xs
xsm
sm
md
lg

กกร.เตรียมจ้างทีมศึกษาเจาะลึก CPTPP ลุ้นไทยเข้าร่วมเจรจาปี 64 อีกรอบ

เผยแพร่:



ส.อ.ท.เผย “กกร.” เตรียมว่าจ้างทีมศึกษาวิเคราะห์ลงลึกการเข้าร่วม CPTPP ของไทยให้มากขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลประกอบให้รัฐบาลได้ตัดสินใจเดินหน้าขอเข้าร่วมเจรจาอีกครั้งในปี 2564 หลังจากที่ไทยเข้าร่วมไม่ทันในปีนี้ ชี้ยิ่งช้ายิ่งสร้างโอกาสและความได้เปรียบให้เวียดนามด้านการค้าและการลงทุนมากขึ้น

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยว่า ภายในเดือนกันยายนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เตรียมว่าจ้างบริษัททีมที่ปรึกษามาวิเคราะห์ถึงข้อดีและข้อเสียของไทยต่อการเข้าร่วมข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (CPTPP) ที่เป็นเชิงลึกแต่ละอุตสาหกรรมใหม่อีกครั้ง เพื่อให้ได้ข้อสรุปในการนำเสนอรัฐบาลเพื่อตัดสินใจการเข้าร่วมเจรจาในปี 2564 หลังจากที่ไทยไม่สามารถเข้าร่วมเจรจาได้ทันในปีนี้

“กกร.ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อดูแลเรื่องนี้มาแล้วก่อนหน้า และเตรียมที่จะว่าจ้างที่ปรึกษาให้เสร็จภายในเดือนหน้าในการศึกษาเชิงลึกการเข้าร่วมเจรจา CPTPP ซึ่งที่ผ่านมาบางอุตสาหกรรมอาจจะยังไม่มีข้อมูลที่ดีพอ ซึ่งปีนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ได้มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว จึงส่งผลให้ไทยยื่นขอเจรจาเพื่อเข้าร่วมข้อตกลงนี้ไม่ทันกำหนดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563 ซึ่งเป็นรอบของปีนี้ ดังนั้นก็คงจะต้องรอรอบรัฐบาลเห็นชอบและการประชุมในปีหน้าต่อไป” นายสุพันธุ์กล่าว

ทั้งนี้ ยืนยันว่าการที่ไทยขอเข้าร่วมเจรจานั้นไม่ได้หมายถึงการทำข้อตกลงแต่อย่างใด แต่การเข้าร่วมจะเป็นโอกาสให้ไทยได้รับรู้ความเคลื่อนไหว อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 การที่ไทยไม่ได้เข้าร่วมเจรจาปีนี้ก็ไม่ได้ทำให้ไทยเสียโอกาสมากนักในภาพรวมด้วยเพราะเศรษฐกิจทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบและชะลอตัว แต่ขณะเดียวกันหากไทยยิ่งช้าเมื่อเทียบกับเวียดนามที่มีระบบการค้าและลงทุนที่มาแรงเพราะมีข้อตกลงทั้ง FTA กับอียู และ CPTPP ก็ทำให้เป็นการสร้างโอกาสและความได้เปรียบให้เวียดนามมากยิ่งขึ้น

แหล่งข่าวจาก กกร.กล่าวว่า กรณี CPTPP นั้น คณะทำงาน กกร.ได้เคยจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นผ่านการประชุมร่วมกับภาครัฐและภาคประชาสังคม ซึ่งยอมรับว่าภาคส่วนต่างๆ ยังมีความเห็นที่ต่างกันแต่ภาคเอกชนส่วนใหญ่สนับสนุนให้เข้าไปเจรจาก่อน แต่ภาคประชาสังคมเห็นว่าเวลาที่เข้าไปเจรจาจะเกิดผลกระทบขึ้นหากไม่เข้าร่วมภายหลัง และการเจรจาแม้จะมีข้อดีต่อการค้าและการลงทุนที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นชัดเจนแต่ยังมีประเด็นข้อกังวลกรณีการเข้าถึงยาของประชาชน ผลกระทบต่อวิถีการใช้เมล็ดพันธุ์พืชของเกษตรกร การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เป็นต้น

“เอกชนเองเมื่อเข้าร่วม CPTPP หลายอุตสาหกรรมก็มีทั้งบวกทั้งลบ จึงจำเป็นต้องศึกษาอย่างละเอียดอีกครั้งเพื่อให้เกิดข้อมูลที่ลงลึกและสร้างความเชื่อมั่นต่อทุกภาคส่วน” แหล่งข่าวกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น