xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตไวรัสปฏิวัติเทคโนโลยีสุขภาพ ชี้ตลาดนวัตกรรมฟิต&เฟิร์มรุ่งยาว

เผยแพร่:


วิกฤตโคโรนาทำให้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น
แกดเจ็ตฟิตเนสขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ขณะที่คลาสออกกำลังกายอยู่กับบ้านไม่เคยป็อปปูลาร์เท่านี้มาก่อน และบริษัทผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมใช้เวลาเพียง 18 วันในการออกแบบบ็อตฆ่าเชื้อด้วยแสงยูวี แม้แต่ไนกี้ยังใช้แอปเอ็กเซอร์ไซส์เรียกเหงื่อช่วยดันยอดขายออนไลน์ ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของแง่มุมดีๆ จากโควิด-19 ที่กระตุ้นให้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น และยังนำไปสู่ความพยายามในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อต่อสู้กับไวรัส ที่สำคัญเทรนด์นี้จะอยู่ยงคงกระพันแม้หลังโคโรนาพ่ายแพ้แล้วก็ตาม

แอนดี้ แยป นักจิตวิทยาสังคมจากวิทยาลัยธุรกิจ INSEAD บอกว่า ความกลัวโรคระบาดทำให้คนหันมาใช้แอปและเทคโนโลยีแบบสวมใส่ที่ทำให้รู้สึกมั่นใจขึ้น เช่น อุปกรณ์หรือแอปที่สามารถวัดอุณหภูมิร่างกาย ความดัน และสัญญาณสุขภาพอื่นๆ อย่างแม่นยำและรู้ผลทันที ดีมานด์นี้ส่งเสริมให้เหล่าสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการอื่นๆ เร่งรัดพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ มารองรับ

ตัวอย่างเช่น วิตติงส์ เทอร์โม เครื่องวัดอุณหภูมิแบบไม่ต้องสัมผัสที่ใช้เซ็นเซอร์ 16 ตัววัดค่ามากกว่า 4,000 รายการใน 2 วินาที ก่อนซิงก์กับแอปบนมือถือ แกดเจ็ตนี้ราคา 99.95 ดอลลาร์ แต่ต้องรอถึงกลางเดือนถึงจะซื้อได้เพราะสต็อกหมดเกลี้ยงตั้งแต่หลายสัปดาห์ก่อน

ทางด้านครูเชียลเทคของเกาหลีใต้ เล่าว่า ปีที่แล้วบริษัทยังต้องแจก Temon เครื่องวัดอุณหภูมิขนาดเล็กที่อยู่ในรูป USB เพื่อเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนให้ลูกค้าฟรี เนื่องจากหาตลาดลงไม่ได้ แต่หลังจากไวรัสโคโรนาระบาด กลับมีออร์เดอร์หลั่งไหลเข้ามาจากทั้งรัฐบาลท้องถิ่นในจีน ผู้ค้าปลีกในญี่ปุ่น และผู้ค้าส่งของอเมริกา รวมแล้วกว่า 500,000 เครื่องสำหรับการจัดส่งภายในครึ่งแรกของปีนี้

เจย์ ยิม ประธานครูเชียลเทคแย้มว่า ช่วงปลายปีน่าจะมีบริษัทสมาร์ทโฟนจีน 1-2 แห่งเปิดตัวอุปกรณ์ต้นแบบที่ติดตั้งเทคโนโลยีนี้ในตัว

ขณะที่ยูไอบ็อต โรโบติกส์ เทคโนโลยีส์ใช้เวลาเพียง 18 วันในการออกแบบและผลิตหุ่นยนต์ที่สูงเท่ากับคนและสามารถฆ่าเชื้อห้องและพื้นที่ต่างๆ ด้วยแสงอัลตราไวโอเล็ต รวมถึงวัดอุณหภูมิร่างกายคนที่เดินผ่านไปมา

สตาร์ทอัพในเซินเจิ้นแห่งนี้ที่เคยร่วมมือกับมิชลินเกี่ยวกับหุ่นยนต์ตรวจสอบยางรถยนต์ในปี 2017 คาดว่า จะขายหุ่นยนต์รุ่นใหม่ได้กว่า 200 ตัวในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ที่โลกกำลังขับเคี่ยวกับโควิด-19 หรือสองเท่าของยอดขายตลอดปีที่ผ่านมา

สตาร์ทอัพขนาดเล็กของจีนอีกแห่งคือเมกะเฮลธ์ อินฟอร์เมชัน เทคโนโลยีจากหางโจว เผยว่า ยอดขายแหวนเมกะเฮลธ์ริงที่สามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจและระดับออกซิเจนในเลือดทะยานขึ้น 5 เท่าในช่วง 2 เดือนล่าสุด เทียบกับไตรมาสสุดท้ายปี 2019 จากเดิมที่บริษัทพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาในการหายใจเท่านั้น แต่วันนี้ไวรัสโคโรนาทำให้เมกะเฮลธ์ริงถูกนำไปใช้ในโรงพยาบาลราว 100 แห่งในจีน และจะส่งออกไปยังอเมริกาและยุโรปในช่วงครึ่งปีหลัง นอกจากนั้นหลังจากเพิ่มกำลังผลิตเพียงพอ บริษัทจะเริ่มขายตรงให้ผู้บริโภคด้วย

