xs
xsm
sm
md
lg

เปิดสูตร 7 ข้อ “แกรมมี่” ลุยคอนเสิร์ต On Ground นิวนอร์มัล

เผยแพร่:



การตลาด - “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” ดิ้นสู้โควิด-19 หลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ชู 7 ปัจจัยหลัก เตรียมลุยคอนเสิร์ตออนกราวนด์แบบนิวนอร์มัล มั่นใจมาตรการเอาอยู่ พร้อมโชว์แนวทางให้ ศบค.เรียนรู้การตลาด 

ธุรกิจอีเวนต์ โดยเฉพาะคอนเสิร์ต ต้องยอมรับว่าเป็นอีกธุรกิจที่เหมือนถูกแช่แข็งไว้ ในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาดอย่างหนักในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เพราะมาตรการสำคัญประการหนึ่งคือ การที่ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม ทำให้คอนเสิร์ตต้องสะดุดจัดไม่ได้ไปโดยปริยาย
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิดในเมืองไทยเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น มีการผ่อนปรนมาหลายเฟสเพื่อเปิดทางให้ธุรกิจต่างๆ สามารถกลับมาเปิดบริการได้เหมือนเดิม ซึ่งธุรกิจอีเวนต์จัดคอนเสิร์ตก็เป็นธุรกิจที่เฝ้ารอคอยอย่างใจจดใจจ่อที่จะกลับมาฟื้นจัดใหม่ได้อีกครั้ง

โดยเฉพาะค่ายใหญ่ที่มีธุรกิจหลักเกี่ยวกับเพลง คอนเสิร์ต หวังที่จะกลับมาจัดให้ได้เร็ววัน


ปัจจุบันสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้หลายๆ ธุรกิจเริ่มกลับมาดำเนินงานตามปกติ เช่นเดียวกับ GMM Showbiz ซึ่งช่วงที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างดีมาโดยตลอด

ด้วยการหยุดและเลื่อนการจัดคอนเสิร์ตทุกรูปแบบออกไป แม้ว่าจะต้องได้รับความเสียหายบ้างก็ตามในเชิงธุรกิจแต่ก็เป็นความจำเป็นที่เลี่ยงไม่ได้ และเพื่อรอคอยความชัดเจนในมาตรการ รวมถึงความพร้อมของทุกภาคส่วน

ขณะนี้ GMM Showbiz ได้เตรียมแนวทางปฏิบัติและป้องกันสำหรับคอนเสิร์ตที่จะจัดขึ้นอย่างเต็มที่ ตั้งแต่ก่อนงาน ระหว่างการจัดงาน และหลังการจัดงาน เพื่อความพร้อมด้านสุขอนามัยที่สูงที่สุด งานที่สนุกที่สุด และมีความปลอดภัยที่มากที่สุด อีกทั้งยังสอดคล้องและเป็นไปตามแนวทางที่ ศบค.ได้กำหนด โดยทางบริษัทฯ ได้เข้าเสนอแผนและร่วมหารือเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในมาตรการที่จัดเตรียมไว้อย่างเต็มที่เพื่อการกลับมารับชมคอนเสิร์ตในรูปแบบ On Ground ที่เป็นตัวอย่างของความถูกต้อง


เพราะก่อนหน้านี้ไม่นานก็มีข่าวในทางไม่ดีเกี่ยวกับคอนเสิร์ตแห่งหนึ่งของผู้จัดรายอื่น ที่จัดขึ้นมาแล้วไม่มีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 ที่ดีพอ ไม่มีการรักษาระยะห่าง ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก

นายภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ถ้าพูดถึงการจัด Showbiz ของ GMM Grammy เรามั่นใจว่าธุรกิจการจัดคอนเสิร์ตในรูปแบบ On Ground Concert ยังสามารถเดินหน้าได้”

