xs
xsm
sm
md
lg

“ธสน.” เล็งหั่นเป้าสินเชื่อปี 63 คาดโตต่ำกว่า 7-8% เหตุไวรัสโควิด-สงครามการค้าฉุดส่งออกติดลบหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ธสน. เตรียมทบทวนเป้าสินเชื่อปี 63 โดยคาดจะโตได้ไม่ถึง 7-8% หลังประเมินแนวโน้มส่งออกอาจจะติดลบหนักจากผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ปัญหาภัยแล้ง และสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน คาดหนี้เสียปี 63 จะเร่งตัวขึ้นอีก หลังเริ่มเห็นสัญญาณการทยอยปรับตัวเพิ่มตั้งแต่ปี 61 และต่อเนื่องจนถึงปี 62 ซึ่งสัดส่วนหนี้เสียขยับขึ้นมาอยู่ที่ 4.6% ย้ำปีนี้เน้นช่วยเสริมสภาพคล่องให้ลูกหนี้มากกว่าเน้นการปล่อยสินเชื่อ หวังช่วยประคับประคองให้ลูกค้าสามารถทำธุรกิจต่อไปได้ ส่วนผลดำเนินงานในปี 62 มีกำไรสุทธิ 507 ล้านบาท ขณะที่มียอดสินเชื่อคงค้างสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.21 แสนล้านบาท

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) กล่าวถึงแผนการดำเนินงานและทิศทางเศรษฐกิจของธนาคารฯ ในปี 63 ว่า ปัจจุบัน ธสน. อยู่ระหว่างการปรับแผนการดำเนินธุรกิจซึ่งจากเดิมเคยตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 7-8% โดยจะเน้นเรื่องการให้ความช่วยเหลือด้านงบกระแสเงินสด (Cash Flow) ให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนมากกว่าที่จะเน้นเรื่องการเติบโตของสินเชื่อ

ทั้งนี้ ธสน. ได้วางแผนสำรองในการช่วยเหลือลูกค้าของธนาคารฯ ในการทำธุรกิจ เนื่องจากได้เห็นถึงสัญญาณการทำธุรกิจของลูกค้าที่เริ่มสะดุดมาตั้งแต่ปี 62 จึงออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มียอดขายลดลง 15% สามารถขอสินเชื่อเสริมสภาพคล่องและยืดอายุหนี้ 6 เดือน โดยลูกค้าที่มีปัญหาสามารถขอคำแนะนำจาก AO ซึ่งจะพิจารณาเป็นรายกรณี

ในขณะเดียวกัน ธสน. ยังได้เคยประเมินถึงแนวโน้มการส่งออกของปี 63 ว่าจะติดลบ 2-0% โดยในกรณีที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ภาคการส่งออกจะเติบโตที่ 0% แต่ในกรณีสถานการณ์เศรษฐกิจเลวร้ายลงแล้ว ภาคการส่งออกจะขยายตัวติดลบ 2-3% ซึ่งจะส่งผลให้ปี 63 เป็นปีที่ท้าทายสำหรับการปล่อยสินเชื่อใหม่ อีกทั้งจากปัจจัยความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้ธนาคารฯ ได้เห็นถึงสัญญาณของการทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) นับตั้งแต่ปี 61 และต่อเนื่องมาถึงปี 62 โดยอยู่ที่ระดับ 4.6% หรือคิดเป็นสินเชื่อด้อยคุณภาพจำนวน 5,606 ล้านบาท และคาดว่าในปี 63 แนวโน้ม NPLs จะยังคงเร่งตัวได้อีก ซึ่ง ธสน. ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อดูแลลูกค้าที่มีปัญหาดังกล่าวแล้ว

สำหรับสาเหตุของการปรับแผนการดำเนินธุรกิจของ ธสน. ในครั้งนี้ เป็นผลมาจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีปัจจัยความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ปัญหาภัยแล้งในประเทศ และปัญหาสงครามการค้าที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง อย่างไรก็ตาม นายพิศิษฐ์ ได้ย้ำว่า ธสน. อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ถึงความรุนแรงของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากเดิมเคยคาดว่าการแพร่ระบาดจะส่งผลกระทบในระยะสั้น แต่ปัจจุบันกลับขยายวงกว้างขึ้น ทำให้เป็นปัจจัยความเสี่ยงช่วงสั้นที่มีความรุนแรง

นอกจากนี้ กรรมการผู้จัดการ ธสน. ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงผลการดำเนินงานในปี 62 ว่า ธนาคารฯ มีสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นสูงสุดตั้งแต่ดำเนินธุรกิจที่ 121,868 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นมูลค่าสินเชื่อคงค้างที่เพิ่มขึ้น 13,279 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นราว 12.23% เมื่อเทียบกับปี 61 โดยแบ่งเป็นการให้สินเชื่อเพื่อการค้า 38,900 ล้านบาท และการให้สินเชื่อเพื่อการลงทุนอีก 82,968 ล้านบาท ซึ่งทำให้เกิดปริมาณธุรกิจราว 197,106 ล้านบาท โดยจำนวนนี้จะเป็นปริมาณธุรกิจของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวม 106,749 ล้านบาท หรือคิดเป็น 54.16% และสินเชื่อคงค้าง SMEs ราว 43,123 ล้านบาท

ส่วนกำไรสุทธิของ ธสน. เมื่อสิ้นปี 62 นั้นจะมีทั้งสิ้น 507 ล้านบาท ขณะที่เงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญนั้นจะมีทั้งสิ้น 11,171 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1,787 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยเป็นสำรองหนี้พึงกันตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวม 7,804 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราส่วนเงินสำรองที่กันไว้แล้วต่อสำรองพึงกัน 143.15% สำหรับผลดำเนินงานด้านการประกันการส่งออกและการลงทุนในปี 62 นั้น นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า มีปริมาณธุรกิจสะสมอยู่ที่ 121,372 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28,924 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปี 61 โดยจะเป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs รวมทั้งสิ้น 22,592 ล้านบาท หรือ 18.61% ของปริมาณธุรกิจสะสม

ด้านการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังต่างประเทศนั้น ธสน. ได้กำหนดวงเงินที่ให้การสนับสนุนแก่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศในปี 62 รวม 92,367 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อคงค้าง 47,454 ล้านบาท รวมทั้งยังสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศ CLMV โดยผู้ประกอบการไทยมีสินเชื่อคงค้าง 30,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,333 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปี 61
กำลังโหลดความคิดเห็น