เฉิงตู มิวสิก อินฟอร์เมชัน เทคโนโลยี ผู้ให้บริการแอปและแกดเจ็ตฟิตเนสภายใต้ชื่อการค้า “โคดูน” เผยว่า จำนวนผู้ใช้ที่ออกกำลังกายที่บ้านเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า และเพื่อขานรับความต้องการของผู้บริโภคและรัฐบาล บริษัทได้เพิ่มฟังก์ชันวัดอุณหภูมิด้วยระบบ AI ในนาฬิกาฟิตเนสด้วย

แม้แต่ไนกี้ยังปรับกลยุทธ์รับภาวะที่ร้านสาขาทั่วโลกต้องปิดชั่วคราวในช่วงวิกฤตโควิด เปิดตัวแอปออกกำลังกาย “ไนกี้ เทรนนิ่ง คลับ” เวอร์ชันพรีเมียมให้ใช้ฟรีในอเมริกาและล่าสุดขยายไปยังจีนพร้อมแคมเปญโฆษณา “Play Inside and Play for the World” เพื่อสนับสนุนให้ผู้บริโภครักษาความฟิตทั้งร่างกายและจิตใจระหว่างเก็บตัวอยู่บ้านเพื่อหยุดการระบาด ซึ่งผลปรากฎว่า ยอดสมาชิกแอปนี้พุ่งขึ้นกว่า 100% ในอเมริกา และ 80% ในจีน และพลอยทำให้ยอดขายผลิตภัณฑ์ไนกี้ออนไลน์ได้อานิสงส์ไปด้วย

บรูกู ปันกี กรรมการผู้จัดการ AArete บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก คาดว่า การที่ผู้คนไม่แน่ใจเกี่ยวกับการติดเชื้อโควิด-19 และการรักษา ทำให้ดีมานด์ที่มีต่อนวัตกรรมเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้นและสร้างปรากฏการณ์โดมิโนที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่จะมีผลคงอยู่ยาวนาน

กล่าวคือผู้ใช้ บริษัทประกันภัย และผู้ให้บริการสุขอนามัยจะเริ่มพูดถึงอุปกรณ์และแอปติดตามความฟิตของร่างกายจริงจังขึ้นในรูปเครื่องมือป้องกันและดูแลรักษาสุขภาพของผู้ป่วย อันจะนำไปสู่การร่วมมืออย่างกระตือรือร้นระหว่างผู้ผลิตอุปกรณ์และสถาบันสุขอนามัย

นอกจากฮาร์ดแวร์แล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและสตาร์ทอัพกำลังหาวิธีนำข้อมูลสุขภาพมาช่วยเหลือผู้บริโภค ตัวอย่างเช่น จอห์น ทอรัส นักวิจัยของเบธ อิสราเอล ดีคอนเนส เมดิคัล เซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลของคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดของอเมริกา กำลังรวมข้อมูลจากแอปเปิลวอตช์และกูเกิลฟิตลงในแพล็ตฟอร์มเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถปรึกษาหมอผ่านระบบออนไลน์พร้อมแชร์ตัวชี้วัดสุขภาพที่วัดค่าได้

หรือหัวหมี่ ผู้ผลิตสายรัดอัจฉริยะเช็คความฟิตของร่างกายยอดนิยมของเสียวหมี่ ที่ตรวจสอบข้อมูลการนอนหลับของผู้ใช้ 115,000 คนในอู่ฮั่นและมณฑลอันฮุยที่อยู่ใกล้กัน ย้อนกลับไปตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2017 ถึงกุมภาพันธ์ 2020 และพบการเบี่ยงเบนของอัตราการเต้นของหัวใจขณะหลับสูงสุดในวันที่ 21 มกราคม หรือเร็วกว่าปีก่อนๆ หลายสัปดาห์

การเบี่ยงเบนเหล่านี้ยังปรากฏให้เห็นในหลายเมืองของจีน ซึ่งรวมถึงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และหางโจว ขณะที่ไวรัสโคโรนาเริ่มบุกเข้าถึงเมืองเหล่านั้น

ปัจจุบัน หัวหมี่กำลังพัฒนาสัญญาณเตือนล่วงหน้าเพื่อให้ผู้ใช้เตรียมพร้อมรับมือการระบาดใหญ่ครั้งต่อไปที่อาจเกิดขึ้น

ซู ยองกู คณบดีคณะธุรกิจของมหาวิทยาลัยสตรีซุกมยองในเกาหลีใต้ เชื่อว่า ความนิยมในแกดเจ็ตสุขภาพและข้อมูลจากอุปกรณ์เหล่านี้มีแนวโน้มทำให้เกิดการปฏิวัติเทคโนโลยีซึ่งจะส่งผลยาวนานแม้เมื่อโรคระบาดจบลงแล้วก็ตาม โดยการทำให้การดูแลสุขอนามัยออฟไลน์เปลี่ยนเป็นคอร์สเทรนนิ่งออนไลน์หรือการดูแลสุขภาพทางไกล เนื่องจากผู้คนตระหนักถึงคุณค่าของครอบครัวมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น