สิ่งที่ภาวิตเชื่อมั่นนี้เพราะว่าเมื่อทุกฝ่ายมีความพร้อม บริษัทฯ ก็พร้อม เราให้ความใส่ใจเป็นพิเศษในการจัดคอนเสิร์ตในเรื่องการบริหารการจัดการด้าน Hygienic Environment มันคงไม่ใช่แค่เรื่องการใส่หน้ากาก การทำความสะอาดมือ แต่ยังเป็นการนำ Process ที่มีมาตรฐานใหม่ในการควบคุมความเสี่ยงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งก่อนโชว์ ระหว่างโชว์ และหลังโชว์เสร็จสิ้น ทั้งยังได้นำ Technology เข้ามาเป็นหนึ่งปัจจัยในการประมวลความหนาแน่นและการปฏิสัมพันธ์ของผู้ชม

“ทุกคอนเสิร์ต ทุกเฟสติวัลยังคงอยู่ในแผนงานทั้งหมดตามที่ได้ทำการเลื่อนออกไป ที่สำคัญทีมงานทุกคนทุกฝ่ายยังคงทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้ประชาชนเกิดความพึงพอใจอันสูงสุดกับมาตรการที่เราคำนึงถึงสุขภาพและความสุขของประชาชนเป็นตัวตั้ง”


แต่การกลับมารุกจัดคอนเสิร์ตจากนี้ไปคงต้องมีการเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบเดิมๆ อย่างสิ้นเชิงแล้ว ภายใต้นิวนอร์มัล

นายภาวิตกล่าวว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป หรือที่เรียกว่า Behavior Disruption ซึ่งเห็นได้ว่าหลายๆ ธุรกิจที่ลำบากล้วนมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปทั้งนั้น ต่างจากธุรกิจการจัดคอนเสิร์ตที่ผู้บริโภคยังมีความต้องการที่จะชมคอนเสิร์ต On Ground อยู่เป็นจำนวนมาก เพราะในช่วงเวลาหยุดพักการจัด เราได้มีการติดต่อสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายตลอดเวลา

จากผลการวิจัยเราพบถึง 2 ข้อบ่งชี้หลัก คือกว่า 89% ของแฟนคลับมีความพร้อมและรอคอยการกลับมาของคอนเสิร์ต On Ground และผู้บริโภคเองก็มีความพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะ New Normal ที่อาจไม่เป็นเหมือนเดิม ดังนั้น ทิศทางต่อไปของ GMM Showbiz ในฐานะผู้จัดงานรายใหญ่ของไทย จึงต้องวางแนวทางที่รัดกุมและเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับทุกสถานการณ์เพื่อให้ธุรกิจยังเดินหน้าควบคู่ความปลอดภัย 

สำหรับเหตุผลที่ทำให้ GMM Showbiz มีความพร้อมมากในการจัดคอนเสิร์ต เพราะการหยุดจัดงานที่ผ่านมาคือการหยุดเพื่อเดินหน้า เพื่อทำให้เรามีเวลาเตรียมงานและหาทางออกมากกว่าเดิม เราคาดการณ์ไว้บ้างว่าหากมีการผ่อนปรนให้จัด ก็ต้องทำการจัดแบบมีการควบคุมความหนาแน่น วันนี้จึงเป็นวันที่เรามีความพร้อมอย่างที่สุด


*** ชู 7 ปัจจัยหลัก มั่นใจ
ทั้งนี้ GMM Showbiz ชู 7 ปัจจัยหลักที่มั่นใจว่าการจัดคอนเสิร์ตแบบออนกราวนด์ยังมีโอกาสกลับมาแจ้งเกิดได้อีกครั้งแน่นอนในเร็วๆ นี้ ประกอบด้วย

1. มาตรการที่มีความพร้อม ทั้งก่อนแสดง, ขณะแสดง และหลังแสดง ด้วยหลัก 5 ส. สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น สะอาด, สวมหน้ากาก, สงวนระยะ, สอดส่อง และสื่อสาร

2. เงินลงทุนเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้เราเป็น Showbiz Provider ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด

3. ความมั่นใจของ Sponsor ในขณะที่เราเลื่อนการจัดคอนเสิร์ตออกไป เรายังคงให้ความมั่นใจกับ Sponsor ถึงคุณภาพ มาตรการ และปริมาณงานที่เหมาะสมต่อการทำธุรกิจการค้าร่วมกันถึงจะไม่ 100% เท่าเดิม แต่สามารถเดินหน้าได้ทุกฝ่าย

