xs
xsm
sm
md
lg

กก.วัตถุอันตรายมีมติ 20 ต่อ 4 เดินหน้าแบน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” ต่อไป

เผยแพร่:



“สุริยะ” เผยที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติ 20 เสียงต่อ 4 เสียง ไม่ทบทวนการแบน 2 สารอันตราย ยังคงยึดมติเดิมให้ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ไปแล้ว ย้ำที่ผ่านมามีเหตุผลรองรับเพียงพอถึงอันตรายต่อสุขภาพ


นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อ 28 มิ.ย. ว่าที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้ยังคงมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2563 คงเดิมที่ได้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2563 ซึ่งกำหนดให้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามมิให้มีการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ส่วนไกลโฟเซตให้จำกัดการใช้ตามมติ 23 พ.ค. 2561 ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมาการพิจารณาได้มีเหตุผลรองรับอยู่แล้วถึงความอันตรายต่อสุขภาพ ประกอบกับหลายประเทศก็มีการแบนสารดังกล่าว

“ที่ประชุมได้นำข้อเสนอจากบุคคลและกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่ขอให้ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมาย และขอให้ทบทวนมติที่ให้ยกเลิกการใช้พาราควอต รวมทั้งมีผู้ส่งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบและแนวทางลดผลกระทบ ที่ประชุมได้มีการอภิปรายให้ความเห็นอย่างกว้างขวางจึงได้ลงมติอย่างเปิดเผยจากคณะกรรมการฯที่มาประชุม 24 ท่านจากทั้งหมด 27 ท่าน โดยมี 4 ท่านเห็นว่าควรมีการทบทวนมติเดิม แต่ 20 ท่านไม่เห็นด้วยที่จะทบทวน ที่ประชุมจึงมีมติโดยเสียงส่วนใหญ่ว่าไม่ควรจะทบทวน เพราะส่วนหนึ่งเพิ่งมีผลบังคับ 1 มิ.ย.และมีการฟ้องคดีอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครอง จึงเห็นควรมอบหมายกรมวิชาการเกษตร และกระทรวงสาธารณสุข นำข้อมูลและข้อสังเกตจากคณะกรรมการไปพิจารณาดำเนินการและรายงานคณะกรรมการต่อไป” นายสุริยะกล่าว

ส่วนการหาสารทดแทนกรมวิชาการเกษตรจะไปเร่งดำเนินการประกาศสารที่จะมาทดแทนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสซึ่งขณะนี้ยังไม่มีสารที่มาทดแทนโดยตรง แต่ใช้เป็นสารทางเลือกที่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม หากมีผู้มาร้องเรียนให้ทบทวนอีกในลักษระเป็นประเด็นเดียวกันนี้ก็จะไม่มีการนำมาสู่การพิจารณาอีกถือว่าได้เป็นมติไปแล้ว

นายอภัย สุทธิสังข์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สารที่จะมาทดแทน 2 สารที่ถูกแบนขณะนี้ยังไม่มี และยอมรับว่าทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่จะหาวิธีการในการควบคุมศัตรูพืชและลดต้นทุนการผลิต เช่น รวมกลุ่มเกษตรกรรายย่อยทำเกษตรแปลงใหญ่เพื่อใช้เครื่องจักร และรวมถึงการร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในการทำตลาดเกษตรปลอดสารเคมี หรือเกษตรอินทรีย์ เพื่อที่จะยกระดับราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น เป็นต้น

“ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตวัตถุอันตรายที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับผิดชอบ (GMP) เพื่อตรวจตรารับรอง สินค้าเกษตรที่มีสารปนเปื้อน เกี่ยวกับการขาดแคลนที่ใช้เป็นวัตถุดิบแปรรูป โดยเฉพาะข้าวสาลี และถั่วเหลือง ที่มีค่ากำหนด สอดคล้องกับสหภาพยุโรป (EU) โดยยึดหลักความปลอดภัยและสวัสดิภาพผู้บริโภคและความเท่าเทียมระหว่างผู้ผลิตและผู้นำเข้าอาหาร ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิ.ย. 2564” นายอภัยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น