xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ตั้งทีม Quantum สร้าง synergy ปิโตรเคมี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ปตท.ตั้ง “กฤษณ์ อิ่มแสง” หัวหน้าทีม Quantum เพื่อศึกษาแนวทางการทำงานร่วมกันในกลุ่มปิโตรเคมีขั้นปลาย เพิ่มประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อน ด้านไออาร์พีซีจับมือทีมขายก๊าซฯ ปตท.หาช่องทางขายเม็ดพลาสติกทำทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ

นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า ปตท.ได้จัดตั้งทีม Quantum ขึ้น โดยมีนายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท.เป็นหัวหน้าทีมฯ เพื่อดูภาพรวมทั้งหมด และกำหนดศึกษาแนวทางการทำงานร่วมกัน (synergy) ในส่วนของธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลาย (Downstream) และกำหนดยุทธศาสตร์ (Strategic) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ไม่เกิดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน ลดต้นทุน และควบคุมค่าใช้จ่าย

โดย IRPC มีกำลังการผลิตแนฟทา ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการกลั่นราว 5 แสนตัน/ปีที่ปัจจุบันส่งออกนั้น เดิมบริษัทมีแผนลงทุนโครงการ Maximum Aromatics Project (MARS) ที่จะเพิ่มกำลังการผลิตพาราไซลีน 1.1-1.3 ล้านตันต่อปี แต่ต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดเนื่องจากธุรกิจที่ผันผวน ดังนั้นกลุ่ม Quantum จะพิจารณาโอกาสในการต่อยอด โดยร่วมกับบริษัทในกลุ่ม ปตท.เพื่อพัฒนาโครงการร่วมกัน เช่น ร่วมกับบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ที่มีแผนจะจัดทำโครงการ Beyond CFP เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ โดยศึกษาร่วมกันว่าจะต่อยอดกันอย่างไร พื้นที่ไหนเหมาะสม เป็นต้น

นอกจากนี้ IRPC ยังได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินอล จำกัด และ บริษัท ไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด เพื่อเพิ่มช่องทางในการขยายตลาด โดยพัฒนาระบบขนส่งน้ำมันทางท่อจากโรงกลั่นน้ำมัน IRPC ไปสู่ระบบขนส่งน้ำมันทางท่อของ Thappline เพื่อร่วมกันสร้างช่องทางขนส่งผลิตภัณฑ์น้ำมัน High Speed Diesel ตามมาตรฐาน Euro V และน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน (Jet A1) โดยที่บริษัทไม่ต้องลงทุนเอง แต่จะเป็นการจ้างบริการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมาร์จิ้นให้บริษัทหรือจะสร้างมูลค่าเพิ่มประมาณ 500-600 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม หากโครงการฯ ดังกล่าวสำเร็จบริษัทก็อาจจะจัดส่งน้ำมันผ่านทางเรือของพีทีที แทงค์ ได้ด้วยจากปัจจุบันมีการขนส่งผ่านเรือและรถขนส่งเท่านั้น ซึ่งจะทำให้การขนส่งน้ำมันในอนาคตมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ทำให้บริษัทมีช่องทางจำหน่ายน้ำมันในประเทศและรายได้ที่เพิ่มขึ้น เพราะผลิตดีเซลกำมะถันต่ำ ทดแทนการผลิตดีเซลกำมะถันสูงซึ่งมีสัดส่วน 50% ของกำลังผลิตและต้องส่งออกเป็นหลัก

บริษัทยังร่วมมือกับ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด เพื่อจัดทำโซลูชันให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมก๊าซฯ ควบคู่กับการขยายตลาดเม็ดพลาสติก HDPE ใช้ทำทุ่นลอยน้ำรองรับการติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำให้กลุ่มลูกค้าที่มีบ่อกักเก็บน้ำในพื้นที่ ซึ่งถ้าลูกค้าติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำจะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้า

ทั้งนี้ IRPC ได้ดำเนินโครงการโซลาร์ลอยน้ำในบ่อเก็บน้ำของ IRPC จ.ระยอง ที่มีอยู่ 5 บ่อ โดยดำเนินการติดตั้งไป 3 บ่อ คิดเป็นกำลังการผลิต 12.5 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 400 ล้านบาท และเปิดดำเนินการในช่วงเดือน มิ.ย. 63 ซึ่งขณะนี้มีลูกค้าทั้งในและต่างประเทศหลายรายมาติดต่อซื้อเม็ดพลาสติก HDPE เพื่อนำไปขึ้นรูปทำทุ่นลอยน้ำ

นอกจากนี้ ปตท.ยังมีแผนปรับโครงสร้างธุรกิจไฟฟ้า โดยให้บริษัทในเครือศึกษาความเป็นไปได้ที่จะร่วมส่งเสริมการดำเนินงานนั้น ทาง IRPC ก็มองโอกาสหากมีการลงทุนโครงการใหม่ก็จะพิจารณาร่วมทุนกับ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ในฐานะแกนนำธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. จากปัจจุบัน IRPC มีการผลิตไฟฟ้าเพื่อป้อนความต้องการใช้ของโรงงานอยู่ 300 เมกะวัตต์ และได้ร่วมกับ GPSC จัดตั้งบริษัทไออาร์พีซี คลีนพาวเวอร์ ผลิตไฟฟ้า 240 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 180-300 ตันต่อชั่วโมง
กำลังโหลดความคิดเห็น