xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจญี่ปุ่นรุดหารือ “สนธิรัตน์” สนลงทุนด้านพลังงานในไทยเพียบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ธุรกิจญี่ปุ่นยกทัพหารือ “สนธิรัตน์” ยืนยันพร้อมลงทุนในไทยต่อเนื่อง แย้มสนใจลงทุนในธุรกิจด้านพลังงานในไทย ทั้งการผลิตไฟฟ้า ปิโตรเลียม ซื้อขาย LNG

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ได้หารือกับ นายทาเคทานิ อัทสึชิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) พร้อมด้วยคณะผู้แทนหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) ซึ่งประกอบไปด้วยนักธุรกิจของประเทศญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยที่ได้เข้าพบและนำเสนอข้อมูลรายงานผลการสำรวจความคิดเห็นและแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ประจำครึ่งปีแรก พ.ศ. 2563 ให้กับกระทรวงพลังงานรับทราบ พร้อมหารือถึงแนวทางการลงทุนและแนวทางการดำเนินธุรกิจด้านพลังงานในประเทศไทย ซึ่งทางญี่ปุ่นแสดงความสนใจในธุรกิจหลายด้าน เช่น เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า ธุรกิจการผลิตปิโตรเลียม ตลาดการซื้อขายแลกเปลี่ยนก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG

“นักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจลงทุนด้านพลังงานในไทยหลายด้าน และได้แสดงความสนใจในนโยบายภาครัฐของไทยในการสนับสนุนธุรกิจด้านพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และเชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อผลิตไฟฟ้า และการสนับสนุนของภาครัฐในการผลักดันการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในภาคขนส่ง เป็นต้น” นายสนธิรัตน์กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้ยืนยันถึงการให้ความสำคัญต่อการลดการนำเข้าพลังงานฟอสซิลและการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงเพื่อผลิตพลังงานให้มีความหลากหลายและสมดุล รวมถึงการมุ่งเน้นการใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทนจากท้องถิ่น โดยผลักดันให้เกิด “โรงไฟฟ้าชุมชน” เช่น การผลิตก๊าซชีวภาพจากของเหลือใช้จากภาคการเกษตร การผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงชีวมวลจากไม้ไผ่ การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในระดับครัวเรือน เป็นต้น

ส่วนในด้านเชื้อเพลิงชีวภาพที่ฝ่ายญี่ปุ่นให้ความสนใจนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ให้ข้อมูลทิศทางการพัฒนาการใช้น้ำมันไบโอดีเซลและเอทานอลในภาคขนส่ง โดยกำหนดมาตรฐานสัดส่วนเชื้อเพลิงชีวภาพให้ใช้ B10 และ E20 เป็นเชื้อเพลิงหลัก นอกจากนั้น ประเทศไทยยังให้ความสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว โดยผลักดันกระบวนการประมูลแหล่งเชื้อเพลิงปิโตรเลียมให้ทันตามกำหนดเวลา การมุ่งไปสู่การเป็น LNG Hub ของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งเร่งการเจรจาเพื่อใช้ประโยชน์จากแหล่งปิโตรเลียมในเขตพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยมีการใช้ประโยชน์จากเชื้อเพลิงด้านพลังงานอย่างสมดุลและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ

สำหรับบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นให้ความสนใจเข้าร่วมการประชุมหลายบริษัท เช่น บริษัท มิตซูบิชิ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท มิตซุย (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท มารูเบนิ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ซูมิโตโม (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น โดยชี้ให้เห็นผลการสำรวจความคิดเห็นและแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยประจำครึ่งปีแรก พ.ศ. 2563 แม้ ค่าดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจปรับตัวลดลงเท่ากับ -69 ในช่วงครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2563 แต่คาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2563 จะมีการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ โดยค่าดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจน่าจะปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ -44 และยังยืนยันที่จะยังคงประกอบกิจการหรือขยายขนาดของธุรกิจในประเทศไทยต่อไป โดยบริษัทส่วนใหญ่ต้องการมาตรการส่งเสริมการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสาธารณูปโภค และการพัฒนาระบบพิธีการทางศุลกากรที่เอื้อต่อภาคธุรกิจมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น