xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดอีอีซีเคาะผุดโรงไฟฟ้าเพื่อกำจัดขยะในพื้นที่อีอีซี คาด 1-2 เดือนได้ข้อสรุป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



บอร์ดอีอีซีเห็นชอบแผนกำจัดขยะในพื้นที่อีอีซีเพื่อป้องกันปัญหาขยะล้นเมือง ผุดโรงกำจัดขยะ พร้อมแปลงเป็นไฟฟ้าเพิ่มเติมอีก 6 แห่ง มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมจัดทำแผนให้เสร็จภายใน 1-2 เดือน ตั้งเป้าผลิตไฟจากเชื้อเพลิงขยะได้ 120 เมกะวัตต์

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ด EEC ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันนี้ (6 ธ.ค.) ว่า ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบกรอบแนวทางต้นแบบการกำจัดขยะในพื้นที่อีอีซีครอบคลุม จ.ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ที่ปัจจุบันมีโรงกำจัดขยะอยู่แล้วของกลุ่ม ปตท.ในพื้นที่ จ.ระยอง ที่สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าได้ โดยมีเป้าหมายเพิ่มอีกจำนวน 6 แห่ง และตั้งศูนย์กำจัดขยะแปลงเป็นไฟฟ้าต้นแบบ 1 แห่ง เนื่องจากพบว่าปริมาณขยะในพื้นที่อีอีซีมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยประเมินว่าในปี 2580 คาดว่าจะมีขยะถึง 6,800 ตันต่อวัน แต่ขณะนี้การบริหารจัดการ 60% ใช้วิธีฝังกลบ


“ขยะยังขาดการบริหารจัดการทำให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกวัน และส่วนใหญ่ 60% ยังใช้การฝังกลบแบบเดิม ดังนั้น จึงต้องหาพื้นที่เพิ่มเพื่อรองรับปริมาณขยะที่สูงขึ้นถึง 1.66 ไร่ต่อวัน โดยที่ประชุมฯ ให้ สกพอ.ประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงพลังงาน และกระทรวงมหาดไทยร่วมกันจัดทำแผนเสร็จภายใน 1-2 เดือน เพื่อนำไปสู่การหาพื้นที่สร้างโรงงานกำจัดขยะอย่างเป็นระบบ และจะเปิดให้เอกชนประมูลดำเนินการโดยตั้งเป้าจะกำจัดขยะมูลฝอยทั้งรายวันและขยะสะสมรวม 6,000 ตันต่อวัน สามารถผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะได้ประมาณ 120 เมกะวัตต์ หรือจะกำจัดขยะสะสมได้กว่า 5.57 ล้านตันในพื้นที่อีอีซี ให้หมดภายใน 12 ปี” นายคณิศกล่าว


นอกจากนี้ บอร์ดฯ ยังเห็นชอบโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดังนี้ แผนการส่งมอบพื้นที่ รื้อย้ายสาธารณูปโภค และกรอบวงเงินที่จำเป็น ให้หน่วยงานที่ขอรับจัดสรรงบประมาณในการรื้อย้ายเป็นผู้ดำเนินการเพื่อเริ่มการก่อสร้าง ส่วนแผนการก่อสร้างทดแทนกลับคืนหลังรื้อย้าย ที่ประชุม กพอ.ให้ กบอ. มอบหมายคณะทำงานส่งมอบพื้นที่ และทำรายละเอียดให้เสร็จภายใน ม.ค. 63 และให้แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับ 2 ชุด ที่จะต้องกำกับสัญญาเพื่อดูแลสัญญาต่างๆ หรือการแก้ไขสัญญา และกรรมการกำกับบริหารโครงการ โดยให้ สกพอ.ส่งตัวแทนเพื่อบริหารโครงการ


ขณะเดียวกันยังเห็นชอบแผนพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ EEC โดยใช้ 2 รูปแบบ คือ ให้เอกชนร่วมจ่าย 100% และเปิดให้เอกชนมีส่วนร่วม 10-50% เพื่อผลิตบุคลากรรองรับความต้องการกำลังคนใน 10 อุตสาหกรรม จำนวน 475,793 คน และแผนการยกระดับบริการสาธารณสุขในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยมีหลักการ 3 ด้าน 14 โครงการ ได้แก่ 1.) จัดทำข้อมูลชุดเดียวกัน สำหรับพัฒนาระบบข้อมูลให้ครอบคลุมในพื้นที่ 2.) รัฐและเอกชนร่วมทุน โดยเป็นการลงทุนระหว่างกระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และภาคเอกชนในพื้นที่ โดยจัดทำการบริการในโรงพยาบาลให้คล่องตัว เพื่อความสะดวกของประชาชน 3.) เครือข่ายเดียว ระบบเดียว บริการรัฐแนวใหม่อาศัยการทำงานบนความร่วมมือของเครือข่ายภาครัฐสังกัดต่างๆ อปท. และเอกชน โดยใช้ทรัพยากรบุคคล และทรัพยากรอื่นร่วมกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น