xs
xsm
sm
md
lg

เจอแล้ว! อีกทางออกหน้ากาก N95 ขาดแคลน “กระติกฆ่าเชื้อโควิด” ทำง่าย-ต้นทุนต่ำ

เผยแพร่:



อาจารย์สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น นำเสนอไอเดียทำกระติกฆ่าเชื้อโควิด-19 หน้ากากอนามัย N95 ให้บุคลากรทางการแพทย์นำไปใช้เพื่อลดปัญหาหน้ากากแพทย์พยาบาลขาดแคลน ด้วยหลักการง่ายๆ อุปกรณ์หาซื้อได้ไม่ยาก ต้นทุนผลิตก็ต่ำ

จากสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกในขณะนี้ ทำให้เกิดการขาดแคลนหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะในเมืองไทยหาซื้อยาก ประชาชนต้องหันไปใช้หน้ากากผ้าแทน เพื่อให้หน้ากากอนามัย N95 เพียงพอสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ อย่างไรก็ตาม ได้มีนักวิชาการนักวิจัยของไทยพยายามคิดค้นนวัตกรรมใหม่เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย

ล่าสุด ผศ.ดร.ศักดิ์ระวี ระวีกุล อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ได้นำเสนอแนวคิดการผลิต “กระติกฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19” หรือถังฆ่าเชื้อธนบัตร เพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ ด้วยการใช้ฆ่าเชื้อหน้ากากอนามัย N95 เพิ่มความมั่นใจในการปฏิบัติงานให้บุคลากรทางการแพทย์ โดยได้ทดลองประยุกต์กระติกเพื่อฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ต้น ที่น่าสนใจมากคือการใช้กระติกเพื่อฆ่าเชื้อธนบัตร เพราะธนบัตรหรือเงิน กว่าจะมาถึงมือเรานั้นไม่รู้ว่าผ่านอะไรมาบ้าง




ผศ.ดร.ศักดิ์ระวีเล่าว่า อุปกรณ์ที่นำมาใช้ทำกระติกฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้นหาได้ไม่ยาก เข้ากับสถานการณ์ไม่ปกติในขณะนี้ได้มาก ประกอบด้วย กระติกน้ำแข็ง, หลอดไฟ UVC เพื่อใช้ในการฆ่าเชื้อโดยเฉพาะ ชุดบัลลาสต์และสตาร์ทเตอร์ และอุปกรณ์เซ็นเซอร์ รวมถึงชุดตากหน้ากากที่ประดิษฐ์จากพวงหนีบผ้า หรือไม้แขวนเสื้อแล้วแต่สะดวก ซึ่งการประกอบก็ทำได้ง่ายๆ เพียงแค่เจาะฝากระติกเพื่อยึดอุปกรณ์ไฟฟ้า และยึดติดให้แน่นสะดวกต่อการใช้งาน






เมื่อจะใช้งานให้เสียบปลั๊กไฟตามปกติ หลอดไฟที่สว่างจะได้ฆ่าเชื้อโรค (UVC 10 วัตต์ คลื่นรังสี 256 นาโนเมตร) เหมาะสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ใช้เพื่อฆ่าเชื้อหน้ากาก N95 เนื่องจากเป็นหน้ากากเฉพาะ ทั้งวัตถุดิบ และรูปทรงมีมุม ทำความสะอาดยาก


แต่ถ้านำมาฆ่าเชื้อในกระติกใช้เวลา 3-5 นาทีก็จะฆ่าเชื้อไวรัสได้ ด้วยลักษณะการใช้งานที่ง่ายสะดวกต่อการทำความสะอาด ราคาไม่แพง บุคลากรทางการแพทย์สามารถใช้ตามวอร์ด ตามแผนก ตามตึกของตนเองได้ ผศ.ดร.ศักดิ์ระวีบอกอีกว่า ส่วนการทำความสะอาดกระติกหลังใช้งานไปแล้วก็เพียงแค่ล้าง และเช็ดแอลกอฮอล์ การทำกระติกฆ่าเชื้อดังกล่าวมีต้นทุนต่ำ ประมาณพันกว่าบาทเท่านั้น จึงมีหลายหน่วยงานนำไปประยุกต์ใช้งาน

เช่น สถานแรกรับเด็กอ่อนใช้ฆ่าเชื้อขวดนม เป็นต้น ที่น่าสนใจมากคือการใช้กระติกเพื่อฆ่าเชื้อธนบัตร เพราะธนบัตรหรือเงิน กว่าจะมาถึงมือเรานั้นไม่รู้ว่าผ่านอะไรมาบ้าง


ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดเผยผลวิจัยว่าเชื้อโควิด-19 สามารถอยู่บนธนบัตรได้นานถึง 9 วัน แต่ถ้าหากมีกระติก “ถังฆ่าเชื้อธนบัตร” เพียงแค่หนีบธนบัตร และวางเงินเหรียญใส่ตะแกรงวางลงก้นกระติก เสียบปลั๊กไฟเพื่อฆ่าเชื้อตามปกติ ทิ้งไว้ 3-5 นาที ก็จะสัมผัสได้ถึงกลิ่นสะอาดที่ธนบัตร แม้ธนบัตรจะยับมากขนาดไหน แต่ถ้าผ่านการฆ่าเชื้อจะสัมผัสได้ถึงความสะอาดทันที
“แต่มีข้อควรระวังนิดเดียวคือ เมื่อเสียบปลั๊กฆ่าเชื้อครบเวลา ก่อนเปิดฝากระติกควรนำกระติกไปวางไว้ที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทสะดวกเปิดทิ้งไว้ประมาณ 15 นาทีเพื่อระบายโอโซน ก่อนจะนำสิ่งที่ผ่านการฆ่าเชื้อมาใช้งานตามปกติ” ผศ.ดร.ศักดิ์ระวีกล่าว


ผศ.ดร.ศักดิ์ระวีกล่าวย้ำอีกว่า อยากฝากให้ทุกท่านนำหลักการและแนวคิดที่ได้นำเสนอนี้ไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันเพื่อเป็นการป้องกันตัวเองและคนรอบข้างให้ห่างจากความเสี่ยงติดเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อไวรัสโควิด-19
กำลังโหลดความคิดเห็น