ดัชนียังเตรียมเจอบททดสอบจากการเข้าสู่ช่วงของการประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 ซึ่งประเมินว่ามีโอกาสสร้างความผิดหวังให้กับตลาดได้ ทั้งในแง่ของงบไตรมาส 3 เอง และแนวโน้มกำไรปี 2564 ที่นักวิเคราะห์อาจต้องมีการปรับลดลง ซึ่งจะนำมาสู่การปรับลดประมาณการ EPS ของตลาดครั้งใหม่ได้ นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการหมดอายุมาตรการพักชำระหนี้ของธนาคารแห่งประทศไทย (ธปท.) ซึ่งอาจเป็นการสร้างภาระให้กับผู้ประกอบการรวมไปถึงประชาชนในประเทศมากยิ่งขึ้นได้

ส่วนปัจจัยภายนอก คาดว่าตลาดหุ้นทั่วโลกจะเข้าสู่ช่วงของการแกว่งตัวผันผวนมากขึ้น เมื่อเข้าใกล้กับช่วงของการเลือกตั้งปธน.สหรัฐฯ ในวันที่ 3 พฤศจิกายน เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งที่ผลลัพธ์นั้นยังประเมินได้ยาก ทำให้ประเมินว่ากลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่อาจเป็นเป้าหมายของการถูกชอร์ตเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และการบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากเป็นกลุ่มหุ้นที่มีแนวโน้มผลประกอบการในระยะสั้นน่าผิดหวัง แถมยังซื้อขายด้วย Valuation ในระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม โรงแรม สนามบิน ค้าปลีก สื่อสาร เป็นต้น ล่าสุดตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือนสิงหาคมพบว่าโมเมนตัมของการฟื้นตัวเริ่มอ่อนแรงลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคภายในประเทศ ที่หดตัวมากขึ้น หลังผ่านพ้นจุดสูงสุดของ Pent Up Demand ไปแล้วในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ดังนั้น การเลือกลงทุนในหุ้นขนาดกลางและเล็กยังคงเป็นทางเลือกที่ดีในภาวะปัจจุบัน เนื่องจากมีปัจจัยหนุนหลายด้าน ทั้งจากValuation ที่อยู่ในระดับสมเหตุสมผล อัตราการเติบโตของกำไรที่จูงใจ โมเมนตัมการปรับประมาณกำไรที่แข็งแกร่ง และสภาพคล่องของนักลงทุนทั่วไปที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานตัวเลขฐานเงินอย่างกว้างประจำเดือนสิงหาคมพบเติบโตสูงในระดับ 10.6% มองเป็นปัจจัยหนุนระดับการมีส่วนร่วมของนักลงทุนทั่วไป ซึ่งถือเป็นอานิสงส์ทางอ้อมต่อหุ้นขนาดกลางเล็กต่อไป

"หาก SET Index ยังลงไปไม่ถึงระดับ 1,200 จุดหรือต่ำกว่า หุ้นขนาดกลาง-เล็กจะยังคงปรับตัว Outperform ตลาดได้ต่อไป ดังนั้น จึงเลือกหุ้นที่อยู่นอกเหนือดัชนี SET50 ทั้งหมด และต้องเป็นหุ้นที่ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมามีการถูกปรับประมาณการขึ้น ขณะเดียวกันมี P/E Forward ปีหน้ายังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง และเป็นหุ้นที่มีการเติบโตของกำไรเฉลี่ยในช่วงปีนี้และปีหน้าเป็นบวก ซึ่งหากใช้เกณฑ์ทั้ง 3 ดังกล่าว จะพบว่ามีหุ้นใน Consensus ที่ผ่านเกณฑ์อยู่ทั้งหมด 10 ตัวด้วยกัน ได้แก่ ASIAN, CHAYO, ICHI, ILINK, JMART, PRM, PTG, STGT, UTP, WICE"

“สุกิจ อุดมศิริกุล” กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล. ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิดเผยว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 มองว่า หุ้นที่มีแนวโน้มน่าลงทุนต้องเป็น Defensive กลุ่มอาหาร กลุ่มธุรกิจค้าปลีก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความปลอดภัยในเชิงการลงทุนระยะยาว กลุ่มโรงไฟฟ้า เป็นกลุ่มที่มีความมั่นคงปลอดภัยในเชิงรายได้และมีเงินปันผล อย่างไรก็ตาม คาดว่าปี 2563ดัชนีหุ้นไทยจะอยู่ที่ประมาณ 1,300 จุด และในปี 2564 ดัชนีหุ้นไทยจะอยู่ที่ประมาณ 1,400 จุด

“ตลาดหุ้นเป็นเรื่องของความเชื่อมั่น ซึ่งปัจจุบันความเชื่อมั่นจากนักลงทุนหายไป เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 รอบสองรวมถึงความไม่มั่นใจในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังจากนี้มองว่าต้องสร้างความเชื่อมั่นกันใหม่ อย่างไรก็ตามในปีนี้คาดว่าดัชนีหุ้นจะอยู่ที่ประมาณ 1,300 จุด”

ส่วนเดือนตุลาคมนี้กลุ่มหุ้นที่มีแนวโน้มลงจะเป็นในกลุ่มหุ้นใหญ่ เช่น กลุ่มพลังงาน กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มธนาคาร ซึ่งกลุ่มธนาคาร จะทราบถึงผลหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL ในช่วงวันที่ 22 ตุลาคมนี้จึงเป็นช่วงสร้างแรงกดดันให้กับหุ้นธนาคาร โดยมีความกังวลในเรื่อง NPL อย่างไรก็ตามหากมองในภาพรวมเศรษฐกิจ และสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลถึงกลุ่มพลังงาน ซึ่งเกี่ยวเนื่องถึงกลุ่มธุรกิจการบินที่ทำการบินได้น้อยลงและยังส่งผลกระทบถึงการใช้น้ำมัน และราคาน้ำมันปรับตัวลดลง

