xs
xsm
sm
md
lg

พลิกวิกฤตช่างเสริมสวยช่วงโควิด“ทองหล่อ”แพลตฟอร์มส่งช่างถึงหน้าบ้าน ทำรายได้ต่อคนทะลุ 5 หมื่นบาทต่อเดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



นสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคโควิด และทุกคนต้องอยู่บ้าน เพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อโรค มีผู้ประกอบการที่ต้องปิดให้การบริการตั้งแต่ในช่วงแรก นั่นคือ ร้านเสริมสวย แต่คนเมืองหลวงหยุดสวย หยุดหล่อไม่ได้ เพราะบางคนก็ยังต้องออกไปทำงาน ทำให้สตาร์ทอัป ดาวเด่นของ สวทช. รายนี้ เจิดจรัสฉายแสงขึ้นมาทันที มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด 500%

ครั้งนี้ กำลังพูดถึง สตาร์ทอัป ชื่อว่า “ทองหล่อ” แพลตฟอร์มที่เปิดให้บริการตัดผมและเสริมสวยความงาม แบบครบวงจรนอกสถานที่ ที่บริหารงานโดย บริษัทคีย์ จำกัด และเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัปที่เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี 2562 หรือ SUCCESS 2019

นายธนาชัย ไหลศิริ CEO บริษัท คีย์ จำกัด หรือคุณทอม หนึ่งในผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มทองหล่อ



ทองหล่อแพลตฟอร์ม บริการเรียกช่างเสริมสวยถึงบ้าน โตจากวิกฤติโควิด-19


นายธนาชัย ไหลศิริ CEO บริษัท คีย์ จำกัด หรือคุณทอม หนึ่งในผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มทองหล่อ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยี ว่า Thonglor.co เป็นแพลตฟอร์มที่ทำการจับคู่ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางเสมือนตลาดให้ผู้สนใจขายมาวางสินค้าของตนเอง ด้วยการรวมช่างบริการเกี่ยวกับผมทั้งชายและหญิง ช่างแต่งหน้า ช่างทำเล็บ และอื่น ๆ ที่นำเสนอบริการให้ถึงที่บ้าน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาให้มีบริการครอบคลุมทุกหมวดหมู่ความงาม ที่ไม่ใช่เพียงโมเดลธุรกิจจับแพะชนแกะทั่วไป แต่จะมีการลงทะเบียนช่างผู้ให้บริการ อบรมช่าง วางมาตรฐาน ที่ทุกอย่างออกแบบโดยช่างซาลอนจริง ๆ ที่มีประสบการณ์จริง เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า โดยที่ผ่านมา เราได้เก็บฟีดแบคของลูกค้าที่รับบริการเพื่อนำมาพัฒนาอยู่ตลอดเวลา







“ด้วยจุดเด่นของแพลตฟอร์มทองหล่อที่เรามีช่างมืออาชีพออนไลน์อยู่กับเราตลอดเวลา ทำให้พร้อมที่จะนำเสนอบริการได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยจะมีการเก็บอ้างอิงเบื้องต้นก่อนจากลูกค้า เพื่อจับคู่ช่างที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าที่สุด ซึ่งจะมีขั้นตอนที่เข้มงวดในการลงทะเบียนช่างเพื่อให้ลูกค้าอุ่นใจในการรับบริการในสถานที่ของลูกค้าเอง อีกทั้งยังสามารถยืดหยุ่นในเรื่องเวลาค่อนข้างสูงเพื่อปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่มีความเร่งรีบและไม่แน่นอน ซึ่งช่างที่เป็นพาร์ทเนอร์เองจะมีความยืดหยุ่นด้วยเช่นกัน โดยเราจะป้อนงานช่างให้ตลอดเวลา ทำให้ช่างแต่ละคนสามารถจัดการตารางตัวเองได้ เพราะช่างที่เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์ม ของเราส่วนใหญ่ทำเป็นงานเสริมจากงานหลัก ในภาพใหญ่แพลตฟอร์มทองหล่อจะเป็นระบบแบบสองทาง ที่มีการเก็บข้อมูลจากลูกค้าทั้งก่อนและหลังรับบริการ และอีกส่วนคือ ข้อมูลของช่างทั้งก่อนและหลังให้บริการ รวมถึงคะแนนของช่างเพื่อให้ช่างรักษาระดับและพัฒนาตนเองตลอดเวลา เพื่อให้สมกับความตั้งใจที่จะเพิ่มมูลค่าและยกระดับการบริการช่างซาลอนให้มีคุณภาพ ซึ่งเราต้องการสร้าง “สังคมทองหล่อ” ให้มีชีวิต คงไว้ซึ่งภาวะการณ์แข่งขัน เพื่อให้มีคุณค่ายิ่งขึ้นไป โดยเชื่อว่า ลูกค้าจะได้รับประสบการณ์การบริการที่ดี และจะกลับมาใช้ซ้ำอย่างแน่นอน”







สำหรับในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 พบว่า แพลตฟอร์มทองหล่อที่เน้นการให้บริการถึงบ้านอยู่แล้ว ทำให้ผู้ใช้บริการไม่ต้องออกจากบ้าน สามารถจัดการเวลาได้ ‘ทองหล่อ’ ในช่วงวิกฤติโควิด-19 จึงมีความต้องการสูงมาก โดยอัตราการเติบโต (Growth rate) สูงถึง 500% และด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่การออกจากบ้าน คือ ความเสี่ยง ทางแพลตฟอร์มทองหล่อ จึงได้เพิ่มมาตรการพิเศษเพื่อให้ลูกค้าที่รับบริการมั่นใจว่าจะปลอดภัยโดยปราศจากความเสี่ยง เช่น การเพิ่มชุดให้รัดกุมขณะให้บริการ การฉีดพ่นเครื่องมือทุกครั้งทั้งก่อนและหลังการบริการ รวมถึงการให้ผู้ให้บริการใส่หน้ากากอนามัยหรือ Mask ตลอดเวลาที่ให้บริการ


ปัจจุบัน แพลตฟอร์ม ทองหล่อ มีช่างที่มาลงทะเบียนอยู่บนแพลตฟอร์มประมาณ 300 คน ในสถานการณ์ที่ไม่ใช่โควิด จะมีการเรียกใช้บริการประมาณ 30-40 ราย และในช่วงสถานการณ์โควิด มีผู้เรียกใช้บริการช่างไปให้บริการที่บ้านเต็ม 300 คน และบางคนมียอดจองเรียกไปใช้บริการมากถึง วันละ 6 แห่ง และด้วยช่างมีให้บริการเพียงแค่ 300 คน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าที่จองคิวเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้ทางทีมงานที่บริหารจัดการหลังบ้าน ต้องให้ลูกค้าจองคิวล่วงหน้าถึง 2 วัน






ทองหล่อ แพลตฟอร์ม โครงการ SUCCESS 2019 สามารถระดมทุน 10 ล้านบาท

ทั้งนี้ ทองหล่อ เป็นแพลตฟอร์ม ที่เข้าร่วมโครงการ SUCCESS 2019 ของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยบริษัทฯ ได้รับคำปรึกษาจากคณะอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ ธุรกิจของเราดำเนินไปอย่างถูกทิศทาง ได้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ทั้งในด้านการประชาสัมพันธ์ การจับมือกับพันธมิตร โอกาสได้พบปะกับนักลงทุน ได้โอกาสในการรับเงินทุนสนับสนุนเพื่อนำมาส่งเสริมด้านการตลาด อาทิ Startup Voucher ได้เข้าร่วมคอร์สอบรมเสริมความรู้ และพัฒนาศักยภาพในการบริหารธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญ คือ โอกาสในการสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของผู้ประกอบการธุรกิจ ในธุรกิจแพลตฟอร์มทองหล่อ จนเกิดร่วมทุนจากนักลงทุนในรูปแบบ Angel Fund เป็นเงินจำนวน 10 ล้านบาท

สำหรับแนวทางต่อยอดทางการตลาดหลังจากนี้ บริษัทจะเน้นไปที่การสื่อสารกับลูกค้าและช่างผู้ให้บริการที่เป็นพาร์ทเนอร์กับเราเป็นหลัก โดยจะสื่อการด้านการบริการว่า ทองหล่อ คืออะไร และแตกต่างกับร้านตัดผมธุรกิจซาลอนดั้งเดิมอย่างไร แพลตฟอร์มนี้จะเข้ามาแก้ปัญหาอย่างไร ทำไมต้องเป็น ‘ทองหล่อ’ รวมถึงช่างพาร์ทเนอร์ของเราเอง จะได้สื่อสารเรื่องวัฒนธรรมองค์กรและวิสัยทัศน์ของเรา เพื่อให้มีความเข้าใจทิศทางของ ‘ทองหล่อ’ มากขึ้น







นอกจากนี้ ทุนอีกส่วนเรามีแผนที่จะพัฒนาแอปพลิเคชันบนมือถือ เพื่อให้ใกล้ชิดกับลูกค้ามากยิ่งขึ้นโดยตั้งใจจะทำให้การบริการมีความง่ายและตอบโจทย์ที่สุด ซึ่งผู้สนใจใช้บริการสามารถใช้บริการผ่าน www.thonglor.co หรือช่องทางไลน์ OA (หรือไลน์ทางการ: Line official account) ที่ @ThongLor ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง

