xs
xsm
sm
md
lg

ตกงานพุ่ง-สังคมสูงวัย โจทย์ใหญ่รอรัฐมนตรีแรงงานคนใหม่แก้ไข

เผยแพร่:



สภาองค์การนายจ้างฯ หวังทีมเศรษฐกิจใหม่จะให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานทั้งระยะสั้น กลาง ยาว เหตุเป็นโจทย์ใหญ่รอวันเร่งแก้ไข ทั้งแรงงานตกงานพุ่งจากพิษโควิด-19 ธุรกิจหันพึ่งเทคโนโลยีฉุดแรงงานอายุ 45 ปีขึ้นไปตกงานเพิ่ม ขณะที่ไทยก้าวสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ในปี 64-65 กดดันรายได้รัฐที่จัดเก็บจะลดต่ำลง แต่งบประมาณที่จะใช้ดูแลคนสูงวัยจะเพิ่มขึ้น 

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย)
เปิดเผยว่า โจทย์ปัญหาแรงงานในปัจจุบันและอนาคตนับเป็นความท้าทายของทีมเศรษฐกิจชุดใหม่โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เนื่องจากขณะนี้มีแรงงานตกงานประมาณ 3-3.3 ล้านคน และตลอดทั้งปีอาจนำไปสู่ตัวเลขระดับ 7-8 ล้านคนได้จากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ดังนั้น รัฐบาลควรดึงกระทรวงแรงงานให้เป็นกระทรวงเศรษฐกิจเพื่อบริหารงานเชิงรุกในการสร้างแรงงานใหม่ให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงหากลไกใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาแรงงาน

“กระทรวงแรงงานที่ผ่านมาถูกจัดเป็นกระทรวงด้านสังคม มากกว่าที่จะเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ ทำให้ขาดการทำงานแบบเชิงรุกต่อการพัฒนาแรงงาน ซึ่งเมื่อโลกเปลี่ยนไปจากโควิด-19 ที่จะเป็นตัวเร่งการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นจึงต้องคิดและทำในสิ่งใหม่ๆ และพื้นฐานสำคัญคือการจัดทำสถิติคนว่างงานที่ขณะนี้มีการจัดทำโดยไม่สอดรับกับข้อเท็จจริงเมื่อนำมาวางแผนจึงทำให้บริหารผิดพลาดได้สูง จึงเป็นสิ่งที่ควรเร่งแก้ไข” นายธนิตกล่าว

นอกจากนี้ ปัญหาด้านแรงงานจำเป็นต้องมองระยะสั้น กลาง และยาว ซึ่งขณะนี้ไทยไม่เพียงเผชิญกับแรงงานที่อาจจะตกงานจำนวนมากจากผลกระทบเศรษฐกิจโลกและไทยชะลอตัวจากโควิด-19 แล้ว ไทยยังกำลังนับถอยหลังสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged society) หรือสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมาก 20% ในปี 2564-65 โดยไทยจะมีผู้สูงวัยประมาณ 13.28 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 20% ของประชากรรวม และนับเป็นอันดับ 2 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์ และโควิด-19 ส่งผลให้ปัญหาแรงงานสูงวัยของไทยจะรุนแรงมากขึ้น

ทั้งนี้ หลังโควิด-19 (Post Covid-19) แรงงานที่มีอายุเฉลี่ย 45 ปีขึ้นไปไม่เพียงเผชิญความต้องการแรงงานที่ลดลง แต่ยังคงมาพร้อมกับการเป็นตัวเลือกให้ออกจากงานก่อนกำหนดเวลาจากการปรับตัวหันไปใช้เทคโนโลยีการผลิตเพื่อทดแทนแรงงานมากขึ้น โดยแรงงานเหล่านี้เมื่ออายุมากจะยิ่งกลายเป็นภาระในการดูแลของรัฐบาลผ่านมาตรการต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ขณะนี้อยู่ระดับกว่า 2 แสนล้านบาทและจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

“ก่อนโควิด-19 แรงงานอายุมากของไทยเผชิญกับการก้าวไปสู่ผู้สูงวัยที่ไม่อาจพึ่งพิงตนเองได้มากหรือแก่แล้วยังยากจน ต้องอาศัยเงินจากลูกหลานในการเลี้ยงชีพยามแก่ชราและพึ่งเงินจากภาครัฐ แต่หลังโควิด-19 แรงงานที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปโอกาสตกงานสูงทำให้การพึ่งพาตนเองยิ่งยากมากขึ้น จึงเป็นความท้าทายที่รัฐบาลจะต้องแก้โจทย์ให้ทันกับสถานการณ์ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในวันข้างหน้า เพราะยิ่งสังคมไทยสูงวัยไร้งานทำฐานภาษีในการเก็บรายได้น้อยแล้วภาระก็จะมีมากแล้วเราจะเอาเงินจากไหนมาดูแล” นายธนิตกล่าว

นอกจากนี้ แรงงานของไทยที่เข้าสู่สูงวัยมากขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านจะห่างจากประเทศในอาเซียนอย่างมากจะกดดันทำให้ผลิตภาพ หรือ Productivity ของไทยยิ่งต่ำ สินค้าไทยจะแพงขึ้นเพราะการปรับสู่เทคโนโลยีของไทยยังค่อนข้างล่าช้า ทำให้ระหว่างรอยต่อจะส่งผลให้ไทยต้องพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวในอัตราที่เพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะแรงงานภาคเกษตร เช่น แรงงานตัดอ้อย กรีดยาง ประมง เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น