xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เล็งใช้ระบบเทียบใบหน้าขอสินเชื่อ

เผยแพร่:



ธปท.ออกแนวปฏิบัติการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ (Biometric Technology) รองรับการใช้เทคโนโลยีการเปรียบเทียบใบหน้า (Facial recognition) มีแบงก์เข้าทดสอบ 10 ราย นอนแบงก์ 4 ราย เฟส 2 ทดลองข้ามแบงก์ 7 ราย เล็งเพิ่มธุรกรรมการขอสินเชื่อเพิ่มเติมจากการเปิดบัญชี

น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้ออกแนวปฏิบัติการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ (Biometric Technology) ในการให้บริการทางการเงินเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ให้บริการทางการเงินที่นำ Biometrics มาใช้ในการให้บริการทางการเงิน โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีการเปรียบเทียบใบหน้า (Facial recognition) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหลักที่มีการใช้งานในภาคการเงินในปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ใช้บริการมั่นใจว่าการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดังกล่าวมีความมั่นคงปลอดภัย สอดคล้องต่อกฎหมายและมาตรฐานสากล ซึ่งจะช่วยยกระดับการให้บริการทางการเงิน และก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ใช้บริการ

ปัจจุบัน มีธนาคารพาณิชย์ 10 ราย และนอนแบงก์ 4 รายทดสอบใช้เทคโนโลยีดังกล่าวแล้ว โดยมี 5 รายที่ขอออกจาก Sandbox แล้ว 5 ราย คือ ธนาคารกสิกรไทย กรุงศรีอยุธยา ทหารไทย ซีไอเอ็มบีไทย กรุงเทพ ซึ่งทั้ง 5 แห่งได้ดำเนินการเปิดให้ลูกค้าเปิดบัญชีได้แล้ว และเฟส 2 ที่ ธปท.ได้ทำการทดลองให้ธนาคารพาณิชย์ 7 แห่ง ทดลองการพิสูจน์และยืนยันตัวตนลูกค้าข้ามธนาคารผ่าน NDID ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาต่อยอดเพื่อความสะดวกและความแม่นยำให้แก่ลูกค้า

“ขณะนี้ธนาคารให้เปิดบัญชีโดยใช้ NDID เท่านั้น อนาคตจะมีการต่อยอดธุรกรรมอื่น เช่น การขอสินเชื่อ การเปิดบัญชีของบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งจะเป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าและมีความแม่นยำสูง”

แนวปฏิบัติดังกล่าวครอบคลุมหลักการที่ผู้ให้บริการทางการเงินพึงปฏิบัติ 6 ด้าน ได้แก่ 1) การกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ 2) การรวบรวมข้อมูลชีวมิติของผู้ใช้บริการอย่างมีคุณภาพ ปลอดภัย 3) การประมวลผลข้อมูลชีวมิติของผู้ใช้บริการอย่างแม่นยำ 4) การรักษาความปลอดภัยข้อมูลของผู้ใช้บริการอย่างเข้มงวดและรัดกุม ตามมาตรฐานสากล 5) การคุ้มครองผู้ใช้บริการและให้ความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกรรมด้วยเทคโนโลยีชีวมิติอย่างเหมาะสมเพียงพอ และ 6) การควบคุมความเสี่ยงด้านปฏิบัติการและรองรับการให้บริการอย่างต่อเนื่อง

สำหรับผู้ให้บริการทางการเงินที่ประสงค์จะนำ Biometrics ไปใช้ให้บริการทางการเงินจำเป็นต้องปฏิบัติตามแนวปฏิบัติดังกล่าวและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยต้องมีการทดสอบการใช้ Biometrics เพื่อเปรียบเทียบภาพกับแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ (Trusted Source) ภายใต้ Regulatory Sandbox ของ ธปท. ก่อนนำมาใช้จริง ทั้งนี้ หากผู้ให้บริการมีความประสงค์จะประยุกต์ใช้กับธุรกรรมทางการเงินประเภทอื่นๆ จะต้องมีการหารือกับ ธปท. ก่อนเปิดใช้บริการเพื่อความปลอดภัย
กำลังโหลดความคิดเห็น