 “ช่างตี๋” “วันชัย วัฒนาเดชาพร” ร้านตี๋แฮร์ดีไซน์ ย่านออนนุช



ช่างจากแพลตฟอร์มทองหล่อ โกยรายได้คาดไม่ต่ำกว่าเดือนละ 5หมื่นบาท

ด้าน “ช่างตี๋” “วันชัย วัฒนาเดชาพร” ร้านตี๋แฮร์ดีไซน์ ย่านออนนุช เล่าว่า หลังจากได้เข้าร่วมทำงานกับแพลตฟอร์ม ทองหล่อ ช่วยแก้ปัญหา ลูกค้าที่ได้จองคิว และต้องมานั่งรอที่ร้านเป็นเวลานาน แต่พอมีการจองคิวกันผ่านแพลตฟอร์ม ทองหล่อช่วยในการวางแผนการทำงานของเราได้ดียิ่งขขึ้น สามารถให้บริการลูกค้าได้เต็มที่ โดยที่ลูกค้าไม่ต้องมานั่งรอนาน และที่สำคัญ คือ ไม่ต้องเอาเงินไปจ่ายค่าเช่าสถานที่แพง เพราะทำเลดีๆ ค่าเช่าสูงถึงหลักหลายหมื่นบาท

ทั้งนี้ รายได้ ที่ผ่านมามีลูกค้าเรียกใช้บริการไม่แน่นอน แต่จะมีลูกค้าเรียกใช้บริการทุกวันๆ ละ 3 ราย ถึง 6 ราย ไม่แน่นอน แต่ในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด มีลูกค้าเรียกใช้บริการเต็มทุกวันๆละ 6 ราย รายได้ต่อเดือน ตอนนี้ มากกว่า 50,000 บาท ค่าบริการผู้หญิงหัวละ 550 บาท และผู้ชาย 500 บาท รวมค่าเดินทางแล้ว การให้บริการอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

สำหรับแพลตฟอร์ม ทองหล่อ เกิดขึ้นมาจากการทำงานร่วมกัน ของ 3 หุ้นส่วนที่มองเห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจเสริมสวยในประเทศไทย ประกอบด้วย นายธนาชัย โหลศิริ CEO/Co-founder , นายธนกร ตั้งศูนย์ผลวิวัฒน์ CTO/Co-founder และ นายธนโชติ สวัสดิผลวิชัยโสกิต CMO/ Co-founder





นางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) สวทช.



สวทช.เดินหน้าบ่มเพาะสตาร์ทอัป แจ้งเกิดและอยู่รอดช่วงโควิด

ด้านนางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) สวทช. กล่าวว่า ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินโครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี (SUCCESS) เพื่อเป็นโครงการสำหรับผู้บริหารกิจการ เจ้าของธุรกิจเทคโนโลยี STARTUP ทั้งกิจการซอฟต์แวร์ ไอที เทคโนโลยีต่าง ๆ รวมถึงเทคโนโลยีนาโน เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีอื่น ๆ โดยดำเนินโครงการมาแล้วถึง 17 รุ่น


โดยโครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี ปี 2562 หรือ SUCESSS 2019 มีสมาชิกรวม 41 บริษัท แบ่งเป็น สมาชิกใหม่ 25 บริษัท และสมาชิกรุ่นต่อเนื่อง 16 บริษัท โดยรูปแบบของธุรกิจผู้ประกอบการและ Startup ในปีนี้ ส่วนใหญ่เป็นการให้บริการที่มีอยู่แล้วในรูปแบบออฟไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการขายของมือสอง ขายอาหาร ตัดผม ซึ่งได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเพิ่มเพื่อให้สะดวกต่อการให้บริการ และเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น เช่น Mombiestreet ตลาดขายของออนไลน์ แม่และเด็กมือสองแบรนด์ชั้นนำคุณภาพเยี่ยม, We Chef ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม We Chef Food Truck @PT station สำหรับผู้ที่ต้องการจองพื้นที่จอดเพื่อขายอาหารในปั้ม PT, Thonglor.co แพลตฟอร์มให้บริการตัดผมและเสริมความงามแบบครบวงจรถึงบ้านลูกค้า เป็นต้น







สนใจโทร. 09-1697-4536
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
www.facebook.com/SMEs.manager">

SMEs manager

กำลังโหลดความคิดเห็น