xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคดิ่งต่ำสุดในรอบ 67 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ความกังวลเศรษฐกิจและการเมือง ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดในรอบ 67 เดือน ม.หอการค้าไทย ระบุเศรษฐกิจปีหน้าจะปรับตัวดีขึ้น คาดขยายตัวร้อยละ 3.1 แนะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 6-9 บาท หวั่นขึ้นมากเป็นแรงกดดันชะลอจ้างงานกระทบบัณฑิตใหม่

นายปรีดา โพธิ์ทอง รองผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤศจิกายน 2562 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 69.1 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 67 เดือน นับตั้งแต่ปี 2559 ด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปัจจุบันปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 จากระดับ 46.5 ในเดือนตุลาคม 2562 มาอยู่ในระดับ 45.2 ในเดือนพฤศจิกายน 2562 ต่ำสุดในรอบ 218 เดือน หรือ 18 ปี 2 เดือน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2544

แม้ว่ารัฐบาลเริ่มมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมามากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองทั้งปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้ ยังกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวช้าและกำลังซื้อของประชาชนยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนัก ประกอบกับสถานการณ์ไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และปัญหา Brexit รวมถึงการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง ส่งผลกระทบเชิงลบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว

นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวลงต่อเนื่อง สะท้อนความไม่ไว้ใจเศรษฐกิจ ซึ่งจากการประชุมหอการค้าทั่วประเทศ พบว่า เอกชนส่วนใหญ่สะท้อนออกมาว่า ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ระดับเงินเฟ้อยังต่ำ สัญญาณจ้างงานเพิ่มขึ้นไม่มาก สะท้อนกำลังซื้อผู้บริโภคไม่โดดเด่น ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. จึงได้เสนอให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายธนวรรธน์ คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 จะปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.1 เป็นการเติบโตในช่วงร้อยละ 2.7-3.6 ค่ากลาง 3.1 ด้านการส่งออกจะกลับมาโตเป็นบวกร้อยละ 1.8 โดยยังมองว่า ไม่มีข่าวเชิงลบในเรื่องสงครามการค้า โดยฝ่ายจีนระบุว่า อยากให้สหรัฐฯ ลดภาษีนำเข้า ขณะที่สหรัฐฯ อยากให้จีนเปิดตลาดสินค้าเกษตร ดังนั้น วันที่ 15 ธันวาคมนี้ เชื่อว่าสหรัฐฯ ไม่น่าจะมีการขึ้นภาษีนำเข้าอีกระลอก ด้านญี่ปุ่นอัดฉีดเศรษฐกิจวงเงิน 3.1 ล้านล้านเยน หลายประเทศเริ่มใช้นโยบายการคลังเพิ่มเติม ซึ่งประเทศไทยก็ใช้นโยบายการเงินเข้ามาเสริม ขณะที่นักวิเคราะห์หลายคนคาดการณ์เศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ฟื้นปลายไตรมาสแรกปีหน้า ด้านรัฐบาลสามารถผ่านงบประมาณได้ คาดว่าจะเริ่มใช้จ่ายงบประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2563 พร้อมมีการเร่งเบิกจ่ายงบประจำ งบลงทุน ซึ่งน่าจะเป็นเครื่องจักรสำคัญ ทำให้เศรษกิจมีบรรยากาศที่คลี่คลายลง

ส่วนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำจากที่อยู่ในระดับเฉลี่ยวันละ 330 บาทนั้น หากพิจารณาเงินเฟ้อของไทยที่อยู่ในระดับร้อยละ 1 เศษ ดังนั้น การจะปรับค่าแรงขั้นต่ำร้อยละ 6-15 เป็นกรอบที่ดำเนินการได้ เพราะสอดคล้องต่อเงินเฟ้อ แต่ต้องพิจารณาตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคี และที่สำคัญต้องรับฟังความเห็นของภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม การปรับค่าจ้างขั้นต่ำควรปรับเพิ่ม 6-9 บาท ไม่ควรปรับเพิ่มวันละ 10 บาท เพราะระดับต่ำกว่า 10 บาท น่าเป็นระดับที่ภาคเอกชนพร้อมจ่ายมากขึ้น และสามารถประคองการจ้างงานเอาไว้ได้

และน่าเป็นผลบวกมากกว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 10-15 บาท และหากมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นไประดับ 10 บาทขึ้นไป จะทำให้ค่าแรงขั้นต่ำจะเพิ่มเป็นวันละ 340-345 บาท ทำให้ฐานเงินเดือนลูกจ้างในภาพรวมจะต้องถูกปรับขึ้นตามไปด้วย และเป็นแรงกดดันให้มีการชะลอการจ้างงาน กระทบบัณฑิตใหม่ได้รับการจ้างงานลดลง อีกทั้งเป็นปัจจัยเร่งให้ภาคเอกชนนำเครื่องจักรเข้ามาใช้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้ภาคเหนือมีประชากรผู้สูงอายุสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 20 แล้ว ภาคเอกชนเริ่มนำเครื่องจักรเข้ามาแทนแรงงานคนมากขึ้นแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น