4. ความพร้อมของ Fan Club เราหยุดจัดคอนเสิร์ต แต่เรายังคงเดินหน้าสร้างความผูกพันกับแฟนคลับตลอดช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาอย่างแนบแน่น ทั้งนี้ หลังการทำ Research เราพบว่ามีผู้ตอบแบบสอบถามมากที่สุดในประวัติศาสตร์ถึง 15,000 คน โดยผลลัพธ์ที่ออกมาเป็น Positive ในการอยากมาซื้อบัตรคอนเสิร์ตของ GMM Showbiz ถึง 89%

5. หารือร่วมกับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของสถานการณ์โควิด-19 GMM Showbiz ได้ให้ความสำคัญในความร่วมมือกับภาครัฐอย่างต่อเนื่องด้วยดีเสมอมา ด้วยการหยุดจัดคอนเสิร์ตทุกรูปแบบ อีกทั้งยังนำเสนอมาตรการ แนวทางปฏิบัติ เกี่ยวกับมาตรการป้องกันสถานการณ์โควิด-19 ในการจัดคอนเสิร์ต ก่อนที่จะเดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรม

ก่อนหน้านี้บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) โดย นายภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) และคณะผู้บริหาร ร่วมประชุมกับ พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะประธานคณะทำงานกลั่นกรองกิจการและกิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เพื่อหารือและนำเสนอมาตรการป้องกันสถานการณ์โควิด-19 ในการจัดคอนเสิร์ต

6. การทำจากเล็กไปใหญ่ GMM Showbiz ต้องการสร้างมาตรฐานและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ ผู้จัดและทีมงานยินดีให้ภาครัฐเข้ามาร่วมรับชมและตรวจสอบ เพราะเป้าหมายอันสูงสุดคือการให้อุตสาหกรรมและคนในอุตสาหกรรมเดินไปข้างหน้าได้อย่างมีเสถียรภาพ โดยทางบริษัทจะเริ่มจัดจาก Scale พันสองร้อยคนไล่ขึ้นไปจนถึงระดับหมื่นคน

7. การลงทุนใน Big Data & Technology ที่ทันสมัยเพื่อนำมาใช้ในการจัดคอนเสิร์ตในอนาคต สำหรับเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถทราบข้อมูลของผู้ชม ช่วยลดการสัมผัสที่จะเกิดขึ้น และสามารถติดตามการเคลื่อนไหวของผู้ชมภายในงาน ซึ่ง 2 เทคโนโลยีที่ GMM Showbiz จะนำมาใช้ ประกอบไปด้วย
- SMART SEATING คือ ระบบการลงทะเบียนสามารถระบุการนั่งของผู้ชมที่สามารถระบุตำแหน่งได้เป็นรายบุคคล และกำหนดลำดับความหนาแน่นในการเข้าและออก
- RFID TRACKING SOLUTION คือ RFID WRISTBAND ที่พัฒนาเพิ่มให้สามารถระบุความหนาแน่นของพื้นที่ได้แบบ Real time และสามารถติดตามการเคลื่อนไหวของผู้ชมรายบุคคลตามโซนต่างๆด้วย RFID READER ที่ติดทั่วงาน


*** มาตรการ 5 ส. คุมเข้มโควิด-19
หัวเรี่ยวหัวแรงหลักอีกคนในจีเอ็มเอ็มที่ดูแลเรื่องคอนเสิร์ตนี้คือ นายยุทธนา บุญอ้อม รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส หน่วยงาน GMM Showbiz บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับเรื่องที่รัฐบาลเป็นห่วงที่สุด คงเป็นเรื่องการยืนรอบริเวณหน้างานที่มีพื้นที่จำกัด ด้วยเหตุนี้ GMM Showbiz จึงได้ทำการปรับรูปแบบการเข้าและออกงานโดยแบ่งเป็นรอบๆ และนั่งตามจุดที่กำหนดไว้ที่ได้ทำการแบ่งระยะเอาไว้แล้ว ระหว่างที่อยู่ในนั้นต้องสวมใส่หน้ากากตลอดเวลา ลุกไปเข้าห้องน้ำ หรือมีการจับกลุ่มเราก็มีเจ้าหน้าที่เข้าไปแยกเพื่อให้ทุกอย่างถูกหลักสุขอนามัยและความปลอดภัยของส่วนรวม

