xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นปรับ ครม.กระทบแผนกระตุ้น-ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 2 ล้านล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



โบรกเกอร์ประเมินสัญญาณปรับ ครม.แรงขึ้นหลัง 4 กุมารลาออก ส่งผลมี รมว.ไร้พรรคสังกัด กังวลหากปรับจริงกระทบต่อมาตรการกระตุ้น ศก.ที่ยังไม่ผ่าน ครม. ทั้งแผนกระตุ้น-ฟื้นฟู ศก.จากโควิด รวมทั้งเมกะโปรเจกต์ที่มีเม็ดเงินรวมกันเกือบ 2 ล้านล้านบาท

บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (ASPS) เปิดเผยผ่านบทวิเคราะห์รายวันว่า สถานการณ์การเมืองที่ร้อนแรงในขณะนี้อาจนำไปสู่การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากสัญญาณที่จะนำไปสู่การปรับ ครม.ปรากฏชัดเจนขึ้นตามลำดับ เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง รวมพลังประชาชาติไทย ซึ่งหัวหน้าพรรคที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค และล่าสุดรัฐมนตรี 3 ตำแหน่งของพรรคพลังประชารัฐ ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ

สถานะดังกล่าวก็เท่ากับว่ามีรัฐมนตรีว่าการถึง 4 กระทรวงที่ดำรงตำแหน่งอยู่โดยที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดๆ ส่งผลทำให้สมดุลเรื่องโควตารัฐมนตรีตามสัดส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในแต่ละพรรคการเมืองเปลี่ยนไป ซึ่งโดยธรรมชาติก็จะก่อให้เกิดแรงผลักดันเพื่อทำให้โควตารัฐมนตรีกลับสู่ภาวะสมดุล

คาดปรับ ครม.เร็วๆ นี้ เร่งเฟ้นหาทีมเศรษฐกิจใหม่


ด้วยกลไกดังกล่าวจึงเชื่อว่าการปรับ ครม.น่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนับจากนี้ นอกจากนี้ยังมีแรงผลักดันอีกส่วนหนึ่งในเรื่องการเดินหน้ามาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันถือเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และจำเป็นที่ต้องได้ทีมเศรษฐกิจที่มีความเข้มแข็งเข้ามาเป็นผู้ขับเคลื่อน

หากไม่ดำเนินการหาบุคลากรที่เหมาะสมเข้ามาดำเนินการโดยเร็ว ก็จะส่งผลทำให้แผนงานที่คั่งค้างอยู่ และการคิดหามาตรการใหม่ๆ ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงสำหรับเศรษฐกิจไทย รวมถึง Sentiment การลงทุนในตลาดหุ้นด้วย สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงเวลานี้จึงต้องจับตาใกล้ชิด

การเมืองเปลี่ยนแปลง กระทบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ


อย่างไรก็ดี จากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองข้างต้น ASPS ประเมินว่าอาจมีผลให้แรงผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่าย และการลงทุนภาครัฐลดลงได้ ภายหลังจากทั้ง 2 เป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ (แนวโน้มทั้ง การส่งออก, การท่องเที่ยว, การลงทุนเอกชน และการบริโภคเอกชน คาดชะลอตัวต่อจากผลกระทบจากไวรัส COVID-19

ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐที่ได้รับผลกระทบ หลักๆ คือ โครงการที่ยังไม่ผ่านการอนุมัติของ ครม. รวมเป็นเงินสูงถึง 1.9 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน พ.ร.ก. 1 ล้านล้าน : ยังมีงบประมาณที่ยังไม่ได้อนุมัติอีกราว 6.18 แสนล้านบาท (61.8% ของวงเงินรวม)

เยียวยาเศรษฐกิจ : มีงบประมาณที่ยังไม่ได้อนุมัติ 2.11 แสนล้านบาท

ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม : มีงบประมาณที่ยังไม่ได้อนุมัติ 3.62 แสนล้านบาท

ด้านสาธารณสุข วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท : ยังไม่มีการอนุมัติ เนื่องจากกันไว้ใช้ป้องกันโรคและวัคซีน

โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ : ตามแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ปี 2563 มีโครงการลงทุนที่รัฐตั้งเป้าไว้จำนวน 1.95 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นโครงการที่ ครม.อนุมัติแล้ว 1.2 ล้านล้านบาท เช่น รถไฟฟ้าสีส้มตะวันตก 1.09 แสนล้านบาท, รถไฟฟ้าสายสีม่วง 1.01 แสนล้านบาท เป็นต้น ส่วนโครงการที่ ครม.ยังไม่ได้อนุมัติมีอีกราว 7.52 แสนล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น