xs
xsm
sm
md
lg

โควิด-19 ฉุดการใช้พลังงานโลกดิ่งสุดรอบ 70 ปี ก.พลังงานจ่อปรับแผนพีดีพีใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กระทรวงพลังงานเตรียมข้อมูลรอบด้านเกาะติดการใช้พลังงานหลังโควิด-19 กระทบยอดใช้พลังงานโลกหดตัวสูงสุดรอบ 70 ปี ขณะที่ไทยลดลงตามทั้งน้ำมัน ไฟฟ้า จ่อปรับแผนพลังงานใหม่หมด เล็งปรับพีดีพีฉบับใหม่ไตรมาส 4 ปีนี้นำร่อง

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน
เปิดเผยในงานสัมมนาทิศทางพลังงานประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด จัดโดยคณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ว่า ขณะนี้กระทรวงฯ อยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดถึงการใช้พลังงานภาพรวมในปี 2563 หลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้การใช้น้ำมันและไฟฟ้าลดลง โดยสำนักงานพลังงานสากล (EIA) ประเมินว่าการใช้พลังงานของโลกปี 2563 จะลดลงมากสุดในรอบ 70 ปี รวมถึงหากมีการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ก็อาจกระทบต่อการใช้ได้อีก ซึ่งเหล่านี้ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการปรับแผนพลังงานของประเทศเช่นกัน โดยเฉพาะแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศระยะยาว 20 ปีฉบับใหม่ (ร่าง PDP-2021) ที่อาจจะปรับในไตรมาส 4 ปีนี้

“ความเสี่ยงของการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ EIA ประเมินว่าการใช้น้ำมันจะยังไม่เข้าสู่สภาวะปกติในปีนี้ และการใช้ไฟฟ้าของโลกก็หดตัว 5% มากสุดตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจ 2473 ขณะที่ไทยลดลงหนักเช่นกัน ช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ของปีนี้ การใช้น้ำมันลดลง 13.4% ไฟฟ้าลดลง 3.8% ซึ่งต้องติดตามใกล้ชิดเพื่อปรับแผนพลังงานให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ทั้งการทบทวนแผนพีดีพีฉบับใหม่และอีก 4 แผนพลังงานหลักของประเทศในไตรมาส 1 ปี 2564" นายกุลิศกล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ดำเนินงานหลากหลายด้านเพื่อลดผลกระทบโควิด-19 เช่น การลดราคาเชื้อเพลิง การคืนเงินประกันไฟฟ้า การตรึงราคาก๊าซหุงต้ม การลดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงการเร่งรัดการลงทุนตามแผนพลังงานปี 63-65 รวม 1.1 ล้านบาทภายใต้โครงการพลังงานสร้างไทย เป็นต้น

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ และโฆษก กฟผ. กล่าวว่า การจะปรับแผนพีดีพีหรือไม่อย่างไรคงขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลเป็นสำคัญ ซึ่งตามหลักการแล้วการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงเพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ก็ย่อมต้องทำให้แผนการใช้พลังงานที่กำหนดไว้เปลี่ยนไป ซึ่งรวมไปถึงสำรองไฟฟ้าที่จะสูงขึ้นจึงต้องปรับแผนเพื่อบริหารจัดการโรงไฟฟ้า อาทิ การเลื่อนจ่ายไฟฟ้า

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า จากโควิด-19 ที่เกิดขึ้นส่งผลให้การใช้พลังงานภาพรวมลดลงแน่นอน โดยสะท้อนตามทิศทางเศรษฐกิจของปรระเทศ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของราคาพลังงานมีทิศทางปรับลดเช่นกันจากการบริโภคที่ลดต่ำโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และราคาก๊าซอ่าวไทย-พม่า ก็จะมีผลดีทำให้ราคาก๊าซเฉลี่ยที่จะนำไปสู่เชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าลดลงในรอบ 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้

นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ ปตท.ได้ดำเนินการจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในรูปแบบตลาดจร (Spot) หรือ Spot LNG แล้ว 7 ลำ ส่งมอบช่วง มี.ค.-ก.ค. 2563 ราคาเฉลี่ย 2.48 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนค่าก๊าซฯ ราว 2,600 ล้านบาท และลดค่าไฟฟ้าได้ราว 2,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น Ft ลดลง 1.04 สตางค์

ทั้งนี้ ปตท.คาดว่าจะดำเนินการนำเข้า LNG ในปีนี้ได้ตามแผนที่วางไว้ 11 ลำ คิดเป็นปริมาณ LNG ประมาณ 6.6-7.7 แสนตัน คาดว่าจะช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ 3,000 ล้านบาท แม้ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในปีนี้จะลดลง 3% จากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ติดลบ โดย ปตท.ได้มีการบริหารจัดการก๊าซฯ ในอ่าวไทยเพื่อไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay แล้วหันไปนำเข้า Spot LNG แทน โดย ปตท.ได้ประสานงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด ทั้งสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งปลายปีนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ มีแผนนำเข้า LNG มาป้อนโรงไฟฟ้าด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น