ทำให้คาดว่า  ดัชนีหุ้นไทยในเดือนตุลาคมจะปรับตัวลดลง โดยเชื่อว่าจะอยู่ที่ระดับ 1,250 จุด ถึงจะเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจในการเข้าซื้อ ทำให้ราคาหุ้นขนาดใหญ่มีราคาที่สมเหตุสมผล นอกจากนี้ ภายหลังจากเดือนตุลาคมยังต้องยอมรับว่าอาจจะมีแรงกดดันและความกังวลจาก NPL ในส่วนของไตรมาส 4 แต่หุ้นจะมีการฟื้นตัวมากยิ่งขึ้นจากระดับที่ต่ำกว่า 1,300 จุดและสามารถกลับขึ้นไปที่ระดับที่ 1,300 จุดได้

อย่างไรก็ตาม บล. ไอร่า จำกัด คาดว่า ตลาดอาจได้รับจิตวิทยาเชิงบวกต่อประเด็นรัฐบาลเตรียมถกการตั้งกองทุนพยุงหุ้นไทยกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้บ้าง ซึ่งจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อดูรายละเอียดอีกครั้ง รวมทั้งยังมีมุมมองเชิงบวกต่อการทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน คาดว่าการกลับมาใช้เกณฑ์ชอร์ตเซลปกติ (Zero Plus Tick) คาดจะทำให้มูลค่าการชอร์ตเซลกลับมาสูงขึ้น และส่งผลตลาดหุ้นไทยผันผวนมากขึ้น คาดจะกดดันหุ้นขนาดใหญ่อ่อนตัวลงยังเป็นปัจจัยจำกัดอัพไซด์การฟื้นตัวของตลาดได้อยู่

“สมบัติ นราวุฒิชัย” เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน แถลงผลการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนต่อมุมมองในด้านการลงทุนและคาดการณ์ทิศทางดัชนีราคาหุ้นไทยไตรมาส 4 ปี 2563 ว่า มีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด 22 บริษัท แบ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) จำนวน 16 บริษัท บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จำนวน 5 บริษัท และบริษัทโกลด์ ฟิวส์เจอร์ส 1 บริษัท สรุปว่า สมมุติฐานด้านตัวเลขเศรษฐกิจ หรือจีดีพีปีนี้ มีค่าเฉลี่ยขยายตัว -7.81% ส่วนปีหน้าจะกลับมาเป็นบวก เติบโต 3.91%

โดยช่วงครึ่งหลังปี 2563 มีปัจจัยบวกต่อดัชนีหุ้น ได้แก่ มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของประเทศสำคัญทั่วโลก คิดเป็น 68.18% ของผู้ตอบแบบสำรวจ รองลงมา 54.55% คาดว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่วนปัจจัยที่ส่งผลด้านลบในไตรมาส 4 ปีนี้ ได้แก่ ปัจจัยการเมืองในประเทศ คิดเป็น 100% รองลงมา 70% คือปัจจัยด้านการเมืองต่างประเทศ, สถานการณ์โควิด-19 เศรษฐกิจภายในประเทศ และเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าตลาดทุนไทย คิดเป็น 68.18%

ขณะที่ส่วนข้อเสนอแนะต่อภาครัฐควรเร่งนโยบายเรื่องใดที่มีผลบวกต่อภาวะเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่เสนอให้ ใช้นโยบายการคลัง โดยเฉพาะการช่วยเหลือประชาชนให้มีกำลังซื้อ มากถึง 60% ของผู้ตอบ ได้แก่ ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ช่วยเหลือผู้ว่างงาน และกระตุ้นการบริโภคผ่านโครงการช้อปช่วยชาติ ฯลฯ และ 35% เสนอให้เร่งโครงการลงทุนภาครัฐ มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศเพื่อกระตุ้นการจ้างงาน ช่วยเหลือภาคธุรกิจ

สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นักวิเคราะห์ 81% คาดการณ์ว่าคงที่ในไตรมาส 4 ปีนี้ มีเพียง 19% คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลด 0.25% ขณะที่ดัชนีหุ้นในช่วงกรกฎาคมถึงสิ้นปีนี้ ดัชนีเฉลี่ยที่ 1,347 จุด โดยมีผู้ตอบ 70.59% คาดว่าดัชนีจะทำจุดสูงสุด 1,301-1,400 จุด และ 23.53% คาดว่าจุดสูงสุดจะอยู่ในช่วง 1,201-1,300 ส่วนคาดการณ์จุดต่ำ เฉลี่ยที่ 1,198 จุด และปรับเป้าคาดการณ์ดัชนีสิ้นปีนี้ใหม่ ค่าเฉลี่ยที่ 1,300 จุด น้อยกว่าผลสำรวจช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 1,383 จุด

ทำให้แนะนำการจัดพอร์ตลงทุนให้ กระจายความเสี่ยง ลงทุนหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ ทองคำ กองทุนอสังหา (REIT) โดยหุ้นในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม และสายการบิน ยังต้องหลีกเลี่ยงการลงทุน

 “สมบัติ นราวุฒิชัย” เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน

 “ณัฐชาต เมฆมาสิน” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ทรีนีตี้ จำกัด

“สุกิจ อุดมศิริกุล” กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล. ไทยพาณิชย์ (SCBS)

  “อภิชาต ผู้บรรเจิดกุล” ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล. ทิสโก้ จำกัด
กำลังโหลดความคิดเห็น