มาตรการป้องกันสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ที่ GMM Showbiz ได้นำมาใช้ โดยยึดหลัก 5 ส. สำคัญ ดังนี้
1. สะอาด คือ สถานที่สะอาด อากาศสะอาด มือสะอาด ทิ้งสะอาด ปลอดภัย และอุปกรณ์สะอาด
2. สวมหน้ากาก ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยในการเข้าพื้นที่ และจะต้องใส่อุปกรณ์ดังกล่าวในพื้นที่ตลอดเวลา ทั้งผู้ชมและทีมงาน
3. สงวนระยะ คือ จำกัดจำนวนคนเข้าพื้นที่ทั้งทีมงานและผู้ชม เพื่อเว้นระยะห่างในแต่ละพื้นที่ ลดความแออัด ทั้งพื้นที่ทำงาน พื้นที่ชมคอนเสิร์ต พื้นที่พักส่วนกลางทีมงาน และห้องน้ำ
4. สอดส่อง คือ การสอดส่องผู้เข้าพื้นที่ ด้วยการสแกนผ่านไทยชนะและบัตรประชาชน พร้อมวัดอุณหภูมิก่อนเข้าพื้นที่ และสวมหน้ากากตลอดเวลา รวมทั้งการเว้นระยะห่างในพื้นที่จัดงาน
5. สื่อสาร คือ การสื่อสารล่วงหน้าผ่านช่องทางออนไลน์เกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ของ GMM Showbiz มีการทำป้ายสื่อสารการปฏิบัติตนในจุดสำคัญต่างๆ มีเจ้าหน้าที่สื่อสารที่จุดตรวจคัดกรองเพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ที่สำคัญบริเวณหน้างานจะมีพิธีกรสื่อสารในการบอกข้อมูลต่างๆ และมีชิ้นงานสื่อสารการปฏิบัติตนเปิดภายในพื้นที่ชมคอนเสิร์ตระหว่างรอคอนเสิร์ตเริ่ม


แม้ว่าด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้ใครหลายคนเกิดความสงสัยในมาตรฐานการดูแลผู้ชมในการจัดคอนเสิร์ต วันนี้ GMM Showbiz ได้เตรียมความพร้อมทุกรูปแบบเพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่าคอนเสิร์ตและเฟสติวัลที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ทุกความสนุกยังคงเหมือนเดิม แต่มีความปลอดภัยมากกว่าเดิม เพราะไม่ว่าอย่างไรเสน่ห์ของการแสดงสดบนเวทีก็ยังยากที่จะมีอะไรมาแทนที่ได้ และตราบใดที่เรายังมีศิลปินดีๆ อยู่ คอนเสิร์ตต่างๆ ก็ยังคงต้องมีต่อไป เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ทางดนตรีที่หาไม่ได้จากที่ไหนหากไม่ได้มาสัมผัสด้วยตนเอง

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้จีเอ็มเอ็มแกรมมี่เผยว่ามีคอนเสิร์ตที่ตามแผนงานเดิมที่จะเล่นแบบออนกราวนด์หลายงาน เช่น คอนเสิร์ต “ไมโคร จำฝังใจ คอนเสิร์ต” วันที่ 5-6 กันยายนนี้ และคอนเสิร์ต “ระริกระรี้ กระดี่คอนเสิร์ต” อัสนี-วสันต์ ในวันที่ 12 กันยายนนี้

*** จับตาแผนงานลุย
แผนงานของจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ที่วางไว้ในช่วงต้นปีก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาดอย่างรุนแรงนั้นมีหลายงาน รวมทั้งการจัดมิวสิกเฟสติวัลทั่วประเทศไทยด้วย

ธุรกิจจีเอ็มเอ็ม โชว์บิซ (GMM Showbiz) ถือเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้สำคัญส่วนหนึ่งให้กับจีเอ็มเอ็มแกรมมี่หมือนกันจากรายได้รวม โดยเมื่อปี 2562 ธุรกิจกลุ่ม Showbiz นี้มีการเติบโตอย่างดี โดยมีการจัดงานมากกว่า 30 งานต่อปีทีเดียว

ส่วนปี 2563 นี้ตามแผนเดิมก็จะจัดเพิ่มขึ้นมากกว่า 40 งาน โดยจะแบ่งเป็น คอนเสิร์ตแบบไซส์เล็ก (มีผู้ชมเข้าร่วมไม่เกิน 2,000 คน) ซึ่งงานแบบนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จาก 12 งาน เป็น 24 งาน เพราะได้รับความนิยมและการตอบรับอย่างดี ทั้งจากผู้ร่วมงาน และสปอนเซอร์ที่สนับสนุน ขณะที่คอนเสิร์ตแบบไซส์ใหญ่ (มีผู้ชมเข้าร่วม 1-2 หมื่นคน) และใหญ่พิเศษ (มีผู้ชมมากกว่า 2 หมื่นคน) ก็มีโอกาสที่จะเพิ่มปริมาณงานขึ้นอีกเช่นกัน

โดยกลุ่มมิวสิค เฟสติวัล ปี 2563 นี้จะมี 5 งาน และขยายไปจัดทั่วประเทศไทย ปัจจุบันมีการเปิดมิวสิก เฟสติวัลไปแล้วทั้ง Big Mountain จ.สระบุรี Rock Mountain จ.เพชรบูรณ์ และเชียงใหญ่เฟส จ.เชียงใหม่ ภูมิภาคต่อไปที่จะได้เห็นคือภาคใต้

นอกจากนี้ ในปี 2563 นี้ยังจะมีการจัดคอนเสิร์ตเดี่ยวเฉพาะศิลปินประมาณ 4 งาน รวมถึงธุรกิจ Theme Concert 2 งาน

สำหรับโครงสร้างรายได้หลักของจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ในปัจจุบัน แบ่งออกได้เป็น 6 กลุ่มหลัก คือ 1. กลุ่มธุรกิจสปอนเซอร์ชิปและการบริหารศิลปิน (Sponsorship & Artist Management) เช่น งานอีเวนต์ งานโฆษณา สัดส่วนรายได้ 35%, 2. กลุ่มธุรกิจเพลงดิจิทัล (Digital Music) สัดส่วนรายได้ 28%, 3. กลุ่มธุรกิจโชว์บิซ (Showbiz) สัดส่วนรายได้ 13%, 4. กลุ่มธุรกิจบริหารลิขสิทธิ์ สัดส่วนรายได้ 8%, 5. กลุ่มธุรกิจการค้า (Trading) เช่น จำหน่ายแผ่นซีดี ดีวีดี ฯลฯ สัดส่วนรายได้ 7% และ 6. กลุ่มธุรกิจอื่นๆ สัดส่วนรายได้ 9%

ปี 2562 รายได้จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ทำได้มากถึง 4,000 ล้านบาท เป็นครั้งแรกในรอบสิบปี มีการเติบโตถึง 7% จากปี 2561 และสามารถทำกำไรสุทธิได้ถึง 472 ล้านบาท เติบโตถึง 13.2%

สาเหตุหลักที่เติบโตดีเป็นเพราะ 3 ปัจจัยหลัก คือ
1. กลุ่มธุรกิจ Digital Music ทำรายได้ 1,123 ล้านบาท เติบโต 31% เป็นครั้งแรกที่รายได้จากการสตรีมมิ่งเพลงสูงเกิน 1,000 ล้านบาท ส่งผลให้เป็นเสาหลักใหม่ที่สามารถทดแทนรายได้จากการขายแผ่นได้จริง
2. กลุ่มธุรกิจ Showbiz ทำรายได้ 524 ล้านบาท เติบโต 36%
3.กลุ่มธุรกิจ Publishing หรือบริหารลิขสิทธิ์เพลง ทำรายได้ 313 ล้านบาท เติบโต 25%
การวางแผนเพื่อจะกลับมาสู่คอนเสิร์ตออนกราวนด์อีกครั้งในรูปแบบนิวนอร์มัลของจีเอ็มเอ็มจึงน่าติดตาม แม้ว่าปีนี้รายได้อาจจะไม่หวือหวาก็ตาม แต่ก็เป็นเพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่เล่นงานภาพรวมเศรษฐกิจอย่างรุนแรงนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น